ป.ป.ช.เผยคะแนนความโปร่งใสองค์กรปกครองท้องถิ่นเกือบ 8,000 แห่ง สอบตกกว่า 2 พัน
ป.ป.ช. แพร่ผลคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,851 แห่ง พบมี 555 แห่ง ได้ระดับ A 1,476 ระดับ B 1,684 แห่ง ผ่านมาตรฐานได้ C อึ้ง! มีถึง 2,064 แห่งสอบตกได้คะแนน F
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงถึงผลคะแนนที่สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความตื่นตัวในการปรับปรุงให้หน่วยงานมีระบบการทำงานที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส พร้อมทั้งมีมาตรการในการปฏิบัติงานที่ได้รับการยอมรับจากสังคมให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561- 2580) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดปี พ.ศ. 2561 – 2565 ว่าร้อยละ 80 ของหน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมิน ITA ต้องมีคะแนนการประเมิน 85 คะแนนขึ้นไป
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2561 โดยใช้เกณฑ์พิจารณา 10 ตัวชี้วัด คือ 1) การปฏิบัติหน้าที่ 2) การใช้งบประมาณ 3) การใช้อำนาจ 4) การใช้ทรัพย์สินของราชการ 5) การแก้ไขปัญหาการทุจริต 6) คุณภาพ การดำเนินงาน 7) ประสิทธิภาพการสื่อสาร 8) การปรับปรุงระบบการทำงาน 9) การเปิดเผยข้อมูล 10) การป้องกันการทุจริต สำหรับเครื่องมือในการเก็บข้อมูลใช้ 3 เครื่องมือ คือ 1) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้เสียภายใน 2) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้เสียภายนอก 3) แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ทั้งนี้ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าประเมินจำนวน 7,851หน่วยงาน จำแนกเป็น 9 กลุ่มจังหวัด เพื่อให้สามารถดำเนินการประเมินได้พร้อมกันทั่วประเทศ และกำกับติดตามการประเมินให้เป็นตามกรอบระยะเวลาและเป็นมาตรฐานเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
กลุ่ม 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง รวม 9 จังหวัด มี 720 แห่ง
กลุ่ม 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี (รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (เมืองพัทยา)) ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว รวม 8 จังหวัด มี 584 แห่ง
กลุ่ม 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ รวม 8 จังหวัด มี 1,467 แห่ง
กลุ่ม 4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี รวม 12 จังหวัด มี 1,500 แห่ง
กลุ่ม 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน รวม 8 จังหวัด มี 822 แห่ง
กลุ่ม 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี รวม 9 จังหวัด มี 87 แห่ง
กลุ่ม 7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี รวม 8 จังหวัด มี 698 แห่ง
กลุ่ม 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี รวม 7 จังหวัด มี 566 แห่ง
กลุ่ม 9 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 624 แห่ง ในจังหวัดตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล รวม 7 จังหวัด มี 624 แห่ง
สำหรับในส่วนของผู้ประเมิน เป็นสถาบันการศึกษาเข้ามาทำหน้าที่ประเมิน ประกอบด้วย โรงเรียนนายร้อยตำรวจประเมินในกลุ่ม 1 และกลุ่ม 7 มหาวิทยาลัยขอนแก่นประเมินในกลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม4 และกลุ่ม6 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประเมินในกลุ่ม 5 และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ประเมินในกลุ่ม 8 และกลุ่ม 9
ผลการประเมิน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 61.11 คะแนน โดยจำแนกเป็น 6 ระดับ ดังนี้
1. ระดับ AA (Excellence) 18 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 0.23 ประกอบด้วย (1) เทศบาลเมืองพนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี 97.31 คะแนน (2) เทศบาลตำบลกุฏโง้ง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี 97.61 คะแนน (3) เทศบาลตำบลแสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ 95.39 คะแนน (4) เทศบาลตำบลอุดมธัญญา อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ 96.78 คะแนน (5) เทศบาลตำบลนาม่อง อ.กุดบาก จ.สกลนคร 96.66 คะแนน (6) เทศบาลตำบลโคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร 96.65 คะแนน (7) เทศบาลตำบลกลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย 95.88 คะแนน (8) เทศบาลตำบลบุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 96.67 คะแนน (9) อบต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 97.72 คะแนน (10) อบต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา 96.21 คะแนน (11) อบต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี 95.76 คะแนน (12) อบต.สุวรรณคาม อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร 95.58 คะแนน (13) อบต.หนองปลิง อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร 97.75 คะแนน (14) อบต.ม่วง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร 98.49 คะแนน (15) อบต.อินทร์แปลง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 95.50 คะแนน (16) อบต.จอมพระ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 98.20 คะแนน (17) อบต.เป็นสุข อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ 96.14 คะแนน (18) อบต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 95.51 คะแนน
2. ระดับ A (Very Good) 555 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 7.07
3. ระดับ B (Good) 1,476 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 18.80
4. ระดับ C (Fair) 1,684 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 21.45
5. ระดับ D (Poor) 1,373 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 17.49
6. ระดับ E (Extremely Poor) 681 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 8.67
7. ระดับ F (Fail) 2,064 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 26.29
อนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริม พัฒนาและยกระดับค่าคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต จึงควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นใน 10 ด้านดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของ การเปิดเผยข้อมูลให้เข้าถึงง่าย ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ผู้บริหารและบุคลากรองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีเจตจำนงและบริหารจัดการโปร่งใส คำนึงถึงความคุ้มค่า มุ่งประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง ไม่เอื้อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ตลอดจนการปฎิบัติต่อผู้รับบริการอย่างเท่าเทียม