ครม.อนุมัติไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 149,650 ล้าน-คาดลงนามกลุ่มซีพี 15 มิ.ย.
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 149,650 ล้านบาท ให้ รฟท. ร่วมลงทุนกับเอกชน เลขาธิการ EEC เชื่อสามารถลงนามสัญญากับ กลุ่มซีพี ตามแผนภาย 15 มิถุนายนนี้
วันที่ 28 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามที่เสนอ และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งเอกชนที่ได้รับคัดเลือกจะจัดตั้งขึ้น เพื่อประกอบกิจการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นถือว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ.
2. เห็นชอบให้ รฟท. ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ เพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
3. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ได้มีมติอนุมัติ โดยการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้าน บาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้ ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
สำหรับดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 149,650 ล้านบาท ทั้งนี้ รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ 27 มีนาคม 2561 อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ภายใต้กรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ ทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี กำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นควรให้ใช้อัตราส่วนลดหรืออัตราดอกเบี้ยไม่เกิน FDR+1 ไปพิจารณาดำเนินการด้วย ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยได้ออกประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ จนกระทั่งได้เอกชนที่ได้รับคัดเลือกแล้ว และได้มีการพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับ และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการกำกับดูแล ตามข้อ 20 ของประกาศคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องเริ่มทำงานทันทีที่สัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ มีผล (ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจึงได้ประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและมีมติสรุปได้ ดังนี้
1. เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น การวางแผนการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เอกชนสามารถเข้ามาดำเนินโครงการฯ ได้โดยไม่ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยผิดสัญญา การกำหนดให้มีหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับ และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนอย่างใกล้ชิดตลอดอายุโครงการฯ เป็นต้น
2. เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ โดยการจัดสรรงบประมาณจะอยู่ในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้สำหรับดำเนินโครงการฯ วงเงิน 149,650 ล้านบาท ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ แก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน
3. เห็นชอบการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับ และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ พร้อมทั้งกรอบอัตรากำลังและกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายตามที่นำเสนอโดยให้หน่วยงานฯ อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และให้สำนักงานฯจัดทำรายละเอียดหน่วยงานฯ เพิ่มเติม รวมทั้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงานฯ ไปหารือสำนักงบประมาณในรายละเอียดโดยด่วน เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการตามสัญญาของโครงการฯ ที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบให้ รฟท. ส่งร่างสัญญาร่วมทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติการลงนามกับกลุ่มซีพี ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) แถลงผลการประชุม ว่า บอร์ด EEC ได้เห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) มูลค่าโครงการ 182,524 ล้านบาท ภายหลังรฟท. และสกพอ. ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมกันรับผิดชอบโครงการฯ ส่งร่างสัญญาทั้งหมดพร้อมเอกสารแนบท้ายวาระครบถ้วนให้กับบอร์ด EEC พิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ก่อนให้ รฟท. สามารถลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูล คือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (กลุ่มซีพี) ตามแผนภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ โดยการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4 ปีจากนี้ ทำให้คนไทยจะมีโอกาสได้นั่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกกับกรุงเทพฯ