สตง.ลุยสอบไส้ในถลุงงบข้าวปลอดภัยพะเยา317 ล.-ควัก 2 แสน จ้างทำเพจ10 อัน ใช้ได้แค่ 6
เปิดไส้ในผลสอบถลุงงบโครงการผลิตข้าวปลอดภัยพะเยา 317 ล. สตง.พบข้อมูลจัดซื้อจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบ 4 สัญญา 19 ล้าน ควักเงิน 2 แสน จ้างทำเว็บเพจ ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 10 อัน แต่ใช้งานจริงได้แค่ 6 กำหนดค่าก่อสร้างอาคารศูนย์จำหน่ายแสดงสินค้าสูงกว่าราคามาตรฐาน-ลุยสอบข้อมูลเชิงลึกต่อ
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง.ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบโครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย จังหวัดพะเยา ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวนมากที่สุด 317.62 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณที่โครงการนี้ ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 848.57 ล้านบาท ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หน่วยงานที่กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วนหลังพบหน่วยงานผู้รับผิดชอบกิจกรรมไม่มีการบูรณาการร่วมกัน มีทรัพย์สินไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ขณะที่การดำเนินกิจกรรมไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และหนังสือสั่งการ ที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยสาเหตุของปัญหาเกิดจาก หน่วยงานที่รับผิดชอบมุ่งเน้นการปฏิบัติงานให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ให้ความสำคัญกับการประสานงานกับหน่วยงานอื่นภายในจังหวัดพะเยาและจังหวัดอื่นในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ไม่พิจารณาถึงความเหมาะสมของครุภัณฑ์ที่สนับสนุนกับศักยภาพของกลุ่มที่ได้รับ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐไม่คุ้มค่า ตลอดจนขาดการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ สิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสจากกรณีทรัพย์สินไม่มีการ ใช้ประโยชน์ และทรัพย์สินของรัฐที่ยังไม่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ประมาณ 175.77 ล้านบาท ซึ่งทำให้การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่สามารถพัฒนาอาชีพ ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง (อ่านประกอบ : สตง.รุดสอบโครงการผลิตข้าวปลอดภัยพะเยาใช้จ่ายงบไร้ประสิทธิภาพ เกิดมูลค่าเสียโอกาส175 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบโครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย จังหวัดพะเยา ดังกล่าว ของ สตง. พบว่า มีการระบุข้อมูลผลการสุ่มตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา จำนวน 6 สัญญา มูลค่างานตามสัญญา 57,673,787.97 บาท เกิดปัญหาคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง ตรวจรับงานจ้างไม่ครบถ้วน ถูกต้อง ตามข้อกำหนดในสัญญาจ้าง และปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่กำหนด 4 สัญญา มูลค่าตามสัญญา 19,043,787.97 บาท แยกเป็น
1. เบิกจ่ายเงินตามสัญญาจ้างเลขที่ 31/2560 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เป็นค่าจ้างเหมาออกแบบจัดทำเว็บเพจให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน เป็นจำนวนเงิน 200,000.00 บาท จากการตรวจสอบเอกสารส่งมอบงานจ้างของผู้รับจ้าง พบว่า ผู้รับจ้างจัดทำเว็บเพจในรูปแบบของสื่อสังคมออนไลน์ (Social network) "Facebook" 10 เว็บเพจ แต่จากการตรวจสอบพบว่า สามารถเข้าใช้งานได้ 6 เว็บเพจ
2. เบิกจ่ายเงินตามสัญญาจ้างเลขที่ 20/2560 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นค่าก่อสร้างอาคารศูนย์จำหน่ายและแสดงสินค้า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา จำนวนเงิน 3,808,787.97 บาท ซึ่งกำหนดราคากลางครุภัณฑ์สูงกว่าราคามาตรฐานที่สำนักงบประมาณกำหนด เป็นจำนวนเงิน 3,120.00 บาท กำหนดรายละเอียดปริมาณงานและค่างาน (ปร.4) เกินกว่าแบบรูปรายละเอียดตามสัญญา เป็นจำนวนเงิน 10,138.40 บาท ทั้งนี้ในระหว่างการตรวจสอบสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาได้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐแล้ว เป็นจำนวนเงิน 13,258.40 บาท นอกจากนี้ยังพบว่าดำเนินการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดตามสัญญา และข้อกำหนดสัญญาจ้าง ได้แก่ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และการติดตั้งราวจับทางลาด คนพิการ
3. เบิกจ่ายเงินตามสัญญาจ้างเลขที่ 30/2560 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เป็นค่าจ้างเหมาการสำรวจและจัดทำข้อมูลผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนจังหวัดพะเยา เป็นจำนวนเงิน 495,000.00 บาท สัญญาจ้างกำหนดให้ผู้รับจ้างส่งมอบรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ 200 เล่ม และแผ่น CD ข้อมูล 90 แผ่น จากการตรวจสอบสังเกตการณ์พบว่า มีรายงานวิจัย 1 เล่ม (ฉบับที่คณะกรรมการลงลายมือชื่อตรวจรับ) สำหรับแผ่น C) ข้อมูล ไม่มีให้ตรวจสอบ และการจัดทำสัญญาจ้าง ไม่เป็นไปตามระยะเวลาตามขอบเขตของงานจ้าง กล่าวคือ สัญญาจ้างลงวันที่ 22 สิงหาคม2560 และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้าง วันที่ 31 สิงหาคม 2560 รวมระยะเวลาการทำงานของผู้รับจ้างนับแต่วันลงนาม เป็นจำนวน 10 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการกำหนดเวลาแล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องเริ่มทำงานภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 และทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 และตามขอบเขตของงาน (TOR : Terms of Reference) อันเป็นเอกสารส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง ระบุระยะเวลาการดำเนินงานของผู้รับจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2560 รวมระยะเวลาการทำงานจำนวน 31 วัน
4. เบิกจ่ายเงินตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 24/2560 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นค่าพัสดุครุภัณฑ์ 6 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 14,540,000.00 บาท ผลการตรวจสอบพบว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาจัดทำสัญญาโดยกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) ในเรื่องการจดทะเบียนรถและส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ กำหนดให้รถบรรทุก 25 ตัน 1 คัน และรถพ่วงลากจูง 3คัน กำหนดให้มีการจดทะเบียนรถ และส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถ โดยรถอีก 2 รายการ มิได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ ได้แก่ รถแทรกเตอร์ 6 คัน และรถเกี่ยวนวดข้าว 3 คัน ซึ่งวันที่ ส่งมอบรถผู้ขายมิได้ดำเนินการจดทะเบียนรถและส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถทั้ง 4 รายการ จำนวนทั้งสิ้น 13 คัน ให้แก่สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา การดำเนินงานดังกล่าวข้างตันคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับและรับรองว่า ผู้ขายส่งมอบพัสดุถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา โดยผู้ขายส่งมอบงานไม่ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน กำหนดเรื่องการจดทะเบียนรถและการส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาจก่อให้เกิดความเสียหายจากการจัดซื้อรถของราชการแต่ไม่ได้รับการจดทะเบียนตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า ผลการตรวจสอบสัญญาจ้างทั้ง 3 สัญญา คือ จ้างเหมาออกแบบจัดทำเว็บเพจให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ก่อสร้างอาคารศูนย์จำหน่ายและแสดงสินค้า และงานจ้างเหมาการสำรวจและจัดทำข้อมูลผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนจังหวัดพะเยา นั้น คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานจ้างและรับรองผลงานว่าผู้รับจ้างทำงานถูกต้องครบถ้วน ตามสัญญา ทั้งที่ ผู้รับจ้างส่งมอบงานไม่ถูกต้องครบถ้วน ตามข้อกำหนดในสัญญาจ้าง สตง.ภาค 9 จังหวัดลำปาง ได้แยกตรวจสอบในเชิงลึก และจะแจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/