ความปลอดภัย “รถแห่ .. แบบไทยไทย” โจทย์ใหม่ที่ต้องเร่งทบทวน
"...รวมทั้งมีข้อกำหนดและการกำกับคนขับรถ ด้านความปลอดภัย ได้แก่ มีการพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ นอกจากนี้ การรับงานของผู้ประกอบการ ควรคำนึงถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงต่อคนขับและคณะทำงาน เช่น การต้องอดนอน (อ่อนล้า-หลับใน) หรือเร่งรีบเดินทางเพื่อไปให้ทันงานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ว่าจ้าง..."
จากอุบัติเหตุรถแห่งานมหรสพ ที่เกิดขึ้นช่วงเวลาเช้า 07.00 น. วันที่ 12 พค. 2562 ที่ถนนสายเกษตรวิสัย-จตุรพักตรพิมาน ช่วงระหว่าง กม.ที่ 6-7 หมู่ 5 ต.เหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด จนมีผู้เสียชีวิต 1 รายสาหัส 2 รายและบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 11 ราย รวมเป็น 14 ราย https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1566065
ข้อมูลจากข่าว พบว่ามีความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
1) คนขับ .. ในกรณีนี้คนขับเป็นนักดนตรี อายุ 22 ปี รับงานต่อเนื่อง โดยคืนก่อนเกิดเหตุก็เพิ่งมีการแสดงดนตรีในงานบวช (ไม่มีข้อมูลว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยหรือไม่) และเช้าวันต้องรีบไปรับงานแห่ขันหมาก จึงอาจจะมีความเร่งรีบ ประกอบกับความอ่อนล้าจนอาจจะเกิดการหลับใน รวมทั้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนขับและผู้โดยสาร ที่บรรทุกคนจำนวนมากและอาจจะไม่ได้การใช้อุปกรณ์นิรภัย ??
2) รถบรรทุกดัดแปลง .. เบื้องต้น ไม่มีข้อมูลอายุรถและการตรวจสภาพครั้งสุดท้าย แต่ภาพข่าวอุบัติเหตุก็ชี้ว่าสภาพเก่าและเสียหายรุนแรง นอกจากนี้ รถแห่ลักษณะนี้จะดัดแปลงรถบรรทุกเป็นทรงสูงสองชั้นเพื่อใช้ชั้นบนสำหรับแสดง ร้องเพลงหรืออื่น ๆ
3) ถนนและสภาพแวดล้อม .. ข้างทางมีตอไม้ ยูคาลิปตัส ขนาดใหญ่ ทำให้รถที่เสียหลักพุ่งชนเกิดโครงสร้างเสียหายทั้งคัน
เนื่องจากรถแห่ลักษณะนี้ กำลังได้รับความนิยมจ้างไปงานมหรสพ ทดแทนการจ้างวงดนตรี โดยเฉพาะชาวบ้านในแถบภาคอีสาน เพื่อมาแห่และทำการแสดงในช่วงกลางคืน เพราะ ลดปัญหาการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น และประหยัดค่าใช้จ่าย
ในขณะเดียวกันรถแห่บางรายที่ทำขึ้นมาเอง ก็ขาดความรอบคอบ ไม่ได้มองถึงความปลอดภัยโครงสร้างที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการต่อเติมความสูงของตัวรถ ซึ่งจะส่งผลต่อการยึดเกาะและการทรงตัวขณะขับขี่ (เพราะจุดศูนย์ถ่วงที่สูงขึ้น)
ที่ผ่านมา .. รถแห่ลักษณะนี้ ก็เคยมีการเรียกเรื่องความไม่ปลอดภัยจากตำรวจ แต่ก็เกิดข้อโต้แย้งว่าผ่านการตรวจสภาพจากขนส่งและบันทึกคลิปเผยแพร่ผ่านโลกโซเซียล .. สุดท้ายทางตำรวจก็ต้องปล่อยผ่านด่านโดยไม่ได้จัดการอะไร https://www.khaosocial.net/p/24603
ในส่วนทางขนส่งฯ ก็จะพบช่องว่างสำคัญว่ารถแห่ลักษณะนี้ เมื่อมารับการตรวจรับรองหรือตรวจสภาพ มักจะถอดอุปกรณ์ที่ต่อเติมออก เช่น ถอดโครงหลังคาหรือชั้นบน ฯลฯ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ ตามกฎหมายกำหนด
ดังนั้น เพื่อให้ "รถแห่" ลักษณะนี้ มีความชัดเจนในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะการดัดแปลงสภาพก่อนนำมาใช้งานจริงบนถนน จึงควรมีการทบทวนเพื่อวางมาตรการและแนวทางดังนี้
1) กรมการขนส่งทางบก มีการศึกษาหรือทบทวนเพื่อมีข้อกำหนด ในเรื่อง
1.1 ความสูงของรถ (เมื่อดัดแปลงแล้ว) ต้องไม่เกินกี่เมตร ในเบื้องต้นอาจจะใช้ข้อกำหนดรถบัสที่ความสูงต้องไม่เกิน 4 เมตร และกรณีที่ความสูงเกิน 3.6 เมตร จำเป็นต้องผ่านทดสอบพื้นเอียง
1.2 การตรวจสภาพเพื่อผ่านรับรองจากขนส่งฯ ควรกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน ได้แก่
- มีวิศวกรเซ็นรับรองการดัดแปลงสภาพ พร้อมบันทึกภาพตัวรถในมิติต่าง ๆ เพื่อยืนยัน และป้องกันการถอดอุปกรณ์หรือโครงหลังคา ก่อนมาตรวจสภาพ
- มีการสุ่มตรวจบนถนน และถ้าพบว่ารถที่ใช้มีความแตกต่างจากสภาพที่มายื่นจดทะเบียน ก็มีบทลงโทษตามกฎหมาย
2) ตำรวจ .. การเรียกตรวจรถแห่ลักษณะนี้ นอกจากดูเรื่องใบขับขี่ การต่อทะเบียนและประกันภัยแล้ว ควรมีการเรียกดูใบอนุญาติจากขนส่งฯ ที่มีภาพตัวรถประกอบ เพื่อป้องกันการระบุเพียงผ่านรับรองแล้ว
3) ผู้ประกอบการ "รถแห่" .. ควรยึดเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของบุคลากร ได้แก่ กรณีต่อเติมหรือดัดแปลงต้องยึดตามข้อกำหนดกฏหมาย มีวิศวกรรับรองด้านความปลอดภัย รวมทั้งนำรถผ่านตรวจสภาพตามกำหนด
รวมทั้งมีข้อกำหนดและการกำกับคนขับรถ ด้านความปลอดภัย ได้แก่ มีการพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ นอกจากนี้ การรับงานของผู้ประกอบการ ควรคำนึงถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงต่อคนขับและคณะทำงาน เช่น การต้องอดนอน (อ่อนล้า-หลับใน) หรือเร่งรีบเดินทางเพื่อไปให้ทันงานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ว่าจ้าง
ถ้ายังคงไม่มีคำตอบด้านความปลอดภัยของรถแห่มหรสพ ที่กำลังเป็นที่นิยมและเกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด สังคมไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับความสูญเสียในลักษณะนี้อีกต่อไป