การตรวจ-เรียกดูใบขับขี่ของ ตร.ทำได้ตลอดเวลาหรือไม่?
"...การขอดูหรือการตรวจค้นได้ทุกเวลาหรือไม่ นั้นพบว่า ในคำพิพากษาพิพากษาว่าการตรวจค้นนั้นไม่ใช่ตรวจค้นได้ทุกเวลา การตรวจค้นได้ต้องเข้า ป.วิอาญา มาตรา 93 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด"ดังนั้น การตรวจค้น คือ การขอดูใบอนุญาตใบขับขี่ได้ตลอดเวลา คือ ผู้ตรวจที่เป็นข้าราชการขนส่ง ส่วนการขอใบขับขี่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูได้ต้องมีกรณีที่มีเหตุอันสงสัยว่าจะมีกระทำผิด..."
จากปัญหาที่ผ่านมา กับการเรียกดูใบขับขี่หรือการตรวจใบขับขี่ ผมได้ค้นคว้าศึกษา ตัวบทกฎหมาย การพูดคุยสนทนา รวมไปถึงดูคำพิพากษา พบว่า ผู้ทำหน้าที่ตรวจดูใบอนุญาต ตามคำนิยาม คือ ผู้ตรวจ ซึ่งอยู่ในคำนิยามของกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522
คำนิยาม มาตรา 4 พ.ร.บ. จราจรทางบก 2522
“ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ผู้ตรวจการตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและผู้ตรวจการตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์”
คำนิยาม มาตรา 4 พ.ร.บ. รถยนต์ 2522
“ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการตามพระราชบัญญัตินี้”
คำนิยาม มาตรา 4 พ.ร.บ. ขนส่งทางบก 2522
“ผู้ตรวจการ” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการตามพระราชบัญญัตินี้
คำนิยามนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจตรวจใบอนุญาตใบขับขี่ คือ ผู้ตรวจการ ดังนั้น ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องแสดงใบอนุญาตใบขับขี่ตลอดเวลา ตามพระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522
“ มาตรา 42 ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถและต้องมีใบอนุญาตขับรถและสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถในขณะขับหรือควบคุมผู้ฝึกหัดขับรถเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที เว้นแต่ผู้ฝึกหัดขับรถยนต์ตามมาตรา 57
ในกรณีที่ผู้ขับรถเป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ผู้ขับรถซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นจะใช้ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 42 ทวิ ขับรถในราชอาณาจักรก็ได้ และในกรณีนี้จะต้องมีใบอนุญาตขับรถดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที”
“มาตรา 66 ผู้ใดขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ และสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”
ประเด็นปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเรียกตรวจใบขับขี่ได้หรือไม่
เมื่อศึกษาเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555
พนักงานอัยการจังหวัดอ่างทองโจทก์
นายพงษ์พันธุ์ พรรณผิวจำเลย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 93 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 136, 138 วรรคสอง, 367
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 136, 138 วรรคสอง, 367
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 138 วรรคสอง, 367 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท ฐานไม่ยอมบอกชื่อหรือที่อยู่แก่เจ้าพนักงานซึ่งถามเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 4 เดือน และปรับ 5,100 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในเบื้องต้นก่อนว่า สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์ค้นตัวจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าสิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์ค้นตัวจำเลยในที่สาธารณสถาน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด" แสดงว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว คดีนี้ได้ความจากคำเบิกความของสิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์ว่า บริเวณหลังซอยโรงถ่านมีเหตุอาชญากรรมประเภทความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พระราชบัญญัติอาวุธปืน และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นประจำ มีตู้แดงของสถานีตำรวจภูธรเมืองอ่างทองติดตั้งไว้ภายในซอยดังกล่าว วันเกิดเหตุเข้าไปตรวจหลังซอยโรงถ่านแล้วไม่พบความผิดปกติ เมื่อลงลายมือชื่อที่ตู้แดงแล้วได้ขับรถจักรยานยนต์ออกจากซอยดังกล่าวทางด้านท้ายซอย เมื่อมาถึงถนนซึ่งมีสนามเด็กเล่นและห้องน้ำเก่าตั้งอยู่ พบจำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนน จึงเข้าทำการตรวจค้น เมื่อพิจารณาภาพถ่ายและแผนที่บริเวณสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าจุดที่จำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนเป็นบริเวณหน้าสนามเด็กเล่นอยู่บนถนนสุทธาวาส ส่วนซอยโรงถ่านแยกจากถนนสุทธาวาสไปทางคลองวัดโล่ห์หรือคลองชลประทาน ถนนหลังซอยโรงถ่านอยู่ริมคลองวัดโล่ห์หรือคลองชลประทาน แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาส ไม่ได้อยู่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีท่าทางพิรุธ นอกจากจำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนสุทธาวาสเท่านั้น ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้โดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ชอบแล้ว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่าน และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(ประยูร ณ ระนอง-พิศาล อัยยะวรากูล-อดิศักดิ์ ปัตรวลี)
ศาลจังหวัดอ่างทอง - นางสาวนพรัตน์ กะลัมพะเหติ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายเมธา ธรรมพนิชวัฒน์
แหล่งที่มากองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
วิเคราะห์ในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบขับขี่
เมื่อดูจากคำพิพากษาดังกล่าว การขอดูหรือการตรวจค้นได้ทุกเวลาหรือไม่ นั้นพบว่า ในคำพิพากษาพิพากษาว่าการตรวจค้นนั้นไม่ใช่ตรวจค้นได้ทุกเวลา การตรวจค้นได้ต้องเข้า ป.วิอาญา มาตรา 93 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด"
ดังนั้น การตรวจค้น คือ การขอดูใบอนุญาตใบขับขี่ได้ตลอดเวลา คือ ผู้ตรวจที่เป็นข้าราชการขนส่ง ส่วนการขอใบขับขี่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูได้ต้องมีกรณีที่มีเหตุอันสงสัยว่าจะมีกระทำผิด
แต่อย่างไรก็ตามผมยังเข้าใจกฎหมายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเป็นผู้ดูแลกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ก็ต้องมีอำนาจตามกฎหมายที่ ต้องตรวจดูใบขับขี่ เพราะมีการตั้งด่านเพื่อดูความปลอดภัยต่างๆและในคำพิพากษานั้นมันเป็นกรณีที่เข้าไปตรวจค้นโดยที่ไม่มีการตั้งด่าน จุดตรวจ จุดสกัดตามกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ที่มีคำนิยามแตกต่างกันไป โดยแบ่งความหมายของด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด ไว้อย่างชัดเจน
1. ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ (ความหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522) หรือทางหลวง (ความหมายตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535) โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี
2. จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ หรือทางหลวงในกรณีปกติเป็นการชั่วคราว โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว จะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที
3. จุดสกัด หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว และจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว
4. การจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด คือ ห้ามมิให้ตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด ในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง แต่ยกเว้นตามด้านล่าง
5. ด่านตรวจ การจัดตั้งด่านตรวจจะกระทำได้ ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม.หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน.แล้วแต่กรณี
6. จุดตรวจ การตั้งจุดตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้น ผบก. ขึ้นไป โดยพิจารณาว่าเป็นกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง
7. จุดสกัด จะตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้รักษาการแทนขึ้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาเวลาเท่าที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวยังคงมีอยู่เท่านั้น
8. การปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับตั้งแต่รองสารวัตรขึ้นไปเป็นหัวหน้า และจะต้องแต่งเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
9. การปฏิบัติในการตรวจค้น จับกุม ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด
10. ที่ด่านหรือจุดตรวจ ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า “หยุด” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ จะต้องมีในการติดตั้งป้ายและเครื่องหมายจราจร
11. ในเวลากลางคืน จะต้องมีแสงไปส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ก่อนถึงจุดตรวจ และให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจดังกล่าว นอกจากนั้นให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับการ โทร…” (ให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์ของ ผบก.ไว้) ข้อความดังกล่าวข้างต้นให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร
12. ให้ หน.สน./สภ. เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิด ที่ใช้สำหรับการตั้งจุดตรวจไว้อย่างครบถ้วน และพร้อมใช้การได้ตลอดเวลา
13. การตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด ให้ทุกหน่วยประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยใกล้เคียงชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกัน โดยให้ ผบก.น. ภ.จว. ทล. และ จร. เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดแผนการตั้งจุดตรวจในพื้นที่รับผิดชอบ และ รอง ผบช.น.ภาค 1-9 ศชต. และ ก. ที่รับผิดชอบงานจราจร เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดแผนการตั้งจุดตรวจในภาพรวมของหน่วย เพื่อมิให้เกิดการซ้ำซ้อน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและเกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน
สรุป โดยหลักทั่วไปการดูใบขับขี่รถยนต์ คือ ผู้ตรวจ ตามกฎหมายว่าด้วยขนส่งและกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ แต่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูได้ อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี
1.กรณีเหตุสงสัยว่ามีการกระทำความผิด ตาม ป.วิอาญา มาตรา 93 ประกอบคำพิพากษาศาลฎีา ที่ ที่ 8722/2555
2.กรณีที่มีการตั้งด่านตรวจ
สิทธิกร ศักดิ์แสง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก grandprix.co.th