กลุ่มผู้บริโภคเตรียมร้องสอดสู้คดีสมาคมรพ.เอกชน ค้านฉีกประกาศฯ คุมราคายา-ค่าหมอ
เครือข่ายผู้บริโภคเตรียมร้องสอดการฟ้องคดีต่อสู้กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หลังยื่นฟ้องศาลปค. ยกเลิกประกาศคุมค่ายา-รักษาพยาบาล หวั่นผู้ใช้บริการรับผลกระทบ ก.พาณิชย์ไร้อำนาจตรวจสอบ ปมแพงเกินจริง
สืบเนื่องจากเมื่อต้น เม.ย. 2562 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการดำเนินกิจการของโรงพยาบาลเอกชนนั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 14 พ.ค. 2562 เครือข่ายผู้บริโภคแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ เตรียมร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เปิดเผยถึงความเป็นมาว่า ตั้งแต่ปี 2561 เครือข่ายผู้บริโภคและคณะอนุกรรมการ คอบช. รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน โดยพบว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก จำนวนหลายรายประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ถูกฟ้องร้อง ทำให้มีการจัดสภาเวทีผู้บริโภค และมีมติเห็นชอบให้ผลักดันกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำกับควบคุมราคา
ทั้งนี้ ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ พร้อมกับติดตามทวงถามหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562 คณะกรรมการกลางฯ เห็นชอบประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และอื่น ๆ เกี่ยวข้อง เป็นสินค้าและบริการที่ต้องควบคุมราคาตามกฎหมาย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบภายหลังในวันที่ 22 ม.ค. 2562 ต่อมา คณะกรรมการกลางฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้มีมาตรการกำกับควบคุมราคา
ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คอบช. ระบุต่อปรากฎว่า ต้น เม.ย. สมาคมโรงพยาบาลเอกชนกลับยื่นฟ้องร้องไปยังศาลปกครอง ซึ่งมีสมาชิกโรงพยาบาลเอกชนร่วมฟ้อง 41 แห่ง ให้ยกเลิกประกาศยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ เกี่ยวข้อง ไม่เป็นสินค้าและบริการกำกับควบคุมตามกฎหมาย ดังนั้น เครือข่ายเห็นว่า ผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถ้ามีการยกเลิกประกาศฯ ดังกล่าว จึงพิจารณาร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเข้าไปด้วย
ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมถึงคดีดังกล่าว กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกลางฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และอธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคต่าง ๆ เป็นบุคคลภายนอกคดี จึงไม่ใช่คู่ความ อาจเข้ามาด้วยการร้องสอดเป็นคู่ความในคดีนั้นได้ โดยจะร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจ เพราะมีส่วนได้เสียในคำพิพากษาทางคดีนั้น เนื่องจากหากประกาศฯ ถูกยกเลิก จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งประเทศ จึงจะร้องสอดเข้าไปเป็นคู่ความฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อต่อสู้คดีกับผู้ถูกฟ้องคดี
ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การยกเลิกประกาศฯ จะส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ ไร้อำนาจการตรวจสอบ กรณีมีการร้องเรียนขึ้นตามมาตรา 29 และทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการช่วยเหลือ ยกเว้น ดำเนินคดี ซึ่งเป็นปลายทาง ทั้งที่ควรกำกับตั้งแต่ต้นทาง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/