กรมรางเล็งปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง-ใช้มาตรการภาษีจูงใจคนใช้บริการ
ก.คมนาคม-ทีดีอาร์ไอ จัดระดมความเห็น "บทบาทกรมขนส่งทางราง" รองอธิบดีฯ คาดร่างกม.ให้อำนาจกำกับดูเเล เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ปี 62 เล็งให้รัฐบาลสนับสนุน ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ชูมาตรการทางภาษี จูงใจ ปชช.ใช้บริการเเทนรถยนต์ส่วนบุคคล
วันที่ 28 พ.ค. 2562 ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นหัวข้อ “บทบาทของกรมการขนส่งทางราง” ภายใต้โครงการศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศไทยขึ้น ซึ่งกรมฯ จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่18) พ.ศ.2562 (จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2562 โดยมีนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางราง คนแรก
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินงานต่อไปว่า กรมฯ ได้จัดทำโครงสร้างผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติ ตามอำนาจหน้าที่ได้รับมอบหมายมาแล้ว ส่วนกฎหมายลูกตามร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ...ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการขนส่งทางราง โดยจะให้อำนาจในการกำกับและพัฒนาคุณภาพ รวมถึงความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ โดยเราจะนำความเห็นจากการระดมในครั้งนี้รายงานเข้าไปด้วย
ทั้งนี้ คาดว่า ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... จะได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ภายในปี 2562 เพื่อมีอำนาจหน้าที่เต็มที่ใน 5 ด้านหลัก คือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายให้ครอบคลุม มาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทาง โครงสร้างอัตราค่าโดยสารทั้งหมด การออกใบอนุมัติอนุญาต และการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อทำให้เกิดการประสานงานระหว่างกัน
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ยังกล่าวถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยถูกมองว่าแพงเกินจริง ในส่วนที่ให้สัญญาสัมปทานไว้แล้ว เราคงไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงส่วนนั้นได้ อย่างไรก็ดี จะต้องพิจารณากลไกอื่น ๆ ในเชิงเศรษฐกิจ อนาคตอาจมีการนำนโยบายเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการลดอัตราค่าโดยสาร ดังเช่น ภาษี ในเรื่องการสนับสนุนประชาชนที่ใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่าย หรือลดค่าโดยสารโดยการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นเรื่องต้องไปพิจารณาในส่วนดำเนินการต่อไป
“ทราบว่า คณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบกพยายามขับเคลื่อนผลักดันเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารสำหรับการเดินทางเขต กทม. เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร พยายามตรวจสอบว่า องค์กรที่สำคัญต่าง ๆ อยากให้มีพนักงาน เจ้าหน้าที่ เดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ต้องรอให้โครงข่ายมีความครอบคลุมทุกพื้นที่ก่อน หลังจากนั้นอาจมีมาตรการ เช่น หากเดินทางระบบราง ทดแทนรถยนต์ส่วนบุคคล สามารถนำมาลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ซึ่งต้องนำเสนอต่อไป” นายสรพงศ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/