คิดถึงความปลอดภัย ก่อนตัดสินใจ “เช่าเหมารถตู้ส่วนบุคคล”
"...ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้รวบรวมจากข่าวอุบัติเหตุรถตู้หมวดทะเบียน ฮ, น และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มทะเบียน 30 และทะเบียน 10 พบว่าในรอบปี 2561 มีอุบัติเหตุ 75 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 314 ราย และมีผู้เสียชีวิต 41 ราย ส่วนปี พ.ศ. 2562 ตั้งแต่ 1 มค.- 15 พค. พบมีอุบัติเหตุ 28 ครั้ง เสียชีวิต 27 รายและบาดเจ็บรวมทั้งหมด 126 ราย คิดเฉลี่ยเกิดอุบัติเหตุ 6 ครั้ง/เดือน เสียชีวิต 4 ราย/เดือนหรือสัปดาห์ละ 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บสูงถึง 25.8 ราย/เดือน "
จากกรณีรถตู้เช่าเหมาของแฟนบอลสิงห์ท่าเรือ ขับแซงแล้วหักหลบไม่ทันจนเกิดอุบัติเหตุชนประสานงารถพ่วงบรรทุกน้ำโมลาส บนถนนหมายเลข 228 ตอนชุมแพ-สีชมพู บริเวณปากทางบ้านโสกก้อง ต.วังหินลาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เจ็บ 3 ราย เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 พค. 2562 โดยรถตู้คันดังกล่าว ทะเบียน ฮท 9476 กรุงเทพมหานคร เช่าเหมาเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปเชียร์ทีมสิงห์ท่าเรือแข่งฟุตบอลกับทีม FC หนองบัวลำภู ในช่วงเวลา 17 น. (15 พค.)https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2516570
ข้อมูลเบื้องต้นจากพื้นที่ ระบุว่า GPS รถพ่วงแสดงความเร็ว 62 km/h ซึ่งเกินความกฎหมายกำหนด (ในเขตเมือง 45 km/h และนอกเขตเมือง 60 km/h) แต่ที่สำคัญคือรถตู้ขับแซงรถคันอื่น ๆ แล้วหักหลบไม่ทันทำให้เกิดการชนประสานงา ประกอบกับผู้โดยสารก็ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น โดยมีผู้โดยสารกระเด็นออกมาเสียชีวิตนอกตัวรถด้วย
ประเด็นสำคัญคือ รถตู้คันดังกล่าวทะเบียน ฮท 9476 ซึ่งเป็นรถส่วนบุคคลแต่ถูกนำมาเช่าเหมาให้บริการ ซึ่งตามกฎหมายต้องใช้รถตู้สาธารณะไม่ประจำทาง ทะเบียน 30 เป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงจะพบว่าผู้ใช้บริการบางส่วนมีความนิยมเช่าเหมารถตู้บุคคลเพราะสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องติด GPS กำกับความเร็วและกำกับชั่วโมงการทำงานเหมือนรถตู้หมวด 30 ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเดินทาง โดยเฉพาะการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด การขับต่อเนื่องคนเดียวจนเสี่ยงต่อความอ่อนล้าหลับใน นอกจากนี้ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงเมื่อเกิดเหตุ อาจจะเกิดปัญหาจากการช่วยเหลือเยียวยาเพราะส่วนใหญ่จะมีเฉพาะภาคบังคับ ไม่ได้ทำประกันภาคสมัครใจทำให้วงเงินคุ้มครองมีจำกัด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็มีเหตุการณ์รถตู้ส่วนบุคคลทะเบียน ฮท 8263 กรุงเทพมหานคร ที่กรมเจ้าท่าเช่าเหมาไปปฏิบัติงานที่จังหวัดภูเก็ต เกิดตกร่องกลางถนนและชนต้นไม้จนพังเสียหายเกือบทั้งคัน บริเวณแยกทางเข้าวัดแหลมปอ ถนนเอเชีย 41 ขาขึ้น กทม. ต.สวี อ.สวี จ.ชุมพร โดยมีผู้เสียชีวิต 6 รายและบาดเจ็บสาหัส 5 ราย สันนิษฐานเบื้องต้นคนขับหลับในหรือยางระเบิด https://www.thairath.co.th/news/local/south/1503795
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้รวบรวมจากข่าวอุบัติเหตุรถตู้หมวดทะเบียน ฮ, น และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มทะเบียน 30 และทะเบียน 10 พบว่าในรอบปี 2561 มีอุบัติเหตุ 75 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 314 ราย และมีผู้เสียชีวิต 41 ราย ส่วนปี พ.ศ. 2562 ตั้งแต่ 1 มค.- 15 พค. พบมีอุบัติเหตุ 28 ครั้ง เสียชีวิต 27 รายและบาดเจ็บรวมทั้งหมด 126 ราย คิดเฉลี่ยเกิดอุบัติเหตุ 6 ครั้ง/เดือน เสียชีวิต 4 ราย/เดือนหรือสัปดาห์ละ 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บสูงถึง 25.8 ราย/เดือน (ตามตารางที่ 1)
จะเห็นได้ว่าในขณะที่อุบัติเหตุรถตู้สาธารณะ (ป้ายเหลือง) ทั้งรถตู้ประจำทาง (หมวด 10) และรถตู้ไม่ประจำทาง (หมวด 30) มีแนวโน้มอุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจนหลังจากที่มีมาตรการติด GPS ซึ่งช่วยกำกับเรื่องความเร็วและชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งมาตรการให้คาดเข็มขัดนิรภัย มีการตรวจสภาพรถทุก 6 เดือนและคนขับถูกเข้มงวดเรื่องใบขับขี่สาธารณะ แต่รถตู้ส่วนบุคคลที่มีประชาชนบางส่วนนิยมเช่าเหมาเดินทางเพราะไม่ถูกควบคุมความเร็วและความเสี่ยงอื่น ๆ กลายเป็นช่องว่างให้เกิดความเสี่ยงและความสูญเสียเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางแบบเช่าเหมารถตู้เดินทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณามาตรการความปลอดภัยกับรถตู้ส่วนบุคคล ดังต่อไปนี้
1.กรมการขนส่งทางบก ควรพิจารณา
1.1 เข้มงวดกับผู้ยื่นขอจดทะเบียนรถตู้ส่วนบุคคล กรณีที่นำรถไปใช้เช่าเหมาหรือหารายได้ จะมีระบบบันทึกความผิดและมีบทลงโทษชัดเจน เช่น การเพิกถอนป้ายทะเบียน ฯลฯ
1.2 เพิ่มการตรวจสอบรถตู้ส่วนบุคคลที่วิ่งบนถนน ทั้งตรวจสอบการใช้ความเร็วและการใช้รถผิดประเภท พร้อมบันทึกกรณีที่มีความผิด
1.3 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ความเสี่ยงจากการเลือกเช่าเหมารถตู้ส่วนบุคคล พร้อมทั้งส่งเสริมประชาชนให้ช่วยแจ้งกรณีที่พบรถตู้ส่วนบุคคลมีการให้บริการเช่าเหมา
1.4 กรณีมีอุบัติเหตุรถตู้ส่วนบุคคล ควรมีการสอบสวนสาเหตุอุบัติเหตุ รวมทั้งตรวจสอบว่ามีการเช่าเหมาเพื่อเป็นการหารายได้ด้วยหรือไม่ เพื่อนำมาใช้ทบทวนมาตรการที่มีอยู่
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดตรวจจับความเร็วและสุ่มตรวจรถตู้ส่วนบุคคลที่วิ่งบนถนนเพื่อตรวจสอบว่ามีการลักลอบนำรถมาวิ่งหารายได้หรือไม่ กรณีตรวจพบใช้รถผิดประเภท นอกจากการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ควรแจ้งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อบันทึกประวัติและถ้ายังคงลักลอบนำรถมาวิ่งหารายได้ก็ควรพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
3.หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ต่าง ๆ
3.1 เลือกใช้รถตู้สาธารณะป้ายเหลือง (หมวด 30) แทนการเลือกรถตู้ส่วนบุคคล เนื่องจากมีความปลอดภัยกว่าเพราะมีระบบกำกับความเสี่ยง ได้แก่ ติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็วและชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งการคาดเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่งขณะที่เดินทาง
ในกรณีเหตุการณ์นี้ ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยและสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ควรพิจารณาหลักเกณฑ์สำหรับการเดินทางที่ปลอดภัยเพื่อไปเชียร์ฟุตบอลที่มีการแข่งขันข้ามจังหวัดอยู่ตลอด เช่น การเลือกใช้รถตู้เช่าเหมาต้องเป็นรถสาธารณะ (ป้ายเหลือง หมวด 30 เท่านั้น)
3.2 กรณีจัดซื้อรถตู้ส่วนบุคคลมาให้บริการเจ้าหน้าที่/พนักงาน ก็ควรมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการควบคุมความเร็ว ชั่วโมงการทำงานและพฤติกรรมเสี่ยงของคนขับอื่น ๆ เช่น ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์การออกปฏิบัติงาน ตรวจสุขภาพประจำปี พขร. ฯลฯ
การเลือกเช่าเหมาเดินทางด้วยรถตู้ส่วนบุคคลยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนบางส่วน ด้วยเหตุผลสำคัญคือขับเร็วโดยไม่ต้องถูกควบคุมกำกับด้วยระบบ GPS แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องแลกมาคือความเสี่ยงในการเดินทาง โดยเฉพาะการขับเร็ว เร่งทำเวลาและความอ่อนล้าหลับใน ดังนั้น การมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคล จะทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการเช่าเหมาเดินทางด้วยรถตู้สาธารณะป้ายเหลืองที่มีระบบกำกับดูแลความเสี่ยงในการเดินทาง ส่งผลให้ประชาชนที่ใช้บริการเช่าเหมารถตู้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
ภาพประกอบ:https://www.cartrack.co.th
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/