'250 ส.ว.'หน้าที่และอำนาจในระยะเปลี่ยนผ่าน
"...ส่วนการให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลเข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เดิมทีไม่ได้บัญญัติอยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญแต่ต้น แต่เกิดจากมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีความเห็นตรงกันโดยสรุปว่า ไหน ๆ จะให้ช่วง 5 ปีของอายุสมาชิกวุฒิสภาชุดเฉพาะกาลเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญแล้ว แทนจะให้สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้คอยแต่ติดตามการปฏิรูปประเทศและการเป็นกลไกยับยั้งวิกฤตตามอำนาจหน้าที่ 3 ประการดังที่กล่าวมา ซึ่งล้วนเป็นกลางทางและปลายทาง หากจะเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้อีกสักประการหนึ่งโดยให้มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศด้วย ให้เป็นการมีส่วนร่วมเสียตั้งแต่ต้นทางเลย จะดีกว่าหรือไม่..."
สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญจำนวนทั้งสิ้น 250 คนจาก 3 ประเภทเป็น 'ผู้แทนปวงชนชาวไทย' เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คนจาก 2 ประเภท มีหน้าที่ต้องปฏิบัติและมีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งในบททั่วไปและบทเฉพาะกาล
หน้าที่และอำนาจตามบทเฉพาะกาลเป็นหน้าที่พิเศษที่ได้รับการบัญญัติเพิ่มขึ้นเพื่อให้วุฒิสภาเป็นหนึ่งในกลไกป้องกันไม่ให้บ้านเมืองกลับไปสู่วิกฤตทางการเมืองเดิมก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557
ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่เพียงร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
อันที่จริง หน้าที่ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีนี้ตามมาภายหลัง โดยเป็นผลมาจากผลการออกเสียงประชามติใน 'คำถามเพิ่มเติม' ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ทำให้ต้องมีกระบวนการปรับแก้ร่่างรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560
สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมีหน้าที่หลักเฉพาะกาลอยู่ก่อนหน้าแล้วถึง 3 ประการ
ประการที่ 1 ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีจะต้องรายงานความคืบหน้าทุก 3 เดือน
ประการที่ 2 ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตั้งแต่ต้นในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา แทนที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้เสร็จก่อนแล้วจึงค่อยส่งมาที่วุฒิสภาเหมือนร่างกฎหมายทั่วไปที่เคยเป็นมา
ประการที่ 3 ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญเฉพาะบางลักษณะซึ่งสภาใดสภาหนึ่งยับยั้งไว้และพ้นกำหนดเวลา 180 วัน หรือ 10 วันในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายการเงิน แทนที่จะให้เป็นอำนาจเต็มของสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวเท่านั้น
เฉพาะประการที่ 1 และ 2 นี่คือเอกลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศที่มีกำหนดไว้โดยเฉพาะให้ทุกรัฐบาลที่เข้ามาต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศตามแผนปฏิรูปประเทศรวม 12 ด้าน โดยในปัจจุบันแผน 10 ด้านแล้วเสร็จและประกาศราชกิจจานุเบกษาไปแล้วกว่า 1 ปี ส่วนอีก 2 ด้านคือด้านการศึกษาและด้านตำรวจนั้นตัวร่างกฎหมายหลักเสร็จแล้วในชั้นกฤษฎีกา ทั้งหมดเหลือแต่การทำตามแผน สมาชิกวุฒิสภาชุดเฉพาะกาลนี้ได้รับการออกแบบไว้ให้เป็นคล้าย ๆ 'องครักษ์พิทักษ์การปฎิรูปประเทศ' ทั้งติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบ และอาจถึงการมีส่วนในกระบวนการกล่าวโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม รวมทั้งเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศผ่านช่องทางพิเศษโดยร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ เพราะการปฎิรูปประเทศคือการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศที่สมุฏฐาน
ส่วนประการที่ 3 นี่ก็สำคัญมากเช่นกัน แต่แทบไม่ค่อยได้รับการพูดถึง
ทั้ง ๆ ที่เป็นกลไกสำคัญที่จะมีส่วนช่วยระงับวิกฤตในลักษณะที่เคยเกิดขึ้นก่อน 22 พ.ค. 2557 ได้ หากจะเกิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต
นั่นคือโดยปกติแล้วเมื่อร่างกฎหมายใดถูกยับยั้ง ไม่ว่าเพราะวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือของคณะกรรมาธิการร่วม โดยปกติแล้วร่างกฎหมายนั้นยังคงอยู่ ไม่ตกไป เพียงแค่อยู่ระหว่างถูกยับยั้งเท่านั้น เพราะเมื่อพ้น 180 วัน หรือ 10 วันในกรณีเป็นร่างกฎหมายการเงิน สภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวสามารถหยิบยกกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ทันที และมีมติชี้ขาดได้โดยไม่ต้องฟังเสียงวุฒิสภาอีก พูดภาษาชาวบ้านคือร่่างกฎหมายปัญหายังไม่ตาย แค่สลบไป สภาผู้แทนราษฎรสามารถปลุกชีวิตให้ฟื้นขึ้นมาได้
คงยังจำร่างกฎหมาย 'นิรโทษกรรมสุดซอย' ต้นเหตุของการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 กันได้นะ ข้างนอกรัฐสภา - มีมวลชนชุมนุมคัดค้าน ข้างในรัฐสภา - สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ผ่านวุฒิสภาลงมติยับยั้ง แต่ไม่จบ เพราะร่างกฎหมายยังไม่ตาย วุฒิสภาทำได้แค่เพียงให้สลบไปชั่วคราวเท่านั้น เมื่อพ้น 180 วันแล้วสภาผู้แทนราษฎรสามารถปลุกให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตใหม่โดยหยิบยกขึ้นพิจารณาใหม่โดยสภาเดียวได้ทันที
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผู้ชุมนุมนอกรัฐสภาไม่สลายตัวทันที เพราะไม่ไว้ใจเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่มีมติผ่านร่างกฎหมายนั้นออกมา
บทเฉพาะกาลได้ปรับเปลี่ยนเป็นว่าให้วุฒิสภาชุดเฉพาะกาลเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาด้วย ถ้าจะมีมติให้ร่างกฎหมายปัญหานั้นผ่านก็ต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วม 2 สภา
อำนาจหน้าที่สำคัญประการที่ 3 นี้ไม่ได้ใช้กับร่างกฎหมายทุกฉบับ ใช้เฉพาะแต่กับร่างกฎหมาย 2 ลักษณะเท่านั้น คือ
1. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ
2. ร่างกฎหมายที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง
เฉพาะข้อ 2 ร่างกฎหมายใดจะเข้าข่ายนี้ วุฒิสภาต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่
พูดง่าย ๆ รวม ๆ ภาษาชาวบ้านได้ว่าให้เข้ามามีส่วนร่วมชี้ขาดร่างกฎหมายที่จะทำให้คนผิดไม่ต้องรับโทษ หรือร่างกฎหมายที่ทำลายกระบวนการยุติธรรม
นี่ก็เป็นการป้องกันปัญหาที่เคยเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อ 5 - 6 ปีที่ผ่านมา
อย่างน้อยก็จำกัดวงให้ปัญหายังมีทางแก้ไขในระบบรัฐสภามากขึ้นกว่าเดิม
ทั้ง 3 ประการนี้ มีผลบังคับเฉพาะอายุของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 5 ปีเท่านั้น
ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559
ด้วยเสียงข้างมาก 16,820,402 เสียง หรือเท่ากับร้อยละ 61.35 ของจำนวนผู้มาออกเสียงทั้งหมด
_______________
ส่วนการให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลเข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เดิมทีไม่ได้บัญญัติอยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญแต่ต้น แต่เกิดจากมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีความเห็นตรงกันโดยสรุปว่า ไหน ๆ จะให้ช่วง 5 ปีของอายุสมาชิกวุฒิสภาชุดเฉพาะกาลเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญแล้ว แทนจะให้สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้คอยแต่ติดตามการปฏิรูปประเทศและการเป็นกลไกยับยั้งวิกฤตตามอำนาจหน้าที่ 3 ประการดังที่กล่าวมา ซึ่งล้วนเป็นกลางทางและปลายทาง หากจะเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้อีกสักประการหนึ่งโดยให้มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศด้วย ให้เป็นการมีส่วนร่วมเสียตั้งแต่ต้นทางเลย จะดีกว่าหรือไม่
อย่างไรก็ตาม บทบาทชี้ขาดในการเลือกนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร เพราะหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 376 คนขึ้นไปจากสมาชิกทั้งหมด 500 คนลงมติไปในทิศทางเดียวกัน เสียงของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนก็ไม่มีความหมาย
ทุกคนรู้อยู่ว่านี่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน
อย่ากระนั้นเลย ถามประชาชนตรง ๆ เลยจะถูกต้องที่สุด
จึงเป็นที่มาของคำถามเพิ่มเติมในการออกเสียงประชามติเมื่อ 7 ส.ค. 2559
"ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตอบคำถามนี้มาแล้วในการลงประชามติว่า
"เห็นด้วย"
ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 15,132,050 เสียง หรือเท่ากับร้อยละ 58.07 ของจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติทั้งหมด
_______________
หน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลจึงมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559
เพื่อให้การปฏิรูปประเทศทุกด้านเดินหน้าตามแผน
หน้าที่และอำนาจนี้จะคงอยู่เพียงชั่วคราว
สวิตช์ส.ว.ชุดเฉพาะกาลที่ได้เปิดแล้วในวันนี้ เมื่อครบเวลา 5 ปีก็จะปิดเองโดยอัตโนมัติ
นายคำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
17 พ.ค. 2562
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก BBC