ปลัดพม.รับสภาพครอบครัวไทยซับซ้อน มาตรการหนุนปั๊มลูกเพิ่มขึ้น ทำได้ยาก
ปลัดพม.รับสภาพครอบครัวไทยหลากหลาย ซับซ้อน พบปัญหาอื้อ ทั้งยากจน มีหนี้สิน ติดอบายมุข ชี้มาตรการหนุนปั๊มลูกเพิ่มขึ้น จึงทำได้ยาก แม้ภาครัฐพยายามส่งเสริม ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตร หักลดหย่อนภาษี เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดก็แล้ว อัตราการเกิดยังคงลดกว่าที่คาดการณ์ไว้
วันที่ 31 พฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) จัดสัมมนาประจำปี เรื่อง "ครอบครัวไทยยุคเกิดน้อยอายุยืน:ทางเลือกและข้อท้าทาย" ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกสว. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสศช. และนางสาวมาเซล่า ซูอาโซ ผอ.UNFPA กล่าวเปิดงาน
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งถึงนโยบายครอบครัว ณ ปัจจุบันว่า จากสถานการณ์ด้านประชากร และครอบครัวไทยที่เปลี่ยนไปจากอดีตมาก โดยมีข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2561 พบว่า ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน มีจำนวนครัวเรือน 23 ล้านครัวเรือน ส่วนอัตราการเกิดของประชากรไทย ลดลงกว่าที่ประมาณการณ์เหลือ 6.6 แสนคนต่อปี
"ยุคที่มีการควบคุมประชากร อัตราการเกิดอยู่ที่ 1 ล้านคนต่อปี หรือ ทุก 1 นาทีมีอัตราการเกิด 3 คน" ปลัดกระทรวงพม. กล่าว และว่า สัดส่วนประชากรสูงวัย มีอัตราเพิ่มขึ้น การจดทะเบียนสมรส มีแนวโน้มลดลง เหลือประมาณ 3 แสนคู่ อัตราการหย่าร้าง 1.2 แสนคู่
ส่วนความหลากหลายของครัวเรือนไทย ปลัดกระทรวงพม. กล่าวว่า 50% เป็นครอบครัวเดี่ยว รองลงมา 15% เป็นครอบครัวที่มีสามีและภริยา 30% ครอบครัวที่มีสามี ภริยา และลูก ส่วนที่เหลือเป็นครอครัวสามีหรือภริยาเท่านั้น (single parent) ครอบครัวขยายที่มีหลายเจนเนอเรชั่น โดยมีภาระดูแลผู้สูงอายุ ครอบครัวที่มีอยู่คนเดียว อยู่กับคนที่ไม่ใช่ญาติ นี่คือสภาพปัจจุบันที่สถานะทางครัวเรือนมีความหลากหลายขึ้น
สำหรับปัญหาของครัวเรือนไทยที่พบ มีทั้งเรื่องความยากจน หนี้สิน มีรายได้น้อย อบายมุข ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในเรื่องการดูแลกันเอง ทำให้ครอบครัวไทยไม่เข้มแข็ง รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และความรุนแรงในครอบครัวด้วย
ดร.ปรเมธี กล่าวด้วยว่า สภาพครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความซับซ้อน ทำให้นโยบายการสนับสนุนให้มีลูกเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องยาก ในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มาตรการภาครัฐพยายามส่งเสริม และลดต้นทุนการมีบุตร การช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย การเลี้ยงดูบุตร หักลดหย่อนบุตรคนที่สอง ลดภาษีสำหรับการฝากครรภ์ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด รวมทั้งผู้หญิงที่อยู่ในวัยแรงงาน กฎหมายคุ้มครองสวัสดิการแรงงานฉบับใหม่ก็ได้เพิ่มวันลาหยุด ทั้งก่อนและหลังคลอด เป็น 98 วัน รวมวันลาฝากครรภ์ และสนับสนุนสามีสามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย