ทนายรัษฎา...นักสิทธิฯดีเด่นประจำปี 2555 กับมุมมองปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนแดนใต้
"รัฐควรนำงบประมาณไปซื้อกล้องวงจรปิดติดตามสถานที่ต่างๆ ดีกว่านำไปซื้ออาวุธให้เจ้าหน้าที่ทหาร และควรปรับการใช้ยุทโธปกรณ์เสียใหม่ ไม่ใช่นำรถฮัมวี่ติดอาวุธหนักเข้าไปใช้ในการแก้ปัญหา เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่สภาวะสงคราม แต่เป็นเหตุการณ์ลอบทำร้าย รวมทั้งควรนำงบประมาณไปพัฒนาชาวบ้านให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้เขาได้เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ"
เป็นข้อเสนอของ รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความอาสาที่รับว่าความให้กับผู้ต้องหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วไป เขาให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ภายหลังรับรางวัล "สมชาย นีละไพจิตร" ประจำปี 2555 ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เมื่อวันพุธที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากทนายรัษฎาแล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องประจำปี 2555 อีก 3 คน 1 กลุ่ม คือ น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักต่อสู้ส่งเสริมสิทธิแรงงาน นายอดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
จากทัศนะซึ่งนักสิทธิมนุษยชนทุกคนที่ได้รับรางวัลช่วยกันสะท้อนภาพสังคมไทย พบความจริงว่าบ้านเรายังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมากมาย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม สิ่งแวดล้อม และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก.ม.พิเศษเปิดช่อง จนท.ลุแก่อำนาจ
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความอาสา กล่าวถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ผู้ละเมิดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกร้องเรียนมากที่สุด แต่ระยะหลังเป็นทหาร เนื่องจากรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าไปแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่ทหารมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการใช้กำลัง ไม่ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน
"หลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐยังใช้วิธีปิดล้อม ตรวจค้น บางครั้งเข้าไปตรวจค้นตั้งแต่ตี 5 และนำตัวชาวบ้านที่ต้องสงสัยไปสอบสวน อยากถามว่าการกระทำดังกล่าวเจ้าหน้าที่อาศัยกฎหมายอะไร และชาวบ้านเขารู้สึกอย่างไรกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ การใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก"
"ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติเอาไว้ว่า เมื่อพบการกระทำความผิดให้แจ้งต่อศาลเพื่อออกหมายค้นหรือหมายจับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ แต่ทำไมถึงไปนำกฎหมายพิเศษมาใช้ตรวจค้นจับกุมจนเกิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่บางคนที่ลุแก่อำนาจทำร้ายประชาชน"
"ดังนั้นรัฐต้องเน้นหลักนิติธรรม หมายความว่าก่อนจะเข้าไปดำเนินการจับกุม ตรวจค้น ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เสียก่อน ดีกว่าการจับกุมโดยไม่มีหลักฐาน เพราะชาวบ้านในพื้นที่ต้องการอยู่อย่างสงบสุขมี เพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ก่อเหตุ และควรนำงบประมาณไปใช้ในการซื้อกล้องวงจรปิดแทนที่จะนำไปซื้ออาวุธให้เจ้าหน้าที่"
ค่าแรง 300 บาทไม่พอกิน
จิตรา คชเดช กล่าวถึงการละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงานว่า ปัจจุบันปัญหาสิทธิของแรงงานมักเกี่ยวข้องกับการเมืองและผู้ออกกฎหมาย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ ประกาศปรับกฎหมายเรื่องสวัสดิการต่างๆ สิ่งเหล่านี้จริงๆ แล้วคือปัญหาของผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน เนื่องจากไม่เคยมีสิทธิได้แสดงความคิดเห็น หรือเป็นผู้ออกกฎหมายเองโดยตรง
นอกจากนั้น ผู้ใช้แรงงานแทบไม่มีสิทธิทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับ เพราะผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานย้ายถิ่นที่มากระจุกตัวกันในจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม จนกลายเป็นพลเมืองแฝง ไม่มีอำนาจต่อรองกับนักการเมืองในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ และไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเสนอความเห็นต่อรัฐบาลได้
"ส่วนเรื่องค่าแรง 300 บาทไม่พอสำหรับพวกเขาแน่ เพราะผู้ใช้แรงงานเป็นแรงงานย้ายถิ่นมาจากต่างจังหวัด เขาต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย และเรื่องอาหารการกิน บางคนติดหนี้ ธกส. ต้องการนำเงินไปใช้หนี้ บางคนต้องส่งเงินไปให้ครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัดเพื่อใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรม สิ่งที่ต้องแก้คือรัฐบาลควรมีนโยบายรัฐสวัสดิการเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ถ้ารัฐนำแค่ค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นตัวตั้ง จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน"
ละเมิดสิทธิเพื่อนมนุษย์-ละเลยวิถีชุมชน
มณี บุญรอด ผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อรวมตัวกันต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองโปแตซ เนื่องจากการทำเหมืองไม่มีมาตรการป้องกันสารพิษ และทำลายวิถีชีวิตเกษตรกรรม
"เจ้าของโครงการนำเครื่องมือมาสำรวจและเตรียมดูดแร่ขึ้นมาโดยไม่แจ้งคนในพื้นที่ และไม่เคยให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นเรื่องผลกระทบของโครงการ จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมและชุมชน แต่นายทุนและหน่วยงานของรัฐกลับไปแจ้งความกับตำรวจว่าชาวบ้านไปขัดขวางและทำลายทรัพย์สิน ทั้งยังมีการข่มขู่ผู้ที่คัดค้านโครงการ นี่คือปัญหาที่รัฐบาลต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนหากจะผลักดันโครงการพัฒนาทุกรูปแบบ"
อดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือสังคมไทยไม่ยอมรับสิทธิของแรงงานข้ามชาติ จนทำให้มีการล่วงละเมิดเกิดขึ้น อาทิ นายจ้างทำร้ายลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติจนเสียชีวิต ซึ่งหากมองถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่สังคมไทยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ปกติ จึงเกิดข้อสงสัยว่าทำไมคนไทยถึงยอมรับในเรื่องการละเมิดสิทธิต่อเพื่อนมนุษย์ ขณะที่สังคมไทยเองพยายามอ้างว่าเป็นเมืองพุทธ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 ก.ค.2555
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ