"ผมพอแล้ว" รัฐบุรุษชื่อเปรม คนดีผู้ไม่หลงอำนาจ
"...แน่นอนว่า ‘อำนาจ’ เป็นสิ่งที่หอมหวานรัญจวน ทุกคนต่างพึงปรารถนาให้ได้มาครอบครอง ‘อำนาจ’ เคยอยู่กับพล.อ.เปรม หากว่าท่านใช้อำนาจอย่างไม่หลงระเริง จนกลับมาทำร้ายตัวเอง ทว่า อำนาจกลับนำมาซึ่งบารมี..."
คุณสมบัติหนึ่งของ ‘คนดี’ นั่นคือ การไม่หลงอยู่ในอำนาจ คิดถึงความเป็นอยู่ของคนยากคนจน
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีคุณสมบัตินั้น ซึ่งจะว่าไปท่านมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับ ‘อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
อาจารย์ป๋วย ทำงานเพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในทุกคน ขณะที่ตำแหน่งนักการเมืองหรือผู้บริหาร ท่านกลับปฏิเสธ แต่ขอสมัครใจเป็นอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ แม้มีการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ แต่ท่านระบุขอเป็น ‘ข้าราชการที่ดี’ แทน และตราบใดที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ อีกทั้งบางยุคบางสมัยที่ได้ครองหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน ท่านยังไม่ขอรับเงินเดือนเต็มด้วย
นั่นคือคุณสมบัติของ ‘คนดี’ ซึ่งคนรุ่นใหม่น้อยนักจะตระหนัก เช่นเดียวกับ พล.อ.เปรม ถึงแม้ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วก็ตาม แต่คุณประโยชน์ที่ท่านฝากไว้เป็นภารกิจสุดท้าย คือความตั้งใจนำเงินเดือนที่เก็บไว้ทั้งชีวิตบริจาคให้แก่คนยากคนจน
แสดงให้เห็นว่า ท่านไม่ยึดติดในอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ แม้ตัวจะสิ้นชีวา แต่ความดีที่ท่านทำไว้มาตลอดชีวิตได้ฝากไว้อยู่คู่แผ่นดิน
แน่นอนว่า ‘อำนาจ’ เป็นสิ่งที่หอมหวานรัญจวน ทุกคนต่างพึงปรารถนาให้ได้มาครอบครอง ‘อำนาจ’ เคยอยู่กับพล.อ.เปรม หากว่าท่านใช้อำนาจอย่างไม่หลงระเริง จนกลับมาทำร้ายตัวเอง ทว่า อำนาจกลับนำมาซึ่งบารมี
เหตุการณ์ที่พิสูจนว่า ท่านพอใจในอำนาจ ไม่ละโมบโลภมาก คือ การปฏิเสธรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 6 จนกลายเป็นวลีที่ว่า “ผมพอแล้ว”
ขอย้อนเหตุการณ์วันนั้น ข้อมูลจากหนังสือ ‘รัฐบุรุษชื่อเปรม’ พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์มติชน บรรยายช่วงเวลานั้นได้อย่างละเอียด จึงขอคัดตอนหนึ่งมานำเสนอ
พลบค่ำวันที่ 27 ก.ค. 2531
ผู้แทนของพรรคการเมือง 5 พรรค กำลังพยายามเตรียมการจัดตั้ง ‘รัฐบาลเปรม 6’ อย่างขะมักเขม้น ทั้งพรรคชาติไทย, กิจสังคม, ประชาธิปัตย์, ราษฎร และสหประชาธิปไตย
...ผู้แทนของพรรคการเมืองทั้งห้าคอยการลงมาของเจ้าของบ้านในห้องรับแขกอย่างเงียบ ๆ พวกเขาต่างสรุปกันมาเรียบร้อยแล้วว่า
ต้องเชิญพล.อ.เปรมให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปให้จงได้...เมื่อได้เวลาอันสมควร พล.อ.เปรมในชุดพระราชทานได้ก้าวเข้ามาในห้องรับแขกด้วยอาการสงบ สุภาพ แลดูทระนงองอาจ
...บรรดาผู้แทนพรรคการเมืองต่าง ๆ แจ้งผลการประชุมให้ทราบว่าทุกพรรคมีมติให้เสนอชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
พล.อ.เปรมยิ้มให้แล้วกล่าวสั้น ๆ
“ขอขอบคุณมาก” เขาทอดระยะไปชั่วอึดใจหนึ่ง
“แต่ผมพอแล้ว!
8 ปี 5 เดือน
ขอให้พวกคุณทำกันต่อไป และผมอยากเห็นประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้า!”
...ทุกคนต่างก็ช่วยกันอ้อนวอน ขอร้องให้พล.อ.เปรมเปลี่ยนใจเพื่อทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไป
พล.อ.เปรม นั่งรับฟังเหตุผลของแต่ละพรรคด้วยความสงบ นิ่ง เงียบเฉย จนที่สุด ท่านก็กล่าวสรุปขึ้นมาอีกครั้งว่า
“ผมพอแล้ว!!”
“ผมคิดมาแล้ว ผมตัดสินใจแล้ว ถ้าผลงานที่รัฐบาลทำมาแล้วดีก็ทำไป ที่ไม่ดีก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
ถ้ามีอะไรให้ผมช่วยก็บอกมา ผมยินดีให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อชาติ เพื่อประชาชน เพื่อสถาบันสูงสุดที่ผมเทิดทูนด้วยชีวิต
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังทำไม่สำเร็จก็คือ การช่วยเหลือคนยากคนจน
แม้ว่าตลอดรัฐบาล 5 สมัยที่ผ่านมา เราจะมุ่งด้านนี้อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม จึงขอฝากฝังให้พวกเราทำกันต่อ”
........................
แสดงให้เห็นว่า ลมหายใจเข้าออกของพล.อ.เปรม เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุมานะที่จะแก้ไขปัญหาคนยากคนจน และไม่ฝักใฝ่ในอำนาจ ทำให้กล้าปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 6 ทั้งที่ห้วงเวลานั้น ท่านยังเหมาะสมและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากทุกฝ่าย
ไม่รู้ว่า คนไทยทุกคนเห็นด้วยหรือไม่ แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว นี่นับเป็นคุณสมบัติของ ‘คนดี’ ที่คนไทยควรยึดถือปฏิบัติ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/