เข้าสภาฯ ไม่หวั่นถูกตีตรา ‘กอล์ฟ ธัญญ์วาริน’ ส.ส.กะเทยแต่งหญิง พร้อมดันสวัสดิการ LGBT
เวทีสานพลังการเมืองฯ ยุติเกลียดกลัว LGBT ‘ธัญญ์วาริน’ ส.ส.กะเทยแต่งหญิงคนแรก พร้อมเข้าสภาฯ ดันนโยบายสวัสดิการกลุ่มหลากหลายทางเพศ ระบุไม่กลัวถูกตีตรา ด้านนักวิชาการนิเทศศาสตร์ หนุนใช้คำนำหน้าชื่อตรงเพศทางเลือก
วันที่ 23 พ.ค. 2562 มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ, Asia Pacific Transgender Network, สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเวทีสานพลังการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง เนื่องในวันสากลเพื่อการยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา อาคารคณะนิเทศศาสตร์ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พอลลีน งามพริ้ง พรรคมหาชน เปิดเผยถึงการตัดสินใจเข้าสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า ก่อนหน้านั้นมีโอกาสได้พูดคุยกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่ได้รับการติติงเตือนกลับมา เลยตัดสินใจลงสมัครกับพรรคมหาชนแทน เพราะคิดว่า จะอยู่พรรคขนาดใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญ แต่คิดว่า จะทำให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ มีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ด้วยบุคลิกเป็นคนทำงานจริงจัง แม้จะไม่มีโอกาสได้รับตำแหน่งจริง ๆ ก็ตาม แต่การเสนอชื่อดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการในเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง
“กรณีนี้เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ อย่างน้อยถือเป็นการปูทางให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในอนาคตที่เป็น LGBT และเชื่อว่า มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีนายกรัฐมนตรีจากกลุ่มนี้ แม้จะไม่ใช่พอลลีนก็ตาม” พอลลีน กล่าว
ด้านธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ก่อนจะมาลงเล่นการเมือง เป็นคนทำภาพยนตร์ ซีรีส์ ละครโทรทัศน์มาก่อน แต่งานที่ทำให้คนรู้จัก คือ การทำภาพยนตร์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และต่อสู้ฟ้องศาลปกครองกรณีถูกห้ามฉาย แสดงให้เห็นว่า เราต่อสู้สองอย่างไปพร้อมกัน คือ ในแง่ความหลากหลายทางเพศ และการทำภาพยนตร์
“จากประสบการทำงาน ทั้งการต่อสู้ด้านศิลปวัฒนธรรม การสร้างความเข้าใจหลากหลายทางเพศสังคมไทย ถือเป็นตัวตนชัดเจน ไม่เคยคิดจะมาลงเล่นการเมือง จนมีพรรคอนาคตใหม่ จึงเริ่มสนใจ เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ทำงานและมีหนทางผลักดันสิ่งที่ทำให้ชัดเจนมากขึ้น”
ผู้แทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวต่อว่า เรามีทัศนคติที่ไม่ดีกับการเมืองอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอกับพรรคอนาคตใหม่ ที่มีนโยบายเห็นคนเท่าเทียมกัน จึงมาพิสูจน์เข้ารับสมัครเป็นส.ส.ว่า พรรคมองเราที่ความรู้ความสามารถจริงหรือไม่ และได้ข้อสรุปว่า ได้เห็นเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ได้มองเพียงอัตลักษณ์ทางเพศ แต่มองความรู้ความสามารถและประสบการณ์ โดยให้เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พรรคให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศจริง ๆ
“ถ้าเราทำงานในรัฐสภา เรามั่นใจว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ของเรา ซึ่งประชาชนให้มา ทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ผลักดันแก้กฎหมายและสวัสดิการของคนที่มีความหลากหลายทางเพศและทำงานด้านศิลปวัฒธนรรม”
ธัญญ์วาริน กล่าวถึงกระแสโจมตีการขออนุญาตกะเทยแต่งหญิงคนแรกเข้าสภาผู้แทนราษฎรว่า ความจริงแล้วการขอแต่งตัวตามอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ใช่การแต่งตัวโป๋ ยืนยันว่าเราเข้าใจกาลเทศะคืออะไร ซึ่งเมื่อได้ชุดทางการมาจึงลองใส่และโพสต์ภาพถ่ายลงเฟซบุ๊ก ได้รับคำชื่นชมว่า เรียบร้อยดี ดังนั้น สิ่งที่เรายื่นหนังสือขอไป ไม่ใช่การขอแต่งตัวเป็นนางโชว์ แต่แต่งตัวเป็นผู้หญิงถูกต้องตามกาลเทศะ ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจมาก
“ถ้าเราแต่งกายเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. ได้ ทุกคนไม่ว่าอยู่ในอาชีพอะไร อยู่ในประเทศไทย คนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งกายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นคิดว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานในเรื่องการสร้างความเข้าใจและความเท่าเทียมเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยให้เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะตนเอง แต่เป็นประโยชน์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นด้วย”
ส่วนเมื่อเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อีกหรือไม่นั้น ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เตรียมใจไว้แล้ว เพราะเราทำงานตรงนี้ มีชีวิตอยู่ตรงนี้ ถูก ตีตรา เลือกปฏิบัติมาโดยตลอด แต่เราไม่เคยโกรธแค้น เพราะทุกคนที่ตีตราเรา ไม่เข้าใจ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เรารู้ว่า นั่นคือผลผลิตของระบบการศึกษาไทย เราไม่เคยสอนให้คนเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศเลย ฉะนั้นจะหวังให้ทุกคนเข้าใจเลย จึงเป็นไปไม่ได้
ขณะที่ ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา รองคณบดีฝ่ายกายภาพและกิจการพิเศษคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงข้อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อ โดยงานวิจัยพบว่า คนที่มีการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าแล้วจะมีความเครียดน้อยกว่าคนไม่เปลี่ยนแปลงคำนำหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ และนำไปสู่ตัวบ่งชี้ทางสุขภาพดีขึ้นในทุกมิติ ดังนั้นมองการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะสุขภาพเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน หากสุขภาพจิตไม่ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อจึงไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคลอีกต่อไป แต่สังคมต้องใส่ใจด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/