หากต้องใช้ชีวิตไปถึง 100 ปี ควรมีเงินออมเท่าไหร่ ?
จากการสำรวจผู้สูงอายุ ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 35% ผู้สูงอายุยังต้องพึ่งบุตรในการใช้จ่ายดำรงชีพ 31% ผู้สูงอายุยังต้องทำงานอยู่ ที่เหลืออีก 20% พึ่งรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพ มีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่มีเงินออม -พึ่งรายได้ที่มาจากการออม
การมีคนไทยอายุเกิน 100 ปี กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ ชีวิตที่ยืนยาว 100 ปี เป็นปรากฎการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะบ้านเรา ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งความก้าวหน้าเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุข พฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาสาธารณะ ประจำปี 2562 เรื่อง “สังคมอายุยืน: แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร?” ณ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานมีการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า ปี 2560 คนไทยอายุยืน 100 ปี จำนวน 9,041 คน ขณะที่อายุ 90-99 ปี จำนวน 162,532 คน
และมีความเป็นไปได้ที่คนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100 ปี (อ่านประกอบ:ทีดีอาร์ไอแนะรัฐดึงคนอายุ 50-69 เข้าตลาดแรงงาน แก้อัตราลดเติบโตศก.)
การเตรียมพร้อมทางการเงินสำหรับการมีอายุยืนยาวเช่นนี้ รศ.ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษานโยบายด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ยืนยันชัดว่า คนไทยจะมีเงินบำนาญและเบี้ยยังชีพ ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต
ค่าใช้จ่าย เมื่อเราอายุ 60 ปี ไปจนถึง 100 ปี
- คนรายได้ปานกลาง อยู่ในเขตเทศบาล มีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 7,000 บาทต่อเดือน หากอยู่นอกเขตเทศบาล มีค่าใช้จ่าย 4,500 บาทต่อเดือน
- คนรวย 5% ของคนไทย อยู่ในเขตเทศบาล มีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 19,000 บาทต่อเดือน นอกเขตเทศบาล มีค่าใช้จ่าย 12,000 บาทต่อเดือน
หากเราหยุดทำงานตอนอายุ 60 ปี และต้องอยู่ไปถึง 100 ปี ควรมีเงินออมเท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
ในเขตเทศบาล
- คนรายได้ปานกลาง ควรจะมีเงินออมประมาณ 4 ล้านบาท
- คนรวย 5% ของประเทศ ควรจะมีเงินออมประมาณ 11 ล้านบาท
นอกเขตเทศบาล
- คนรายได้ปานกลาง ควรจะมีเงินออมประมาณ 2 ล้านบาท
- คนรวย 5% ของประเทศ ควรจะมีเงินออมประมาณ 7 ล้านบาท
ส่วนคำตอบของคำถามที่ว่า ผู้สูงอายุปัจจุบันมีเงินออมมากพอหรือไม่ ? รศ.ดร. วรวรรณ ให้ข้อมูลอีกว่า จากการสำรวจผู้สูงอายุ ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า
35% ผู้สูงอายุยังต้องพึ่งบุตรในการใช้จ่ายดำรงชีพ
31% ผู้สูงอายุยังต้องทำงานอยู่
ที่เหลืออีก 20% พึ่งรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพ
และมีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่มีเงินออม และพึ่งรายได้ที่มาจากการออม
"มีผู้สูงอายุ 1.2 ล้านคนเท่านั้นที่มีเงินออมเกินกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอายุ 60-70 ปีเท่านั้น"
แล้วมนุษย์เงินเดือน เลือกหรือสามารถทำอะไรได้บ้าง รศ.ดร. วรวรรณ ระบุว่า ช่องทางการออมของมนุษย์เงินเดือน หากอยู่ในภาคเอกชนก็มีการออมภาคสมัครใจ RMF/LTF ประกันแบบบำนาญ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนภาคราชการ ก็มีออมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่ทั้งหมดเราพบว่า แม้มนุษย์เงินเดือนจะมีบำนาญและเบี้ยยังชีพ มาช่วย ก็ยังไม่พอใช้จ่าย ฉะนั้นก็ต้องมีการออมเสริมด้วย
- คนรายได้ปานกลาง ในเขตเทศบาล แม้จะมีบำนาญ เบี้ยยังชีพก็ ควรออมเสริมอีก 3 ล้านบาท
- คนรวย 5% ในเขตเทศบาล ควรออมเสริมอีก 10 ล้านบาท
- คนรายได้ปานกลาง นอกเขตเทศบาล ควรออมเสริมอีก 1 ล้านบาท
- คนรวย 5% นอกเขตเทศบาล ควรออมเสริมอีก 6 ล้านบาท
ส่วนแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มคนมีรายได้ไม่แน่นอน แม้จะมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ออมแบบสมัครใจ หรือฝากเข้ากองทุน RMF/LTF และมีเบี้ยยังชีพ ก็ยังพบว่า เงินสะสมไม่เพียงพอเช่นกัน
ฉะนั้น ในอนาคตอาจเปิดโอกาสการออมให้กับแรงงานในระบบ ก็เช่น เปิดโอกาสให้มีการออมเสริมกับกอช.ได้ ส่วนแรงงานนอกระบบ สนับสนุนให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ เช่น เข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 33 เพื่อให้มีบำนาญที่มั่นคง แต่ก็ต้องให้แรงงานนอกระบบสมทบส่วนของตัวเองและของนายจ้างด้วย โดยเฉพาะอัตราเงินสมทบสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ อัตราการเก็บอาจมีอัตราที่สูงขึ้น รวมไปถึงการขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มระยะเวลาการออม
สุดท้าย รศ.ดร. วรวรรณ ย้ำชัดว่า การเตรียมพร้อมสุขภาพกายและสุขภาพการเงิน ในสังคมอายุยืนนั้น ต้องทำงานช่วงเวลาที่ยังทำงานไหวให้ยาวนานขึ้น เพื่อให้มีเวลาสะสมเงิน แม้การมีเงินออม ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง แต่การสะสมการมีสุขภาพดีก็สำคัญ เพราะหากเราสะสมเงินจำนวนมากแต่ต้องมาเจ็บป่วย เสียเงินไปกับการรักษาพยาบาล เงินออมก็จะหมดอย่างรวดเร็๋วเช่นกัน...