จี้ กทม.ทบทวนร่างผังเมืองใหม่ เบรกให้โบนัสเอื้อโครงการอสังหาฯ
กรุงเทพฯ จัดรับฟังความคิดเห็น ปชช. 'ร่างผังเมือง' ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-ผู้เเทนชุมชน' ยื่นหนังสือค้าน ขอให้ทบทวนมาตรการให้โบนัสเอื้อประโยชน์โครงการอสังหาฯ หวั่นก่อสร้างอาคารสูงเพิ่ม กระทบวิถีชีวิต ด้านรองผู้ว่าฯ กทม. ระบุหากถูกรอนสิทธิ ให้ร้องเรียนตาม กม.
วันที่ 24 พ.ค. 2562 กรุงเทพมหานคร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุง ครั้งที่ 4) ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยมีประชาชนเข้ารับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า 500 คน
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างผังเมืองในครั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้กรุงเทพฯ เจริญเติบโตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนประชาชนในพื้นที่ ระบบขนส่งสาธารณะ ถนน โครงการรถไฟฟ้า การปรับปรุงผังเมืองจึงมุ่งเน้นให้เกิดความสมประโยชน์และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ให้ได้รับการพัฒนา
ทั้งนี้ ในส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าให้สอดคล้องนั้น ปัจจุบันได้ขยายสิทธิการพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้า จากเดิม 500 เมตร เป็น 500 เมตร 650 เมตร และ 800 เมตร ซึ่งแน่นอนว่า การปรับปรุงร่างผังเมืองจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ดังเช่น พื้นที่เขตมีนบุรี จะกลายเป็นเมืองใหม่ในอนาคต มีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีส้ม และสีชมพู หรือย่านจุดพัฒนามักกะสัน เป็นต้น
ส่วนที่ประชาชนกังวลว่า จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กฎหมายมีขั้นตอนการพิจารณาและกำกับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การควบคุมอาคาร พ.ร.บ. ควบคุมสิ่งแวดล้อม หากพบว่าการก่อสร้างลิดรอนสิทธิ ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการยื่นร้องเรียนได้
จากนั้นนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พร้อมด้วยตัวแทนจากชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากเดินทางเข้ารับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย
โดยมีข้อสังเกต คัดค้าน และเสนอแนะต่อการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) พอสังเขป ดังนี้
1.คณะผู้ร่างมิได้นำเสนอการศึกษาผลกระทบและถอดบทเรียนผังเมืองเดิม ปี 2556 อาทิ ข้อดี ข้อด้อย และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงต่อคนเมืองกลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่
2.ในเชิงปฏิบัติข้อบังคับที่กำหนดไว้ในผังเมือง ฉบับ ปี 2556 กรุงเทพฯ ไม่มีการตรวจสอบและไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมาภิบาลในการควบคุมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพและไม่มีการติดตามประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน
3.ระบบโครงสร้างพื้นฐานควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพก่อนการขยายและสนับสนุนการเจริญเติบโตเพื่อป้องกันการสร้างปัญหาต่อสังคม
4.กระบวนการร่างผังเมืองขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึงและพอเพียง เป็นการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเปิดรับฟังในตอนท้าย ซึ่งขาดการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้ได้รับรู้อย่างทั่วถึง
5.ขอให้ทบทวนมาตรการสร้างแรงจูงใจให้โบนัสเอื้อประโยชน์โครงสร้างอสังหาริมทรัพย์
6.ผังเมืองฉบับใหม่ขาดการอธิบายถึงการศึกษาและแนวทางรับมือภัยพิบัติ
7.แนวทางเลือกอื่น ๆ ในการพัฒนาเมืองควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปด้วย เช่น กระจายศูนย์เศรษฐกิจไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงในโซนสีแดงกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ให้กระจายไปยังปริมณฑลจังหวัดใกล้เคียง เป็นหลักกระจายอำนาจ บรรเทาความแออัดของสภาพการจราจร
(อ่านเพิ่มเติม:เปิดข้อสังเกต คัดค้าน เสนอแนะ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงฉบับที่ 4))
น.ส.วรนันท์ วิวรกิจ ผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูง ตัวแทนจากชุมชนมหาดเล็กหลวง 1-2 เปิดเผยถึงสาเหตุคัดค้านร่างผังเมืองฉบับใหม่ เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหารถติดในถนนสายย่อย น้ำท่วม ฝุ่นควัน และอื่น ๆ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เช่น การอนุญาตลดการบริการพื้นที่จอดรถในอาคารลง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนรถยนต์ออกมาจอดในซอยมากขึ้น จากเดิมที่จอดรถในอาคารมีไม่เพียงพออยู่แล้ว
“พวกเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูง จึงรับรู้ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ยังเป็นผังเมืองเดิม หลายครั้งที่การก่อสร้างอาคารสูงไม่ได้สำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อให้มีการทำก็เป้นการทำสิ่งแวดล้อมเป็นเท็จ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ดังนั้น จึงต้องลุกขึ้นมารวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ภาครัฐเห็นว่า ประชาชนที่เดือดร้อนมีจริงและกระจายไปทั่วหรืออาจจะทุกเขตในกรุงเทพฯ” ตัวแทนจากชุมชนมหาดเล็กหลวง 1-2 ระบุ
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบว่า การก่อสร้างอาคารมักมีการกระทำความผิดตามกฎหมายในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง ระหว่างดำเนินการ หรือแม้กระทั่งตอนเปิดใช้อาคารแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจัดการได้ ดังเช่นกณีอาคารซอยร่วมฤดี ที่มีการฟ้องร้องกันมาเป็นสิบปี แม้จะมีคำสั่งจากศาลให้ทำการรื้อถอน แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่สามารถบังคับคดีได้ จึงมองว่าเป็นเรื่องไม่ควรเกิดขึ้น เพราะรัฐควรมีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาชน กรณีการก่อสร้างตึกสูง รัฐควรเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้น เช่น เป็นตัวกลางทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทราบปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนแก้ไขปัญหาเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดเหตุจริงกลับไม่สามารถแก้ไขได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/