เปิดชื่อ 150 สถานีตำรวจ ตั้งทนายอาสาประจำโรงพัก
มีการประมาณการว่า จะมีประชาชนขอรับคำปรึกษาทางกฎหมาย จำนวน 250,000 ราย สามารถยุติข้อพิพาท ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นศาล เช่น ค่าเดินทาง ค่าจ้างทนายความ ค่าเอกสาร ประมาณ 50,000 บาท/คดี
หลังจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไปเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
โดยหนึ่งในแผนดำเนินโครงการ คือ การจัดทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ 150 สถานี แบ่งเป็น
1) สถานีตำรวจที่มีจำนวนคดีเกินกว่า 1,000 คดี/ปี 100 สถานี ให้บริการคำปรึกษาตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น.
2) สถานีตำรวจที่มีจำนวนคดีเกินกว่า 2,000 คดี/ปี 25 สถานี ให้บริการคำปรึกษา 2 ช่วงเวลา คือ ตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น. และ 16.30 – 23.30 น.
3) สถานีตำรวจประจำจังหวัดที่มีคดีสูงที่สุดในจังหวัดอีก 25 สถานี ให้บริการคำปรึกษาตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น.
ทั้งนี้ ได้มีการประมาณการว่า จะมีประชาชนขอรับคำปรึกษาทางกฎหมาย จำนวน 250,000 ราย ช่วยให้ประชาชนสามารถได้รับบริการด้านกฎหมายและความยุติธรรมในเบื้องต้นได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และหากสามารถยุติข้อพิพาทได้จะทำให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นศาล เช่น ค่าเดินทาง ค่าจ้างทนายความ ค่าเอกสาร ประมาณ 50,000 บาท/คดี อีกด้วย โดยจะนำร่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2562 และจะดำเนินการต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป
ซึ่งก่อนหน้านี้ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ เคยให้สัมภาษณ์ถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เมื่อเกิดคดีความต่างๆ ขึ้นประชาชนไม่เข้าใจกฎหมาย จนเกิดข้อพิพาทกัน ฉะนั้น การมีทนายความให้คำปรึกษาจึงเชื่อว่า สามารถลดคดีลงได้
ปัจจุบันสภาทนายความฯ มีทนายความอาสาเกือบ 1 หมื่นคนทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ มี 400-500 คน คาดเริ่มดำเนินการได้เดือนสิงหาคมนี้ โดยวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้ สภาทนายความฯ จัดสัมมนาทั่วประเทศระหว่างทนายความกับตำรวจ เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนเริ่มโครงการฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:เปิดแผน Quick Win โครงการทนายความอาสา นำร่อง 150 สถานีตำรวจ