ภาคประชาสังคม เสนอร่าง กม. สารเคมี ปรับ ม.7 สัดส่วน กก.ทรงคุณวุฒิเหลือ 10 คน
16 องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ อย. เเสดงความเห็นเพิ่ม ร่าง พ.ร.บ.สารเคมี พ.ศ. ... ยึดหลัก 4 ข้อ ป้องกันไว้ก่อน มีส่วนร่วม เปิดเผยข้อมูล เพิ่มขอบเขตรับผิดชอบของผู้ผลิต พร้อมเสนอลดสัดส่วนกก.ทรงคุณวุฒิ เหลือ 10 คน
วันที่ 31 พ.ค. 2562 องค์กรภาคีเครือข่ายสนับสนุนความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สารเคมี พ.ศ. ... 16 องค์กร ประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิสุขภาพไทย สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สมาคมอาหารธรรมชาติยั่งยืนนครศรีธรรมราช เครือข่ายอาหารเพื่อเพื่อน ธนาคารอาหาร ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ และสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านนพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. ณ อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ภาคีเครือข่ายเสนอในเชิงหลักการเพื่อให้ ร่างพ.ร.บ.สารเคมี พ.ศ. ...มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ใน 4 หลักการ คือ
1. หลักการปลอดภัยไว้ก่อน (Precautionary Principle) ซึ่งทั่วโลกยึดถือว่า เมื่อจะอนุญาตสารเคมี ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต่าง ๆ หากพบมีความเสี่ยงจะต้องหยุดความเสี่ยงนั้นไว้ ดังนั้น ต้องตรวจก่อนว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือไม่ เนื่องจากสารเคมีหลายชนิด ประเทศผู้ผลิตเลิกใช้แล้ว แต่กลับมาจำหน่ายในประเทศกำลังพัฒนา
2.หลักการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและการปลอดจากการมีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งในร่างกฎหมายยังไม่ปรากฎการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ภาคประชาชนจึงเสนอเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการในทุกระดับ คือ คณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งต้องมีภาคส่วนประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ล้วนเป็นตัวหลักในการจัดการสารเคมีในระดับพื้นที่
3.หลักการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส โดยกระบวนการที่ผ่านมามีปัญหาความโปร่งใสในการพิจารณาตัดสินใจ จึงเสนอหลักการเปิดเผยข้อมูลวิชาการ หรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจต้องเปิดเผยสู่สาธารณะและให้สาธารณะมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการตัดสินใจ
4.หลักการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต แม้จะมีในร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่อยากให้เน้นเกิดความเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ด้าน น.ส. ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์ในอดีตจะพบปัญหา คือ สวิสเซอร์แลนด์ เป็นบริษัทแม่ผลิตพาราควอต แต่ได้ยกเลิกใช้ในประเทศมากว่า 30 ปี ดังนั้น หากใช้หลักการความปลอดภัยไว้ก่อน พาราควอตจะเข้ามาในไทยไม่ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามสนับสนุนยกเลิกการนำเข้าและใช้แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางรายที่มีความใกล้ชิดกับบริษัทผู้ค้าสารเคมี จึงคาดหวังว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะมาแก้ไขปัญหานี้ได้
ส่วนการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ผู้ประสานงาน Thai-PAN ระบุพบว่า ในต่างประเทศกว่าจะขึ้นทะเบียนสารเคมีแต่ละชนิด จะมีการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่บริษัทยื่นขอขึ้นทะเบียน มีการประกาศผ่านเว็บไซต์ หรือส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ แม้แต่เมียนมามีการประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีการขึ้นทะเบียนสารเคมี แต่ของไทยกว่าจะทราบ ปรากฎว่าขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่า ไทยยังล้าหลังมาก จึงเรียกร้องให้ปรับปรุงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอที่สำคัญของภาคีเครือข่าย หนึ่งในนั้นคือ ให้มีการปรับแก้มาตรา 7 เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ นอกเหนือจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นอย่างละ 1 คน โดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง
ผู้แทนองค์การสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่การแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม ด้านละ 1 คน โดยการคัดเลือกกันเองในแต่ละด้านให้เหลือด้านละ 1 คน
ลดสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 14 เหลือ 10 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้แต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานในเชิงประจักษ์ในสาขาเคมี พิษวิทยา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค อุตสาหกรรม กสิกรรม ประมง ปศุสัตว์ การขนส่ง หรือสาขาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีผลประโยชน์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมกับธุรกิจสารเคมี
พร้อมเสนอให้เพิ่มสัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหาผลกำไรในลักษณะเดียวกันกับข้างต้นเข้าไปใน “คณะกรรมการจัดการสารเคมีเฉพาะด้าน” เพื่อเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. สารเคมี พ.ศ. ...ครั้งที่ 1/2562 ปัจจุบัน อย. ได้ขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นออกไป โดยจะสิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 2562 จากเดิมจะปิดในวันที่ 31 พ.ค. 2562
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/