สธ.เผยเกษตรกร 17 ล้านคนเสี่ยงภัยสารเคมีเพิ่ม 2 เท่า ดันเปิดคลินิกต้นแบบดูแลสุขภาพ
สธ.ชี้สถานการณ์สารเคมีเกษตรเพิ่ม 2 เท่า เสี่ยงภัย17 ล้านคน ดันเปิดคลินิกนำร่องดูแลสุขภาพในรพ.สต.
วันที่ 16 ก.ค. 55 ที่สํานักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา นาย วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีควบคุมโรค เปิด“โครงการรณรงค์ เกษตรกรปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข” จัดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่เกษตรกร ในการดูแลตนเองให้ปลอดโรคและภัยที่เกิดจากการประกอบอาชีพ เช่น สารเคมีกําจัดศัตรูพืช รวมถึงโรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจําวัน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
นายวิทยา กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยสุขภาพประชาชนทุกวัย ทุกอาชีพ ได้ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันจัดระบบดูแลและพัฒนาสุขภาพให้ทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งเป็นกําลังสําคัญของประเทศในการเพิ่มผลผลิตและนํารายได้มาสู่ประเทศชาติ ข้อมูลสํานักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 ไทยมีประชากรอายุ 15-59 ปี และมีงานทำประมาณ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ทํางานในภาคเกษตรกรรมประมาณ 17 ล้านคนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพหลายเรื่อง ทั้งจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือจากท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง การใช้เครื่องมือต่างๆก่อให้การบาดเจ็บจากการทำงาน เชื้อโรคที่อยู่ในไร่นา เช่น โรคฉี่หนู กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายจัดบริการดูแลสุขภาพเป็นการเฉพาะ โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. เปิดคลินิกสุขภาพเกษตรกร ให้บริการตรวจรักษา ส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงอันตราย มีความปลอดภัยจากการประกอบอาชีพมากขึ้น ปีนี้นำร่องทั่วประเทศ จังหวัดละ 1 แห่ง เป็นต้นแบบ และจะขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2556
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สํานักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค รายงานว่าขณะนี้เกษตรกรไทยมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการทำงานเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2เท่าตัวจากเดิมร้อยละ16ในปี 2540เป็นร้อยละ39ในปี 2550 จากการวิเคราะห์ผู้มาใช้บริการสถานบริการสาธารณสุขที่มีอาการของโรคและเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพในปี2554 โดยสำนักระบาดวิทยา พบว่าเป็นเกษตรกรมากถึง 1 ใน 4 และมีอาชีพรับจ้างฉีดสารเคมีกําจัดศัตรูพืชสูงถึงร้อยละ 31 โรคที่เกษตรกรป่วยสูงที่สุดร้อยละ54 คือ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ พบเฉลี่ยปีละ 1,898 ราย รองลงมาคือถูกสัตว์กัดต่อย เฉลี่ยปีละ 1,033 ราย โรคผิวหนังเฉลี่ยปีละ 855 ราย กลุ่มพิษจากพืชเฉลี่ยปีละ 176 ราย โรคปอดและทางเดินหายใจเฉลี่ยปีละ 114 ราย พิษจากสารกําจัดแมลงศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 66 ราย โดยมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มโรคมีมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีรายงานเกษตรกรไดรับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการทํางาน เช่น มีดบาด กระแทก หกล้ม ปีละ 3.7 ล้านคน และติดเชื้อโรคฉี่หนู(Leptospirosis) จากการย่ำน้ำหรือทํางาน โดยไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันปีละ 2,600 กว่าราย หรือประมาณร้อยละ 62 ของผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 4,261 ราย และมีรายงานป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ที่พบมากที่สุดคือโรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาโรคเบาหวาน และโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานคลินิกสุขภาพเกษตรกรในรพ.สต. เน้นที่การให้ความรู้ในเรื่องอันตรายต่างๆจากการทำงาน การใช้สารเคมี และการป้องกัน ประเมินความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องมาจากการทํางาน เช่น ท่าทางการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน การยกหรือแบกของหนัก เป็นต้น มีการตรวจเลือดหาสารกำจัดศัตรูพืช ที่ใช้กันมากคือกลุ่มออการ์โนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ที่ตกค้างในร่างกาย เพื่อดูแลรักษาและติดตามสุขภาพต่อเนื่อง ตามสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า