ให้อส.เป็นนายหน้า-ใช้วินมอไซค์เปิดบัญชีแบงก์! พฤติการณ์อดีตปลัดฯเมืองระนอง ทุจริตสวมบัตรปชช.
เปิดหมดพฤติการณ์ 'อดีตปลัดฯเมืองระนอง'คดีทุจริตสวมบัตรปชช. ก่อนโดนโทษจำคุก 6 ปี 18 เดือน พบให้สมาชิก อส.เป็นนายหน้าจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้าทำบัตร หลักฐานมัดโทรฯ สั่งการเอง เสียค่าใช้จ่ายรายละ 15,000 - 35,000 บาท ใช้วินมอไซค์เปิดบัญชีแบงก์ แต่เอาบัตรATMเก็บไว้ โอนเงินเข้าบัญชีภรรยา 'ปัตตานี' เผยเคยยื่นร้องฟ้องศาลปกครองสูงสุดถูกไล่ออกราชการมิชอบมาแล้ว แต่ถูกสั่งยกฟ้อง
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 สั่งลงโทษจำคุก 6 ปี 18 เดือน นายพงศ์วิทย์ หรือ กิตติเดช พิทยาภินันท์ อดีตปลัดอำเภอเมืองระนอง ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ในคดีทุจริตจัดทำบัตรประชาชน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2555 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลจังหวัดระนอง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2560 ว่า นายพงศ์วิทย์ หรือกิตติเดช พิทยาภินันท์ ในฐานะจำเลยคดีนี้ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำคุก 5 ปี ลดโทษหนึ่งในสี่ ตามมาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษา ว่า นายพงศ์วิทย์ หรือกิตติเดช พิทยาภินันท์ ในฐานะจำเลยคดีนี้มีความผิดตามมาตรา 149 ประกอบมาตรา 91 รวม 2 กระทง ๆ ละ 5 ปี ลดโทษหนึ่งในสี่ ตามมาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 18 เดือน ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2561 มีมติเห็นชอบตามความเห็นของอัยการสูงสุดที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 (อ่านประกอบ : ศาลอุทธรณ์ฯ เพิ่มโทษคุก6ปี18 ด.! อดีตปลัดฯ เมืองระนอง ทุจริตสวมบัตรปชช.โรฮิงญา)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลคำพิพากษาคดีศาลปกครองสูงสุด พบว่า ในช่วงปี 2558 ศาลปกครองสูงสุด เคยพิพากษายกฟ้องคดี ที่นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมการปกครอง และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นจำเลยที่ 1,2 และ3 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ตนออกจากราชการ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยโดยการจัดทำทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ ขณะปฏิบัติหน้าที่ปลัดอำเภอเมืองระนอง ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ว่า เป็นการออกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2552
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีการระบุพฤติการณ์กระทำความผิดของ นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ ตามผลสอบสวนไว้ว่า จุดเริ่มต้นคดีกล่าวหา นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ ทุจริตจัดทำบัตรประชาชน เกิดจากเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจเขาชาคลี เขตท้องที่อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ได้ตรวจสอบบุคคล 2 ราย คือ นาย ต. และนาย ม. (ชื่อย่อ) ระหว่างนั่งรถโดยสารจากระนองกลับไปที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งให้การรับสารภาพว่าเป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเอกสารที่นำมาแสดงตนเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยมิชอบ
โดยเอกสารแสดงตนที่จัดทำขึ้นนี้ ระบุว่า จัดทำโดยที่ทำการปกครองอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ซึ่งมีนายกิตติเดช พิทยาภินันท์ เป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร รับผิดชอบในการสำรวจทะเบียนสำหรับบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนและการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะนายทะเบียน
ขณะที่ นาย ต. และนาย ม. ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนตรงกันว่า ในช่วงเดือนก.พ.2552 มีนายหน้าชาวพม่า ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง ติดต่อไปหา นาย ต. ซึ่งทำงานอยู่ที่ภูเก็ต ชักชวนให้มาทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง เสียค่าใช้จ่ายรายละประมาณ 2 หมื่นบาท นาย ต. จึงชักชวน นาย ม. เดินทางมาทำบัตรด้วยกัน เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง และใช้เป็นสถานที่จัดเตรียมเอกสารต่างๆ ในการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเอกสารทั้งหมด มีนายหน้าคนไทยจัดทำให้ที่โรงแรง มีการเรียกเก็บเงินเป็นค่าตอบแทนจากบุคคลทั้ง 2 รายๆ ละ 18,000 บาท
ก่อนที่จะมีการนัดหมายบุคคลทั้ง 2 ไปสแกนลายนิ้วมือ และถ่ายรูป ณ สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง โดยมีนายหน้าคนไทยและเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองคอยให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลทั้งสองในการจัดทำบัตร และให้กลับไปรอรับเอกสารที่โรงแรม ก่อนที่ในเวลาต่อมานายหน้าชาวพม่าจะเป็นผู้นำเอกสารดังกล่าวมาส่งมอบให้บุคคลทั้งสอง
ทั้งนี้ ในการสอบสวนคดีนี้ มีการระบุถึงชื่อ นาย อ.(ตัวย่อ) มีตำแหน่งเป็นสมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) เป็นคนในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งรู้จักสนิทสนม กับ นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ เมื่อตั้งแต่ช่วงปี 2551 ที่ยังตำแหน่งเป็นจ่าจังหวัดระนอง และเมื่อนายกิตติเดช พิทยาภินันท์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร ก็ได้เรียกนาย อ. ไปช่วยงานที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง พร้อมแจ้วว่า หากมีคนต่างด้าวต้องการทำบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทยก็ให้ติดต่อมา แต่กำชับไม่ให้นำคนที่มีลักษณะคล้ายพวกโรฮิงญามาทำบัตร แล้วจะให้ค่าตอบแทนรายละ 1,000 บาท
ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า บุคคลต่างด้าวจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้กับ นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ รายละ 5,000 บาท - 10,000 บาท ส่วนนาย อ. มีหน้าที่เก็บเงินนำไปให้ที่บ้านพักทุกครั้ง หากนับรวมค่าใช้จ่ายที่นายหน้าเรียกจากบุคคลต่างด้าวด้วย จะมีราคารายละ 15,000 บาท ถึง 35,000 บาท
สำหรับ กรณีของ นาย ต. และนาย ม. นั้น นาย อ. ถูกระบุว่า เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับ นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ให้ หลังจากที่นาย อ. ได้รับการติดต่อผ่าน นาย น. ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยยื่นคำขอมีบัตรประตำตัวผู้มีสัญชาติไทยมาแล้ว และ นาย อ. ยังเป็นผู้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่ ให้นาย ต. และนาย ม. ด้วย
ขณะที่ในวันเกิดเหตุ ที่ นาย ต. และนาย ม. เข้าไปยื่นขอทำบัตร ที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง นั้น มีข้อมูลปรากฎว่า มีชาวต่างด้าวรายอื่นเข้าไปร่วมทำบัตรด้วยรวมจำนวน 9 ราย
ขั้นตอนการดำเนินงาน จะใช้โทรศัพท์สั่งการ โดย นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ จะโทรศัพท์ออกไปยังโทรศัพท์ของนาย อ. ให้พาผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นกลุ่มมาพบ ในระหว่างเวลาราชการตั้งแต่เวลา 8.32 นาฬิกา ถึงเวลา 15.33 นาฬิกา ถึง 13 ครั้ง โดยเฉพาะในระหว่างเวลา 9.44 นาฬิกา ถึงเวลา 10.77 นาฬิกา มีการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันถึง 8 ครั้ง ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในทางคดี
สำหรับหลักฐานสำคัญอีกส่วนหนึ่งในคดีนี้ คือ ข้อมูลการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร โดย นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ เป็นคนใช้ให้นาย ว. ซึ่งประกอบอาชีพ ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย สาขาระนอง ในชื่อของนาย ว. แต่ นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ เป็นผู้ถือบัตรเอทีเอ็มไว้
ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ในวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันทำการถัดจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ที่นาย ต. นาย ม. และบุคคลต่างด้าวรายอื่น เข้าไปยื่นขอทำบัตร มีการฝากเป็นเงินสดเข้าบัญชีดังกล่าวของนาย ว. จำนวน 100,000 บาท
และในวันเดียวกันมีการโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวด้วยบัตรเอทีเอ็มไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญประดิษฐ์ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ของนาง น. ภรรยาของนายกิตติเดช พิทยาภินันท์ จำนวน 20,000 บาท
และในวันที่ 6 มีนาคม 2552 โอนเงินจากบัญชีดังกล่าวของนาย ว. เข้าบัญชีของนาง น. ดังกล่าวอีกจำนวน 26,000 บาท
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุด ยังระบุด้วยว่า นายกิตติเดช พิทยาภินันท์ อ้างว่า สำนึกและจดจำตลอดชีวิตว่า เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการที่มีผลงานดีเด่น สาขาการเมืองการปกครองของกระทรวงมหาดไทย ได้รับโล่พระราชทาน และเคยได้รับหนังสือชื่นชมจากกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำจังหวัดภูเก็ต
แต่ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า รางวัลที่ผู้ฟ้องคดีได้รับดังกล่าวก็เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่าผู้ฟ้องคดีเคยเป็นข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ดีจนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเท่านั้น การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับรางวัลดังกล่าวหาได้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าผู้ฟ้องคดีมิได้เรียกรับเงินหรือมีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหาไม่
ส่วนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีเรื่องการเคลื่อนไหวเงินในบัญชีธนาคารของนาย ว. เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญประดิษฐ์ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี จำนวน 46,000 บาท ว่า ผู้ฟ้องคดี มีโครงการร่วมกับนาย ว. เพื่อทำกิจการค้าขายสัตว์ทะเลประเภทหอยจุ๊บแจง แต่ไม่ได้ทำสัญญาใดๆ และได้ให้เงินสดนาย ว. ไว้แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงสั่งให้นาย ว. นำเงินเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าว พร้อมทั้งยึดสมุดคู่ฝากและบัตรเอทีเอ็มไว้ เพราะเป็นเงินของผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะโอนให้ใครก็ได้ และไม่สามารถดำเนินกิจการค้าสัตว์ทะเลได้ในที่สุด นั้น
ศาลฯ เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเรื่องนี้แต่เพียงลอยๆ หากผู้ฟ้องคดีได้ทำกิจการร่วมกับนาย ว. จริงตามที่กล่าวอ้างก็ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องเปิดบัญชีธนาคารเป็นชื่อของนาย ว. แล้วผู้ฟ้องคดียึดสมุดคู่ฝากและบัตรเอทีเอ็มไว้กับผู้ฟ้องคดีเอง
อีกทั้งนาย ว. ก็ให้ถ้อยคำเพียงว่า มีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หลังจากเปิดบัญชีธนาคารให้ผู้ฟ้องคดีในชื่อของตนตามที่ผู้ฟ้องคดีใช้ให้ทำและได้ถอนเงินที่เปิดบัญชีออกมาแล้วการฝากถอนหรือโอนเงินในบัญชีดังกล่าวหลังจากนั้นเป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดี คำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีจึงขัดแย้งกับถ้อยคำของนาย ว. และไม่สมเหตุสมผล ทั้งพฤติการณ์ดังกล่าวกลับส่อแสดงว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาเปิดบัญชีธนาคารในชื่อของบุคคลอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบเงินที่ผู้ฟ้องคดีได้มาโดยมิชอบ จึงไม่มีน้ำหนักอันควรรับฟัง
ส่วนกำนันและผู้ใหญ่บ้านหลายคนในพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นพยานก็เพียงแต่ให้ถ้อยคำว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นคนอัธยาศัยดี พูดจาดี ตรงไปตรงมา ส่วนเรื่องการทุจริตในการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย นั้น พยานบุคคลดังกล่าวต่างให้ถ้อยคำว่าไม่ทราบ ดังนั้น คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีและพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายกล่าวหา
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีรู้อยู่แล้วว่า นาย ต. และนาย ม. เป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่า มิใช่บุคคลที่มีคุณสมบัติและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร ตามหนังสือสำนักทะเบียนกลาง ลงวันที่ 5 เมษายน 2550 และหนังสือสำนักทะเบียนกลาง ลงวันที่ 24 เมษายน 2551 และรู้ว่านาย ต. และนาย ม. ไม่เคยผ่านกระบวนการสำรวจและจัดทำประชาคมตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางดังกล่าว กลับอาศัยอำนาจในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ร่วมกับบุคคลอื่นจัดทำแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ 89) และใบตอบรับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีลักษณะทางทะเบียน (แบบ 89/1) ให้แก่นาย ต. และนาย ม. เพื่อแสดงว่านาย ต. และนาย ม. ได้ผ่านการสำรวจและผ่านประชาคมแล้วในชื่อนาย ฒ. และนาย ด. ตามลำดับ อันเป็นเท็จ และร่วมกับบุคคลอื่นใช้เอกสารเท็จดังกล่าวมาเป็นหลักฐานสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโครงการจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ของสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง ดำเนินการบันทึกข้อมูล สแกนลายนิ้วมือและถ่ายรูปนาย ต. และนาย ม. โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (แบบ 89/3) ในช่องผู้รับคำขอและพิมพ์ลายนิ้วมือ ช่องผู้ถ่ายรูป และช่องนายทะเบียน เป็นผู้ลงลายมือชื่อในแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลการทะเบียน (ทร. 14/1) ช่องนายทะเบียน และเป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (แบบ 89/4) ของนาย ต. และนาย ม. ทำให้นาย ต. และนาย ม. ได้ไปซึ่งใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (แบบ 89/4) และแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลการทะเบียน (ทร. 14/1) อันเป็นการกระทำโดยมิชอบทำให้นาย ต. และนาย ม. ได้ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายและเกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และผู้ฟ้องคดีได้เรียกและรับผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองเป็นการตอบแทนการกระทำโดยมิชอบดังกล่าวจากนาย ต. และนาย ม.
พฤติการณ์และการกระทำของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว กรณีถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) และ (4) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการสอบสวนกรณีกล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 57 (11) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีสังกัดอยู่พิจารณา
ต่อมา อ.ก.พ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 มีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยไม่มีเหตุลดหย่อนโทษ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และเมื่อคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน
พิพากษายกฟ้อง
(ดูคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่ http://www.admincourt.go.th/admincourt/upload/admCase/Document/judgement/PDF/2554/01011-540001-1F-580212-0000541706.pdf)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/