อภ.ปลูกกัญชา 140 ต้น ออกดอกตัวเมียทั้งหมด สกัดน้ำมันทดลองผู้ป่วย ก.ค. 62
ประสบความสำเร็จ! องค์การเภสัชกรรม ปลูกกัญชา 140 ต้น มาตรฐานเมดิคัลเกรด ออกดอกตัวเมียทั้งหมด คาดใช้เวลาอีก 3 เดือน เจริญเต็มที่ ได้สารสกัดน้ำมัน ‘หยดใต้ลิ้น’ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร ทดลองผู้ป่วยในโครงการฯ ก.ค. 62
วันที่ 16 พ.ค.2562 องค์การเภสัชกรรม (อภ.)จัดแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ‘กัญชา เมดิคัลเกรด ออกดอกแล้ว’ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 องค์การเภสัชกรรม
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นกัญชา 140 ต้น ที่ปลูกด้วยมาตรฐานการปลูกแบบเมดิคัลเกรด (Medical Grade) หรือมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ที่นานาชาติให้การยอมรับโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 ณ องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เมื่อปลายก.พ. ที่ผ่านมา ปัจจุบันเริ่มออกดอกแล้ว และจะใช้เวลาอีกประมาณ 10-12 สัปดาห์ ดอกจะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ โดยมีลักษณะเป็นถุงใสคล้ายเรซิ่นทั่วทั้งด้านใน และด้านนอกของดอก ซึ่งยังคงต้องติดตามดูการเจริญเติบโตโดยผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ ซึ่งมีความอ่อนไหวและมีรายละเอียดในการดูแลค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม การปลูกกัญชาในครั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมใช้เมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ให้สารสำคัญ 3 ประเภท ได้แก่ THC สูง CBD สูง และ THC-CBD เท่ากัน 1 ต่อ 1 โดยปลูกในอาคารแบบ Indoor ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานเมดิคัลเกรด บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร โดยการปลูกกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์นี้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่การเพาะปลูกที่ดี มีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ปลอดสารพิษต่าง ๆ และทำให้ได้ปริมาณสารสำคัญเป็นไปตามที่ต้องการและสม่ำเสมอ
ด้านนายวิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ระบุว่า ดอกกัญชาที่ได้จากการปลูกจะเป็นดอกกัญชาตัวเมีย ไม่มีตัวผู้ และตัวกะเทย แซมเข้ามา ซึ่งดอกเป็นส่วนที่มีสารสำคัญมากที่สุดที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชา โดยเมื่อออกดอกเติบโตเต็มที่ก็จะทำการเก็บเกี่ยวนำมาทำให้แห้ง และสกัดด้วยเอทานอล ซึ่งเป็นสารระเหยที่มีความปลอดภัยและยอมรับในการใช้สกัดเพื่อนำมาทำยา โดยใช้เทคนิคเฉพาะ จากนั้นระเหยเอทานอลออกให้หมดจนเหลือเป็นน้ำมันนำมาเจือจางและผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นที่ทราบความเข้มข้นของสารสกัด THC แล CBD ระดับหน่วยเป็น mg/ml เพื่อให้แพทย์สามารถคำนวณเป็นโดสหรือปริมาณการใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายและแต่ละโรคได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อการรักษาได้ต่อไป
ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานจะได้สารสกัดน้ำมันกัญชา สำหรับการหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 2,500 ขวด เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในช่วง ก.ค. 2562 โดยทำงานร่วมกับกรมการแพทย์และทีมวิจัยทดสอบทางคลินิกอย่างใกล้ชิด ไม่จ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยโดยตรง
“การใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ จะมีการติดตามโดยคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมในการศึกษาวิจัยและการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีกรมการแพทย์เป็นผู้ดูแล และมีการศึกษามาอย่างรอบคอบในการนำไปรักษาแล้ว ยกตัวอย่าง หากใช้ในโรคลมชักต้องมีตัวสาร CBD ในปริมาณมาก และต้องมีความเข้มข้นประมาณไหนและวิธีการใช้อย่างไร หรืออาการแก้คลื่นไส้รุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาคีโมต้องใช้ THC ประมาณไหน จะมีคู่มือให้แพทย์ โดยองค์การเภสัชกรรมจะวางแผนกว้าง ๆ เพื่อให้แพทย์ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่กำหนดในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นผู้พิจารณา” ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าว
นายวิฑูรย์ ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานในอนาคตว่า โดยระยะที่ 2 กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบและจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อขยายกำลังการผลิตต่อและลดต้นทุน จะได้ความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ซึ่งช่วงแรกของระยะนี้ยังทำในอาคารแบบ Indoor แต่ขยายพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น 1 เท่า และต้องออกแบบโรงเรือนให้เหมาะกับการพัฒนาขนาดใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เหมาะสมกับการเพาะปลูกในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะดำเนินงานได้ภายในต้นปี 2563
ส่วนระยะที่ 3 จะเพิ่มทุนไปพัฒนาในพื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี และออกแบบกติการะบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง เพราะกฎหมายไม่ได้ผูกขาดว่า ในอนาคตองค์การเภสัชกรรมจะต้องปลูกกัญชาเองเสมอไป ทั้งนี้ ปี 2563 จะมีความชัดเจนในระยะนี้มากขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/