“ครูหยุย” แนะดึงชุมชนร่วมแก้ปัญหาเด็กติดยา-มั่วเซ็กส์-ตีกัน
“ครูหยุย” แนะดึงชุมชนร่วมแก้ปัญหาเด็กติดยา-มั่วเซ็กส์-ตีกัน ชงรัฐทุ่มงบสภาเด็กฯ สช. ส่งครูจิตวิทยาประจำโรงเรียน นัก กม.ซัดตร. แถลงจับยาบอกราคาสูงจูงใจคนทำผิด
วันที่ 15 ก.ค. 55 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา “เซ็กส์วัยใส ติดยา ตีกัน แก้อย่างไร” ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราต้องเข้าใจเด็กหญิงจะมีพัฒนาการทางร่างกายเร็วกว่าเด็กชาย ดังนั้นช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กหญิงจะมีความเสี่ยงมาก ทั้งนี้รวมถึงเด็กชายด้วย ครอบครัวจึงต้องเอาใจใส่ เพื่อป้องกันปัจจัยภายนอกทำให้วัยรุ่นเกิดปัญหาหมกมุ่นเรื่องเซ็กส์ ติดยา และตีกัน นั่นคือแหล่งธุรกิจทางลบ ได้แก่ ร้านเกม สถานบันเทิง เว็บไซค์ล่อแหลม โดยมี 3 ตัวการหลักที่จะก่อโอกาสและภัยร้ายแก่วัยรุ่นได้ คือ 1.สื่อ วัยรุ่นจะเข้าถึงเรื่องเพศในสื่อสมัยใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น แคมฟรอก เฟสบุ๊ก หรือโปรแกรมแชทออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาค่านิยมทางเพศที่เปลี่ยนไป ซึ่งวัยรุ่นมักเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์คือความรัก ทั้งที่ความจริงแล้วความรักกลับไม่ใช่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์เสมอ
2.ครอบครัว จากการศึกษาพบว่าการใช้ชีวิตของพ่อแม่จะมีอิทธิพลใหญ่ต่อการเดินรอยตามของลูก ส่วนเพื่อนมักมีอิทธิพลในเรื่องเล็ก ๆ เท่านั้น แต่พ่อแม่ยุคปัจจุบันทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นจึงควรเข้าใจการใช้ชีวิตของวัยรุ่นด้วย 3.โรงเรียน ควรส่งเสริมกิจกรรมให้วัยรุ่นได้แสดงความสามารถ นอกจากนี้หากเกิดปัญหากับนักเรียนควรติดต่อผู้ปกครองทันที เช่น ไม่ควรรายงานผลการเรียนตอนปลายเทอม แต่ควรรายงานให้ผู้ปกครองทราบเป็นระยะ
นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า วิธีการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เริ่มจากต้องเข้าใจวิธีการเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องด้วยหลัก 4 ก. ได้แก่ 1.กติกา พ่อแม่จะต้องวางกรอบกติกาสำหรับการใช้ชีวิตของลูก เช่น กำหนดเวลาเล่นเกมหรือดูทีวี ทั้งนี้ต้องรู้จักหันมาทำกิจกรรมกับลูก 3 ต้อง คือ ต้องกำหนดรายการที่มีเนื้อหาสาระดี ต้องกำหนดเวลา และต้องหันมาใช้เวลาร่วมกัน ส่วน 3 ไม่ คือ ไม่ให้มีสื่อล่อแหลมอยู่ในห้องนอน จำพวกคอมพิวเตอร์ แท๊ปเล็ต ไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด และไม่ดูทีวีขณะทานอาหาร เพราะจะทำให้เวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัวหมดไป
2.กิจกรรม ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ต้องร่วมมือส่งเสริมให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพราะประเทศอื่นที่ไม่เกิดปัญหาดังกล่าวเนื่องจากมีกิจกรรมที่ส่งเสริมศักยภาพวัยรุ่นในทางที่ดิ 3.กอด ความหมายในทางจิตวิทยาคือลูบหัว ตบไหล่ สบตา คุย เพื่อแสดงถึงความผูกพันที่มีให้กันอยู่ และ4.เก็บเรื่องมาเล่า จะได้เกิดความสัมพันธ์รู้ทุกข์สุขร่วมกัน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ปัญหาเด็กแบ่งเป็น 3 ยุค คือ ยุคแรก เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาเด็กขาดสารอาหาร รับวัคซีนไม่เพียงพอ โดยไทยได้ก้าวข้ามผ่านแล้ว ยุคสอง เด็กถูกใช้เป็นเครื่องมือหนัก ได้แก่ แรงงานเด็ก ค้าประเวณี และเด็กขอทาน ยุคสาม ปัญหาเชิงพฤติกรรม ได้แก่ ยาเสพติด เพศสัมพันธ์ รวมถึงความรุนแรงต่อผู้อื่น เช่น ยกพวกตีกัน และความรุนแรงต่อตนเอง เช่น ฆ่าตัวตาย ซึ่งในยุคสุดท้ายมูลนิธิฯ และสภาเด็กที่ดูแลปัญหาอยู่รู้สึกหนักใจอย่างยิ่ง เนื่องจากใช้เงินแก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้ปัญหาลุกลามจากสังคมเมืองสู่ชนบท
เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก จึงกล่าวถึงการแก้ปัญหาทั้งระบบต้องร่วมมือทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรสาธารณะ โดยเฉพาะการดึงศักยภาพของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วม แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือสภาเด็กขาดงบประมาณในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เพราะจะหวังพึ่งแต่งบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการช่วยเหลืออย่างเดียวไม่ได้ ฉะนั้นรัฐบาลควรหันมาส่งเสริมสภาเด็กให้จริงจังเหมือนดังกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ
ด้านนายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า ร้อยละ 70 ปัญหาเด็กติดเซ็กส์ ยาเสพย์ติด และทะเลาะวิวาท เกิดจากครอบครัวแตกแยก เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย จนปัญหาจากที่เคยเกิดเฉพาะในเมืองใหญ่ลุกลามสู่ชนบท ประกอบกับสังคมไทยเกิดครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเด็กเกิดปัญหาจึงไม่สามารถปรึกษาใครได้ เพราะพ่อแม่หมกมุ่นอยู่กับการทำงานหาเงินเท่านั้น สถาบันการศึกษาจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการกล่อมเกลาเด็กให้เป็นคนดี แต่องค์กรพัฒนาสังคมก็ควรเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วย
“กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุครูจิตวิทยาและอบรมครูสาขาอื่นให้มีจิตวิทยาในการสอนนักเรียน พร้อมขับเคลื่อนกฎหมายห้ามไม่ให้เปิดร้านเกม สถานบันเทิง รอบสถานศึกษาทั่วประเทศแล้ว ซึ่งสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้อย่างดี” เลขาธิการสช.กล่าว
ขณะที่นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร ผู้พิพากษา รองหัวหน้าศาลเยาวชน จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ยาเสพย์ติดเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยโดยการกระทำของผู้ใหญ่เป็นสาเหตุหลัก จะเห็นว่าการจับผู้ค้ายาเสพย์ติดทุกครั้ง เมื่อจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจะมีการบอกปริมาณและราคาที่มีจำนวนมหาศาล จึงอาจเป็นเหตุจูงใจส่งเสริมให้คนอยากรวยและหันมากระทำความผิดมากขึ้น ส่วนปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ จากการวิจัยของไทยหลายแห่งพบว่า พ่อแม่ให้ความรู้เรื่องเพศต่อเด็กน้อยที่สุด เพราะคิดว่าเป็นเรื่องน่าละอาย แต่ย้อนถามว่าคุยเรื่องอะไรสนุกที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเพศ ฉะนั้นหากพ่อแม่ไม่ให้ความรู้ เด็กก็จะไปแสวงหาจากภายนอก ส่วนปัญหาเด็กตีกันนั้นเกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมมากกว่า
ฉะนั้นกฎหมายต้องมองภาพรวม จะเห็นว่ากฎหมายใหม่พยายามเข้าใจเด็กและหาสาเหตุของการกระทำความผิด แม้ตนมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับเด็กหลายฉบับไม่ได้ตอบโจทย์การช่วยเหลือเท่าที่ควร หากแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลรอบข้าง เช่น อัยการ ทนายความ นักจิตวิทยา จึงเป็นการเสียงบประมาณเปล่าประโยชน์ สำคัญที่สุดพ่อแม่จึงต้องเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดเพื่อลดปัญหาที่ตามมาในอนาคต.