ถอดบทเรียนปัญหาข่าวลวงในประเทศไทย กับทางออกเชิงสร้างสรรค์
ข้อมูลของ เดอะการ์เดียน พบว่า คนไทย 52% เชื่อข้อมูลจากโซเชี่ยลมีเดีย หลายประเทศมีการรับมือกับข่าวลวง สิงคโปร์ออกกฎหมาย The protection from online falsehood and manipulation ไต้หวัน ที่มีแชทบอท ของเอ็นจีโอ เขียนซอฟท์แวร์ เห็นข้อมูลอะไรจริงไม่จริงก็ส่งไปยังแชทบอท ขณะที่ สหรัฐมีการตั้งกลุ่มตรวจสอบเฟคนิวส์เยอะมาก
วันที่ 16 พ.ค. ที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเวทีเสวนา Media Forum ครั้งที่ 9 เรื่อง “ถอดบทเรียนปัญหาข่าวลวงในประเทศไทย กับทางออกเชิงสร้างสรรค์” หรือ “Fighting Fake news : Lesson-learned and constructive resolution” จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, Friedrich Naumann Foundation, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ Centre for Humanitarian Dialogue
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนาว่า เรื่องข่าวลวงหรือ เฟคนิวส์ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ในเอเชียจากการพบกับผู้แทนสื่อประเทศต่างๆ ได้หยิบยกเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกัน ข้อสรุปหลายเวทีเห็นว่า ด้านหนึ่งข่าวลวงก็ถือเป็นประโยชน์ ทำให้สื่อหลักมีบทบาทจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบให้ข้อเท็จจริง สร้างความแตกต่างระหว่างสื่ออาชีพและสื่อไม่อาชีพ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนที่ต้องการเผยแพร่ข่าวลวง ส่วนอีกด้านถือเป็นความท้าทายการทำงานหน้าที่สื่อ จากที่ต้องแข่งกันที่ความรวดเร็ว หากไม่ตรวจสอบก็จะเป็นปัญหา
ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้สิงคโปร์ออกกฎหมายจัดการข่าวลวงข่าวปลอม เปรียบเสมือนขับรถไปตามถนนหลวงมีด่านตรวจ การตรวจเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย แต่แน่นอนทำให้รถติด ไปลำบาก ในขณะที่ไทยซึ่งยังไม่มีกฎหมายนี้โดยตรงอาจเพราะมีเครื่องมือหลายตัวเพียงพออยู่แล้ว ถึงต่อไปจะออกเพิ่ม แต่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการแสดงความเห็น โดยแต่ละฝ่ายต้องร่วมกันระแวดระวังต่อข่าวลวงข่าวปลอมให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาทำแล้วแต่ยังไม่เพียงพอต้องทำต่อไป
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ข่าวลวงมีมานาน แต่ในสมัยยุคหนังสือพิมพ์การแพร่ไม่มากเท่ายุคไร้พรมแดนที่มีการผลิตซ้ำได้ ที่ผ่านมามีกรณีข่าวลวงการเมืองหลายเรื่อง เช่น ข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จิบกาแฟแพง ซึ่งนักการเมืองหยิบไปแชร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว นำไปสู่การดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือคลิปเสียง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มาจากโซเชียลมีเดีย และโทรทัศน์หยิบข่าวไปนำเสนอ
นอกจากข่าวการเมืองยังมีข่าวเรื่องอื่น เช่น ข่าวดารา ข่าวสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบ มีผลต่อผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้นการแก้ปัญหาในระยะยาวอาจจะต้องพูดไปถึง “สิทธิที่จะถูกลืมในโลกออนไลน์” ยกระดับเป็นนโยบายสาธารณะ อย่างเรื่องข่าวลวง ควรจะต้องมีกลไกนำข่าวออกจากระบบหรือไม่ หรือแม้เรื่องจริงอย่างคลิปหลุด ที่จะต้องพิจารณา
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า จากข้อมูลของ เดอะการ์เดียน พบว่า คนไทย 52% เชื่อข้อมูลจากโซเซี่ยลมีเดีย จะเห็นว่าหลายประเทศมีการรับมือกับข่าวลวง อย่างประเทศสิงคโปร์ออกกฎหมาย The protection from online falsehood and manipulation ซึ่งถูกมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ ไต้หวัน ที่มีแชทบอท ของเอ็นจีโอ เขียนซอฟท์แวร์ เห็นข้อมูลอะไรจริงไม่จริงก็ส่งไปยังแชทบอท ซึ่งอาสาสมัครมาตรวจสอบแจ้งกลับ ขณะที่ สหรัฐมีการตั้งกลุ่มตรวจสอบเฟคนิวส์เยอะมาก
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย พบว่าสื่อมวลชนอาชีพ ยังไม่ค่อยมีบทบาทในการตรวจสอบข่าวลวงเท่าที่ควร บางครั้งยังเป็นฝ่ายเผยแพร่ข่าวลวงเสียเอง แพลทฟอร์มออนไลน์ที่ทำธุรกิจในไทยยังไม่มีทบาทในการร่วมแก้ปัญหา และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ยังตื่นตัวน้อย ทางออกเชิงสร้างสรรค์ กองบรรณาธิการข่าวควรทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวลวง โดยตั้งเป็น Newsroom Alert และภาคประชาสังคมจัดทำกลุ่มตรวจสอบข่าวลวงโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องแยกข่าวลวงที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนอาชีพ หรือใครก็ไม่รู้ เช่น พวกเกรียน หรือพวกหวังผลการเมือง ทางเศรษฐกิจ ซึ่งยุคนี้เป็นยุคสงครามข้อมูลข่าวสาร ดังจะเห็นว่า การปล่อยข่าวลวงที่นิยม คือ ปล่อยทางกลุ่มไลน์ ที่เป็นกลุ่มปิดเพราะเราพร้อมที่จะเชื่อข้อมูล และพร้อมที่จะแชร์ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ สิงคโปร์ โมเดลที่ออกกฎหมายควบคุมนั้น เขาสามารถเจาะกลุ่มแชทไลน์ที่มีการส่งข้อมูลจนทำให้เกิดปัญหาสาธารณะ ด้านดีก็เป็นการจัดการกับข่าวลวง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นข่าวปลอมของรัฐ เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่มีผลกระทบกับผู้มีอำนาจคือเฟคนิวส์ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในส่วนขององค์กรวิชาชีพทั้งสื่อมวลชนและไม่สื่อมวลชน เพจต่างๆ ควรจัดเรตติ้งสื่อมวลชนโดยเฉพาะออนไลน์ให้มีดัชนีชี้วัดชัดเจน องค์กรไหนไม่ตรวจสอบข้อมูล คะแนนเรทติ้งก็จะลดลง
ดร.มานะ กล่าวว่า เรื่องการรู้เท่าทันสื่อจะไม่ใช่เรื่องที่พูดลอยๆ ไต้หวันมีการใช้แอพลิเคชั่นมาช่วย และหลายที่เริ่มมีการพูดถึงการใช้บล็อกเชนเข้ามาช่วยตรวจสอบ หรือจะดึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เช่น สายการบิน สาธารณสุข ที่มาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง บางประเทศมีเกมจับผิดสื่อ มีการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพราะเอกชนได้รับผลกระทบจากข่าวลวงเยอะมาก สำหรับแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไลน์ เฟซบุ๊ก หากพบข่าวปลอมให้แจ้งไปยังเจ้าของได้ไหม เพื่อเตือนว่าข้อมูลยังไม่มีการตรวจสอบ หรือสื่อที่ยังต้องแข่งขันทางธุรกิจหากยังไม่ตรวจสอบก็ให้ระบุก่อนว่าประเด็นที่นำเสนอยังไม่มีการตรวจสอบ
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภายหลังเลือกตั้งเราเริ่มมีการตั้งรัฐบาล เราพบเฟคนิวส์เยอะมาก ซึ่งมีสองคำถามสำคัญคือ ข่าวลวงเกิดจากอะไรและจะแก้ปัญหาอย่างไร คำถามแรก ข่าวลวงเกิดจากอะไรนั้น ต้องถามว่า 1.คนทำสื่อจะไม่รู้เลยหรือว่าข้อมูลที่ตัวเองได้มาคือเฟคนิวส์ 2.คนทำสื่อไม่ตระหนักหรือไม่ และ 3.คนทำสื่อมีอคติหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การจัดการแก้ปัญหาในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป การกำกับตัวเอง กำกับกันเอง หรือ รัฐเข้ามาจัดการ เท่ากับเสรีภาพของคนทำสื่อได้รับผลกระทบ หรือใช้รูปแบบอย่างตะวันตก คือ Fact Checking แต่ในยุคที่ทุกคนแข่งกับความไว ให้อำนาจใหญ่มากกับนักข่าวให้สามารถโพสต์ข่าวได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยจะเห็นว่ายุคปัจจุบัน บทบาทเกตคีปเปอร์ลดน้อยลงไปมาก
ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าแต่ละสื่อให้ความสำคัญกับ Fact Checking หรือไม่ หากกองบรรณาธิการไม่มีการกำกับตัวเอง ต่อไปรัฐอาจจะเข้ามากำกับเหมือนสิงคโปร์ ดังนั้นต้องย้อนกลับไปให้แต่ละองค์กรข่าวควรกำกับกันเองก่อน ขณะที่คนอ่านและดูแต่ข่าวคุณภาพ หลีกเลี่ยงคลิกเบท ดังนั้นต้องฝากคนทำสื่อว่าหากคุณไม่กำกับตัวเอง รัฐก็จะเข้ามากำกับกลายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่น่ากลัวมาก
น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคมากที่สุดคือเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งระบุว่าได้ข้อมูลจากร้านค้าและสังคมออนไลน์ แต่เมื่อตามในเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ต่างๆ จะพบพื้นที่โฆษณาที่ระบุว่าเป็นสปอนเซอร์ และหลายเว็บไซต์ พบว่า เป็นเฟกนิวส์ที่ทั้งผิดพลาด จงใจ และเป็นแอดเวอร์ทอเรียล แต่ชาวบ้านทั่วไปไม่เข้าใจว่า แอดเวอร์ทอเรียลคืออะไร แต่สุดท้ายส่งผลกระทบกับสุขภาพของชาวบ้าน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่ามีการตัดปะ ปลอมโลโก้เอาไปเขียนข่าว ปลอมชื่อเว็บไซต์ที่มีตัวสะกดคล้ายๆ กัน ถึงขั้นแอบอ้างชื่อกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอว่ารัฐบาลจะต้องมีแหล่งตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังฉับไว รวมไปถึงฐานข้อมูลของภาครัฐเช่น อย. ที่ควรจะเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเพื่อตรวจสอบได้ นอกจากนี้ กองบรรณาธิการสื่อหลัก ควรมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อกรณีเฟคนิวส์ ว่าจะทำอย่างไร เช่น มาตรการ การเอาเฟคนิวส์ ออกจากระบบทันทีเมื่อพบ