สูตรภาคเเรกใช้ไม่ได้ ! ‘แรงเงา 2’ บทโทรทัศน์ทิ้ง ‘ราก’ งานประพันธ์
"...สูตรสำเร็จเดิมที่เคยทำให้ ‘แรงเงา’ ภาคแรกโด่งดัง กลับนำมาใช้ไม่ได้ในภาคสอง แม้ผู้เขียนบทโทรทัศน์ พยายามนำเสนอการใช้โซเซียลมีเดียในมุมที่แตกต่าง รวมถึงใส่ข้อมูลเสียดสีสังคมด้านใหม่ ๆ เข้าไปเพิ่มเติมก็ตาม หากไม่เป็นผล..."
หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์วงการละครไทย หลายต่อหลายเรื่องที่เคยโด่งดังในภาคแรก มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในภาค 2 เท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นเรื่องอะไรนั้น คงไม่ต้องหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง แต่พิสูจน์แล้วว่า เหตุผลหนึ่งเกิดจากผู้ชมคาดหวังมากเกินไปว่า ละครภาคต่อจะต้องมีอะไรแปลกใหม่ ตื่นเต้น และเร้าอารมณ์ มากกว่าภาคแรก
เหมือนกับ ‘แรงเงา 2’ (แรงเงา แรงแค้น) จากบทประพันธ์ของ ‘นันทนา วีระชน’ นักเขียนนวนิยายชื่อดัง บทโทรทัศน์โดย Anonymous ผลิตโดย บ.บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เป็นละครอีกหนึ่งเรื่องที่เคยโด่งดังมากในอดีต
จำได้ว่า วันที่ออกอากาศละครภาคเเรก ทุกบททุกตอนได้รับความสนใจและกล่าวถึงจากผู้ชมมากมาย ถึงขนาดถนนทุกสายในกรุงเทพฯ เวลานั้นโล่งอย่างไม่น่าเชื่อ
ตามมาด้วยประโยค “วันแรงเงาแห่งชาติ” ท็อปฮิตติดปากทั้งบ้านทั้งเมือง ด้วยสูตรการนำเสนอหยิบนำเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนั้นเข้าไปสอดแทรกอยู่ในบทโทรทัศน์ โดยเฉพาะการใช้โซเซียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นอะไรแปลกใหม่ ตื้นเต้น และเร้าอารมณ์ ทำให้ผู้ชมติดตรึงไปกับเนื้อหาในละครนั้น
ทว่า สูตรสำเร็จเดิมที่เคยทำให้ ‘แรงเงา’ ภาคแรกโด่งดัง กลับนำมาใช้ไม่ได้ในภาคสอง แม้ผู้เขียนบทโทรทัศน์ พยายามนำเสนอการใช้โซเซียลมีเดียในมุมที่แตกต่าง รวมถึงใส่ข้อมูลเสียดสีสังคมด้านใหม่ ๆ เข้าไปเพิ่มเติมก็ตาม หากไม่เป็นผล
ดังเช่น ฉากนพนภาออกรายการ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในทีวีดิจิทัลของโลกความเป็นจริง
แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมมีความคาดหวังมากล้น...ยิ่งละครเคยโด่งดังมาก...ความคาดหวังในภาคต่อย่อมมากตามไปด้วย สูตรสำเร็จเดิมจึงใช้ไม่ได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนเร็วกว่า 5G อีกต่อไป
นี่คือการวางหมากผิดของผู้จัดละคร!
ยิ่งใครได้อ่านนวนิยายต้นฉบับ ‘แรงเงา 2’ ที่มีทั้งหมด 20 ตอน เชื่อว่า ผู้อ่านบางคนอาจสบถอยู่ในใจ เพราะต้นตำรับเขียนไว้อย่างสมเหตุสมผล งดงาม ไม่ขัดหูขัดตาเหมือนอย่างในละคร
เปิดฉากแรกในงานวิวาห์ของมุนินทร์กับวีกิจ จากนั้นทั้งสองคนขับรถชน ‘ฤทัย’ เด็กสาวแสนสวย ขณะกำลังกลับบ้านหลังเสร็จสิ้นงานแห่งความสุข
ฤทัย ถูกปลุกชีวิตขึ้นให้เป็นตัวจุดชนวนปัญหาให้เกิดขึ้นของความรักระหว่างมุนินทร์กับวีกิจ บานปลายกลายเป็นพิษรักแรงหึง จนเกิดเป็นสงครามระหว่างสองหญิงกับหนึ่งชาย โดยมีคำว่า “ครอบครัว” เป็นตัวประกัน
มุนินทร์ เป็นผู้เคยลงสนาม (แสร้ง) แย่งชิง สามีของนพนภา ในภาคแรก จนได้รับชัยชนะ มาวันนี้ หล่อนกลับต้องถูกฤทัยแย่งชิงสามีของตนเองไป
กรรมของ ‘มุนินทร์’ ที่ทำไว้กับ ‘นพนภา’ กลายเป็นแรงเงาตามตัว
หาก ‘นพนภา’ บนรถเข็น เฝ้าเตือนหล่อนว่า “ครอบครัวต้องรักษา...เพราะเป็นหน้าที่” กลายเป็นบทสรุปและแก่นแท้ของ ‘แรงเงา 2’ ที่ผู้ประพันธ์ฝากไว้ในงานเขียน และเชื่อว่า คงคาดหวังอย่างยิ่งที่จะได้เห็นอยู่ในละครเรื่องนี้ แต่ยังสัมผัสไม่ได้เลยว่า จะปรากฎหรือแฝงไว้อยู่ส่วนใด
เพราะเท่าที่รับชม เรื่องพยายามพาผู้ชมย้อนความหลังไปยังอดีต วกวนชวนเวียนหัว มีผี ‘มุตตา’ ผลุบ ๆ โผล่ ๆ อย่างงง ๆ มิหนำซ้ำยังปลุกปั้นตัวละครรายล้อมด้วยเรื่องวิตถารผิดธรรมชาติจนน่ากลัวและไม่น่าดู ถึงขนาดคนในโลกโซเซียลมีเดียบ่นเซ็งแซ่
แล้วที่ไม่สมเหตุสมผลไปกันใหญ่ คือ ‘นพนภา’ คู่ปรับของ ‘มุนินทร์’ ในภาคแรก ยินยอมออกค่าสินสอดให้วีกิจไปสู่ขอมุนินทร์ ทั้งที่ในบทประพันธ์นั้นมิได้เขียนไว้เช่นนั้นเลย
ในบทประพันธ์ ‘นพนภา’ ยังคงป่วยอยู่ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของสามี ซึ่งเคยเจ้าชู้ในอดีต แต่ปัจจุบันเขาปรับเปลี่ยนตัวเองและกลับมาดูแลครอบครัว
จึงกล่าวได้ว่า ‘นันทนา วีระชน’ สร้าง ‘มนุษย์’ ให้เป็น ‘มนุษย์’ อย่างสมเหตุสมผล
ไม่ได้จกตาผู้ชมเหมือนดังในละครที่มีบทโทรทัศน์ออกทะเลแบบกู่ไม่กลับ ชนิดต่างจากบทประพันธ์ราว ‘ฟ้า’ กับ ‘เหว’
ทั้งนี้ ‘แรงเงา 2’ ไม่ใช่ละครเรื่องแรกที่ ‘เละตุ้มเป๊ะ’ เพราะในอดีตมีละครช่อง 3 หลายเรื่อง...บทประพันธ์ดีแสนดี...กลับมา ‘แพ้พ่าย’ ให้กับบทโทรทัศน์ ชัดเจนที่สุด คือ ‘สามใบไม่เถา’ จากบทประพันธ์ของ อาริตา
ทั้งหมดทั้งมวลผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของละครเรื่องนี้ จนทำให้เรตติ้งตก...ผู้ชมส่ายหัว เพราะบทโทรทัศน์ทิ้ง ‘ราก’ ของบทประพันธ์ที่ถูกสร้างสรรค์ไว้อย่างดีนั่นเอง .
ภาพประกอบ:https://drama.tlcthai.com
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/