'สุภิญญา' ชี้ทีวีดิจิทัลอยู่รอด ต้องอิสระ-พัฒนาเนื้อหาร่วมสมัย
เยียวยาทีวีดิจิทัล 'สุภิญญา' เเนะควรคำนวณจากฐานความเสียหายจริง มีรายงานชัดเจน หวั่นละเลย เกิดตรวจสอบย้อนหลัง กสทช.เสี่ยงตกฐานะลำบาก ระบุอนาคตจะอยู่รอด ต้องพัฒนาเนื้อหาร่วมสมัย เป็นอิสระ สู้สื่อออนไลน์
วันที่ 29 พ.ค. 2562 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล:รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
น.ส.สุภิญญา เปิดเผยถึงการเยียวยาทีวีดิจิทัลจากรัฐยังมีความจำเป็น แต่ไม่ใช่การคืนคลื่น เนื่องจากปัญหาอาจไม่เกี่ยวกับการคืนคลื่นจริง แต่ควรยืนยันทีวีดิจิทัลที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในแง่มาใช้เวลาเอกชนฟรีไปออกอากาศรายการต้องบังคับให้ประชาชนชมทั้งประเทศ เสมือนไปใช้ห้องแถลงข่าวโรงแรม 5 ปี แล้วไม่มีการจ่ายหรือวางบิล เพราฉะนั้นในมุมดังกล่าว ยอมรับว่า น่าเห็นใจ จึงควรจ่ายเงินคืนทีวีดิจิทัล โดยตัวเลขค่าเยียวยาต้องคิดบนฐานค่าเสียหายจริง
ส่วนรัฐ คสช. ควรเยียวยาให้แก่ทีวีดิจิทัลหรือไม่ ทั้งในรูปแบบเงินทอง หรืออภิสิทธิ์ต่าง ๆ อดีตกรรมการ กสทช. ระบุควรมีอย่างตรงไปตรงมา โดยคำนวณให้ชัดเจนว่าเสียหายตรงไหน และนำเงินกองทุนกสทช. หรือเงินประมูลให้ไปอย่างสมเหตุสมผล ควรมีรายงานที่มาที่ไป ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ไม่มีเอกสารทางการ แต่เหมือนดีดตัวเลขกันเองหลังออฟฟิศ โดยขาดการคำนวณที่ชัดเจน ซึ่งหากสุดท้ายมีการตรวจสอบย้อนหลังจริง กสทช.จะกลายเป็นผู้ลำบาก ถึงแม้จะมีมาตรา 44 คุ้มครองในเชิงแม่บทอยู่ แต่ผู้เคาะตัวเลขคืนให้เอกชนยังเป็น กสทช.
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อถึงแนวทางของทีวีดิจิทัลให้อยู่รอดว่า กสทช.ต้องประคับประคองให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า อาจอยู่รอดยาก เพราะต้องแข่งขันกับสื่อออนไลน์ ถ้าทีวีดิจิทัลจะครองใจประชาชน ต้องพิสูจน์ตัวเองให้มีอิสระ ทำเนื้อหาข่าวให้ประชาชนสนใจ ขณะที่เรตติ้งละครตกมาก สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าไม่ปรับตัว นำเสนอสิ่งแบบเดิม คนจะไม่ดู และหันไปสื่อออนไลน์แทน
“ถ้าไม่ทำละครร่วมสมัย ตั้งคำถาม เสียดสีกับสิ่งที่คนสนใจ เช่น คนสนใจการเมือง สิทธิ LGBT สิทธิชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม ประเด็นร่วมสมัยไม่ถูกสะท้อนในละคร วาไรตี้ ข่าว ดังนั้น ทีวีต้องทำเนื้อหาให้ร่วมสมัยกับคนดู” กรรมการ กสทช. กล่าว
น.ส.สุภิญญา ยังกล่าวถึงกรณีทีวีดิจิทัลบางช่องเริ่มปลดพนักงาน แต่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่สมเหตุสมผลว่า กสทช.ทำพลาดตั้งแต่แรก ออกแบบเรื่องนี้ไม่ดีพอ และมาตรา 44 ไม่มีเงื่อนไขในเรื่องประโยชน์สาธารณะและเยียวยาวิชาชีพ ซึ่งควรแจกเงินเยียวยาให้ชัดเจนว่า คิดบนฐานอะไร และเยียวยาส่วนไหน นักข่าวตกงานหรืออะไร ไม่ใช่ให้เงินคืนไปทั้งหมด โดยขาดเงื่อนไข
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพีบีเอส
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/