สอบเสร็จแค่จัดฝึกอบรม! ผู้ว่าฯ โคราช แจงปมสตง.พบทุจริตหมู่บ้านประชารัฐใช้ภาพถ่ายเวียนเบิกเงิน
สตง.ส่งผลสอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จังหวัดนครราชสีมา ประจำปี 60 วงเงินกว่า 934 ล้าน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งคกก.สอบหาตัวผู้ผิดชอบความผิดทางละเมิดแล้ว รอแจ้งผลตอบกลับ หลังพบปัญหาการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพียบ กบอ.-ทหาร บกพร่อง ไม่กลั่นกรองอนุมัติ ยันเจอหลักฐานมัดทุจริตที่อำเภอบัวใหญ่ ใช้ภาพถ่ายเดียวกันเวียน เบิกเงิน 6 โครงการรวด -ผู้ว่าฯแจงสอบเสร็จแค่จัดฝึกอบรม
แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สตง. ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 ของจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การบริหารงานรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วงเงินกว่า 934.60 ล้านบาท ที่ถูกตรวจสอบพบปัญหาการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจำนวนมาก และหลายโครงการส่อว่าจะมีปัญหาความไม่โปรงใสเกิดขึ้น ในลักษณะการใช้ภาพถ่ายเดียวกันมาใช้ประกอบในการเบิกจ่ายเงินของโครงการ ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมารับทราบเพื่อ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอแจ้งข้อมูลตอบกลับมาว่า มีผลการดำเนินการเป็นอย่างไรบ้าง
โดยในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุชัดเจนว่า จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนตามโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยให้หมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการเองด้วยการคิดค้นปัญหาผ่านกระบวนการประชาคมแล้วเสนอแผนงาน /โครงการ ให้คณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) พิจารณาอนุมัติแล้วจัดส่งแบบจัดทำแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 9 สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการ เสนอสำนักงบประมาณเห็นชอบทั้งหมด จำนวน 32 อำเภอ 287 ตำบล 3,739 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 4,026 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 934.60 ล้านบาท
แต่จากการตรวจสอบผลการดำเนินการของ สตง. พบว่า การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหลายประเด็น อาทิ คณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) และหน่วยงานทหารในพื้นที่ไม่ได้กลั่นกรองอนุมัติโครงการและค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราค่าใช้จ่ายของทางราชการ ซึ่งโครงการที่หมู่บ้านเสนออนุมัติ ไม่มีการจัดทำแบบฟอร์มการคำนวณราคางานก่อสร้าง (แบบ ปร.4 ปร.5) จำนวน 30 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 15.63 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ ส่วนเรื่องความพร้อมในเรื่องสถานที่ดำเนินการ จากการตรวจสอบเอกสารโครงการ จำนวน 192 โครงการ และสุ่มตรวจสอบการขออนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใช้น้ำบาดาลของอำเภอปากช่อง และอำเภอวังน้ำเขียว จำนวน 23 โครงการ รวมตรวจสอบทั้งสิ้น จำนวน 215 โครงการ พบว่า ไม่มีการขออนุญาตใช้พื้นที่ และไม่มีการขออนุญาตเจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาล จำนวน 163 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 75.81 ของโครงการที่ตรวจสอบ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการดำเนินงานโครงการจ้างเหมา จำนวน 157 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 81.77 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ มีโครงการที่ใช้แรงงานภายในหมู่บ้านเป็นจำนวนน้อยมาก คิดเป็น ร้อยละ 18.23 ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ ขณะที่โครงการที่หมู่บ้านเสนอและได้รับอนุมัติไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมหรือต่อเติมจากสิ่งก่อสร้างเดิมซึ่งมีอยู่แล้ว แต่เป็นการก่อสร้างใหม่ จึงเป็นการใช้ชื่อโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์โครงการที่ห้ามดำเนินการ ดังนั้น กิจกรรมของโครงการจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่เป็นไปตามความหมายตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ชื่อโครงการระบุเป็นการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารอเนกประสงค์ แต่ข้อเท็จจริงเป็นการก่อสร้างโครงหลังคาเหล็กบนถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน จำนวน 15 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 3,623,000 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินนั้น จากการตรวจสอบ พบว่า ที่ทำการปกครองอำเภอ จำนวน 8 อำเภอ จัดเก็บสำเนาเอกสารโครงการของแต่ละหมู่บ้านไว้เพื่อตรวจสอบไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีใบสำคัญรับเงิน/ใบเสร็จรับเงิน ไม่มีภาพถ่ายประกอบการเบิกจ่าย มีเอกสารตามแบบ คปช.ต่างๆ ไม่ครบถ้วน ไม่มีเอกสารการชำระภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ ยังพบว่า เอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินโครงการของที่ทำการปกครองอำเภอบัวใหญ่ จำนวน 6 โครงการ ใช้ภาพถ่ายเดียวกันประกอบการเบิกจ่ายเงินของโครงการ โดยมีคณะกรรมการตรวจรับงานแต่ละหมู่บ้านลงชื่อรับรองภาพถ่ายก่อนทำ ระหว่างทำ และงานแล้วเสร็จ ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าภาพถ่ายที่นำมาประกอบการเบิกจ่ายเงินนั้นเป็นภาพถ่ายการดำเนินการจริงของหมู่บ้านใด ซึ่งภาพถ่ายถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงเห็นว่ามีการดำเนินการแล้วเสร็จจริง ก่อนที่จะอนุมัติเบิกจ่ายเงินต่อไป จำนวน 6 โครงการ เป็นเงินรวม 1,500,000 บาท
สตง. จึงแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว พร้อมให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีคณะกรรมการบริหารงานระดับอำเภอ (กบอ.) และหน่วยงานทหารในพื้นที่พิจารณาอนุมัติโครงการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำโครงการตามคู่มือการดำเนินงานโครงการ (โครงการส่งเสริมอาชีพ) จำนวน 6 โครงการ รวมงบประมาณ จำนวน 1,100,000.00 บาท เพื่อหาผลสรุปข้อเท็จจริง หากเกิดความเสียหายกับทางราชการให้พิจารณา ดำเนินการทางละเมิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมไปถึงกรณีหมู่บ้านใช้หลักฐานภาพถ่ายเดียวกันมาเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินของโครงการ รวมงบประมาณ 1,500,000.00 บาท เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการดำเนินงานโครงการด้วยความสุจริต ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามคู่มือการดำเนินงานโครงการ หากทางราชการได้รับความเสียหายให้พิจารณาดำเนินการทางละเมิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ พระราชบัญญัติ กฎหมาย และระเบียบที่กำหนด และกรณีคณะกรรมการหมู่บ้านของโครงการ ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ให้ดำเนินการทางละเมิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป (อ่านประกอบ : เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด)
ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2562 ว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า มีบางประเด็นที่สตง.สั่งให้ทางจังหวัดตรวจสอบ และทางคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว คือ กรณีการจัดฝึกอบรม เบื้องต้นได้แจ้งผลสอบส่วนนี้ให้สตง.ภาค 4 รับทราบไปแล้ว ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น การใช้ภาพถ่ายเดียวกันมาเบิกเงินจำนวน 6 โครงการ ยังไม่ได้รับรายงานผลว่ามีการสอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้วหรือยัง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/