เวทีปฏิรูปที่ดินเร่งดันภาษีอัตราก้าวหน้า-ผลักพ.ร.บ.โฉนดชุมชน
เวทีปฏิรูปที่ดินชี้ต้นตอปัญหาที่ดินบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง เปิดช่องนักการเมืองครอบครอง นักวิชาการเสนอแก้ต้นเหตุดันภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า-เร่งออกพ.ร.บ.โฉนดชุมชน
วันที่ 12 ก.ค. 55 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน จัดสัมมนาวิชาการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม” ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิจัยหลักโครงการ “การถือครองที่ดินและการจัดการที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม กล่าวว่า รัฐบาลทุกสมัยพยายามแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน เช่นการจัดตั้งนิคมสหกรณ์เช่าซื้อที่ดินหรือการนำที่ราชพัสดุให้ชาวนาเช่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกระบบทุนนิยมครอบงำ ฉะนั้นการเร่งรัฐบาลออกพ.ร.บ.โฉนดชุมชนแทนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 53 จะสร้างความมั่นใจได้เนื่องจากไม่กลัวผลกระทบภายหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ที่สำคัญต้องออกกฎหมายอื่นควบคู่ด้วยเพื่อลดช่องว่างทางสังคม เช่น การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การตั้งกองทุนและธนาคารที่ดิน
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิทยา ม.มหิดล กล่าวว่า การผลักดันปฏิรูปที่ดินในไทยไม่ต่างจากการเอาหัววิ่งชนกำแพง ซึ่งกำแพงหมายถึงนักการเมืองที่มีที่ดินมาก ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ชายแดนผ่านการถือครองโดยนอมินี ประกอบกับโครงสร้างระบบเกษตรกรรมไม่มีความมั่นคง ส่งผลให้เกษตรกรต้องขายที่ดินเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว มิหนำซ้ำยังโดนกดดันไล่รื้อไปอยู่บนภูเขาจนต้องคดีโลกร้อน เนื่องจากรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติ ส่วนพื้นราบกลับเป็นที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรม
ปัญหาดังกล่าวเกิดจากระบบการบริหารจัดการที่ดินขาดประสิทธิภาพ มีการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง จนขาดการกระจายสู่ชุมชน เพราะหวั่นจะไม่มีกลุ่มทุนเข้ามาลงทุน ฉะนั้นหากภาครัฐมองที่ดินเป็นเพียงสินค้า โดยอาศัยกลไกการตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน เกษตรกร 5.8 ล้านครัวเรือนยากที่จะลืมตาอ้าปากได้
“คนไทยควรลุกขึ้นต่อสู้ โดยทำข้อมูลการกระจุกตัวของที่ดินให้เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ จะทำให้สังคมตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา และให้รัฐบาลใส่ใจการกระจายอำนาจ โดยชุมชนต้องมีสิทธิจัดการทรัพยากรเอง มิใช่สนใจเพียงแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว
นางสุนี ไชยรส กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า รัฐตั้งตนเป็นเจ้าของประเทศครอบครองที่ดินจนชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน แม้จะพยายามแก้ไขปัญหาก็ไม่สำเร็จ เพราะรัฐไม่เข้าใจการปฏิรูปที่ดินแท้จริง จึงกล่าวได้ว่าโครงสร้างการบริหารเป็นตัวฉุดให้การกระจายการถือครองที่ดินชะงัก เช่นเดียวกับกลุ่มโฉนดชุมชนที่มีความขัดแย้งอยู่ในที่ดินของรัฐ เมื่อรัฐลงสำรวจพื้นที่ผลปรากฏว่าชาวบ้านมีสิทธิครอบครอง แต่ไม่มีใครแก้ไขให้ได้เอกสารสิทธิที่ถูกต้อง จึงทำให้ถูกดำเนินคดี ทั้งที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงยอมรับว่าชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิมีที่มาที่ไป มิใช่ชาวบ้านจงใจ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมถกเถียงกัน เพราะเชื่อว่ามีข้อมูลที่ยืนยันสิทธิการถือครองที่ดินในชุมชนตามรัฐธรรมนูญได้
กรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงเสนอให้เปิดเผยข้อมูลผู้ถือครองที่ดินทั่วประเทศ แม้หลายคนจะอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนตัว แต่เพื่อความชอบธรรมในสังคมจึงจำเป็นต้องรู้ถึงที่มาที่ไปของที่ดินนั้น รวมถึงผลักดันออกกฎหมายสิทธิชุมชนที่ชอบธรรมต่อการกระจายถือครองที่ดิน มิใช่จัดสรรเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการวางระบบผังเมือง จัดฐานทรัพยากรธรรมชาติด้วย ทั้งนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 ให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดผ่านสภาเลย
ขณะที่ศ.ดร.ทองโรจน์ อ่อนจันทร์ สถาบันทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.โฉนดชุมชน เป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มสิทธิการถือครองที่ดินของชาวบ้าน ไม่ให้เกิดการกระจุกตัว แต่หวั่นว่าจะซ้ำรอยที่ดินส.ป.ก.ที่โดนกลุ่มทุนกว้านซื้อจากเกษตรกรที่ขาดเงิน ดังนั้นทางออกควรผลักดันภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าจะช่วยลดการถือครองได้มาก นอกจากนี้ยังวิพากษ์กฎหมายไทยเป็นหลักปกครองที่ดี แต่ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้รัฐบาลและกลุ่มทุนละเลยและเอาเปรียบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลวันที่ 31 ม.ค. 55 ระบุมีชุมชนที่ยื่นคำขอดำเนินงานโฉนดชุมชนเเล้ว 435 เเห่ง เนื้อที่รวม 2.2 ล้านไร่ ครอบคลุม 47 จังหวัด 6.3 หมื่นครัวเรือน