สมศ.ชี้ข้อดีให้ รร.เล็กอยู่ต่อ เผยสถานศึกษาพื้นฐานกว่า 2 พันแห่งตกมาตรฐานเพราะโอเน็ตต่ำ
ผลประเมินสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 2 พันแห่งตกมาตรฐานเพราะโอเน็ตต่ำ สมศ.แนะหยิบยกข้อดีให้โรงเรียนขนาดเล็กเดินต่อ ด้าน สพฐ.เปิดทางไม่ต้องยุบรวมถ้าชุมชนร่วมบริหารจัดการโรงเรียนได้
วันที่ 12 ก.ค.55 ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. เปิดเผยผลการประเมินสถานศึกษาขั้นพื้นฐานว่าจากจำนวน 7,985 แห่ง ได้รับการรับรอง 5,690 แห่ง และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 2,295 แห่ง เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินตัวบ่งชี้พื้นฐานด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน คือมีคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O-Net)ต่ำ ดังนั้น สมศ.จึงจัดทำข้อเสนอว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ควรแก้ไขโดยการพัฒนาตัวนักเรียนให้ตั้งใจทำข้อสอบมากขึ้น พัฒนาครูผู้สอนให้มีเพียงพอและสอนให้ตรงสาขาวิชาที่ถนัดรวมถึงให้พัฒนาสถานศึกษาให้มีความพร้อม
ผอ.สมศ.ยังกล่าวต่อว่าควรมองข้ามปัญหาการเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนทั้งบุคลากรและงบประมาณ โดยเปลี่ยนจากมุมมองว่าโรงเรียนขนาดเล็กจากเป็นปัญหา และหยิบเอาจุดแข็งโดยเฉพาะข้อดีของการที่ครูผู้สอนและนักเรียนมีความใกล้ชิดมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่มาเป็นแนวทางเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กให้ดีขึ้น และเสนอให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดทำข้อสอบและรูปแบบการทดสอบให้มีมาตรฐานคงที่
ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เช่นกรณีโรงเรียนบ้านตลาดพัฒนา จ.ศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ศรีษะเกษ เขต 2 มีนักเรียนอยู่เพียง 4 คน ว่าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กต้องหาแนวทางที่เป็นกลางมากที่สุด
ดังนั้นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีขนาดโรงเรียนและจำนวนนักเรียนที่เข้าข่ายยุบรวมหรือยุบเลิก สพฐ.จะเปิดโอกาสให้ชุมชนช่วยรักษาโรงเรียนเหล่านั้นไว้ด้วยเหตุผลความจำเป็นของแต่ละชุมชน แต่จะต้องมีแผนบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ หรือการจัดสรรทรัพยากรขั้นต่ำเพื่อทำให้โรงเรียนเหล่านั้นอยู่รอดต่อไปได้ .