พลิกประวัติ-ส่องทรัพย์สิน‘จุรินทร์’ หน.ปชป.ใหม่-‘เฉลิมชัย’ว่าที่เลขาฯ ลุ้นร่วม รบ.-ฝ่ายค้าน?
“…ประวัติโดยสังเขปที่ผ่านมาของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’ อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน เข้าสู่แวดวงการเมืองผ่านทางสาย ‘ชวน หลีกภัย’ กระทั่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในทางการเมืองโดยเป็น ‘รัฐมนตรีว่าการ’ ถึง 2 สมัย ก่อนจะผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ส่วนทิศทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ ส.ส. ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 จำนวน 52 ราย ตกเป็นพรรคลำดับ 4 จะเลือกเส้นทางการเมืองอย่างไร คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด!...”
ในที่สุดก็รู้ผลกันเสียทีสำหรับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ !
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค เข้าวิน ได้รับคะแนนเสียง 50.5995% ขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าพรรคสีฟ้าคนใหม่อย่างเป็นทางการ จากผู้มีสิทธิโหวต 309 ราย ทิ้งคู่แข่งอีก 3 ราย ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ 37.216% นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ 8.4881% และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ 3.6965% (อ่านประกอบ : ได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง! 'จุรินทร์' หน.ปชป.คนใหม่ ลั่นหมดยุคฮีโร่โชว์เดียว-สร้างเอกภาพในพรรค)
สำหรับนายจุรินทร์ ถือเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 จากประวัติศาสตร์ 73 ปีของพรรค และถือเป็นหัวหน้าคนใหม่ในรอบ 7 เดือน หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7 ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2548 ชนะการหยั่งเสียงเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งเมื่อเดือน พ.ย. 2561 ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ได้ประกาศขอลาออก เนื่องจากนำพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียง ‘ต่ำร้อย’ ในรอบ 18 ปี และ ส.ส. กทม. สูญพันธุ์ เป็นครั้งแรก
สำหรับประวัติที่ผ่านมาของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็น ส.ส. ครั้งแรกเมื่อปี 2529 และเป็นมาแล้วรวม 12 สมัย (ส.ส.เขตพังงา 6 สมัย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6 สมัย) เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสำคัญ เช่น รมช.พาณิชย์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย (1) ต่อมาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายชวน (2) เคยเป็นประธานวิปฝ่ายรัฐบาล 1 สมัย และประธานวิปฝ่ายค้าน 2 สมัย
เส้นทางการเมืองภายหลังเป็น ส.ส. ครั้งแรกเมื่อปี 2529 ต่อมาในปี 2531 ได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้เลขานุการ รมว.สาธารณสุข (นายชวน หลีกภัย) ต่อมาปี 2532 เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นปี 2533 เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (นายชวน หลีกภัย) กระทั่งได้เป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างปี 2532-2535
เมื่อลับฝีมือมาประมาณหนึ่งจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2535 คือ รมช.พาณิชย์ (นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็น รมว.พาณิชย์) ต่อมาปี 2537 เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ (นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์) กระทั่งในปี 2540 ในยุครัฐบาลนายชวน (2) นายจุรินทร์ กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง นั่งเก้าอี้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้นนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา การผงาดขึ้นของพรรคไทยรักไทย และพลพรรคของนายทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ และนายจุรินทร์ ต้องนั่งเป็นฝ่ายค้านราว 7 ปี เมื่อปี 2551 พรรคประชาธิปัตย์พลิกขั้วได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง นายจุรินทร์ ได้นั่งเก้าอี้ ‘รัฐมนตรีว่าการ’ ครั้งแรก โดยระหว่างปี 2551-2553 เป็น รมว.ศึกษาธิการ ต่อมาปี 2553-2554 เป็น รมว.สาธารณสุข กระทั่งพ้นเก้าอี้เมื่อยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ ก่อนจะนั่งเป็นฝ่ายค้านจนถึงการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
การโหวตเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งล่าสุดนี้ นายจุรินทร์ เปิดตัวนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีต ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ และอดีตเลขาธิการพรรค เพื่อผลักดันให้กลับมาเป็นเลขาธิการพรรคอีกครั้ง
มาดูในมุมทรัพย์สิน-ธุรกิจกันบ้าง ?
นายจุรินทร์ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อครั้งพ้นเก้าอี้ รมว.สาธารณสุข ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2554 แจ้งว่า มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 5,410,448 บาท โดยมีทรัพย์สินน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
ในมุมธุรกิจ เคยเป็นกรรมการบริษัท กรีนเอนเนอยี่ เทคโนโลยี ซัพพลาย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2557 ทุน 10 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการด้านเวชศาสตร์การกีฬา การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และกายภาพบำบัด
มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นายวิชัย วนดุรงค์วรรณ นายบุญมี ศรีธระชิยานนท์ นายสมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ นายสุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นางนันทวดี พิทยาพิบูลพงศ์ และนายประธาน ลาภมหานนท์ เป็นกรรมการ
ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้แจ้งเสร็จการชำระบัญชีไปแล้ว
ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน แจ้งบัญชีทรัพย์สินกรณีดำรงตำแหน่ง ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2554 ระบุว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 79,922,766 บาท หนี้สินทั้งสิ้น 510,429 บาท
เส้นทางการเมือง เป็น ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ครั้งแรกเมื่อปี 2544 รวม 3 สมัย สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นั่งเก้าอี้ รมว.แรงงาน ส่วนในพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นรองหัวหน้าพรรครับผิดชอบดูแลพื้นภาคกลาง และเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
นี่คือประวัติโดยสังเขปที่ผ่านมาของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’ อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน เข้าสู่แวดวงการเมืองผ่านทางสาย ‘ชวน หลีกภัย’ กระทั่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในทางการเมืองโดยเป็น ‘รัฐมนตรีว่าการ’ ถึง 2 สมัย ก่อนจะผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8
ส่วนทิศทางการเมืองในรัฐสภาของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ ส.ส. ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 จำนวน 52 ราย ตกเป็นพรรคลำดับ 4 จะเลือกเส้นทางใด คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/