ปรีดิยาธร เทวกุล: อย่าหลอกประชาชนเลยครับ
"ผมไม่แน่ใจว่าการเลือกใช้แนวทางกำหนดจำนวน ส.ส.พึงมีที่จะได้รับเบื้องต้นที่ไม่เต็มคนอันเป็นการผิดธรรมชาติ จนมีผลให้เกิดข้ออ้างที่จะเติมเต็มให้พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.พึงมีน้อยกว่า 1 คน ให้ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน(ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ห้ามไว้) นี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และก็ไม่เข้าใจว่าทำไม กกต.จึงไม่เลือกวิธีกำหนด ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ตามจำนวนเต็ม ซึ่งสามารถได้ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจำนวน 149 โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เลย"
คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต. )แถลงผลการคิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อออกมาแล้ว ผมอ่านวิธีคิดของ กกต.อย่างละเอียดแล้ว พบว่า มีวิธีการคิดที่ตบตาประชาชนอย่างแนบเนียน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่า การคิดคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อตามแนวทางในมาตรา 128 ของกฎหมายเลือกตั้งนั้น สามารถคิดได้โดยไม่ขัดกับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ผมก็จะขอคิดตามแนวทางมาตรา 128 โดยระวังไม่ให้ขัดต่อข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 91
เนื่องจากจำนวนสส.เขตที่ กกต.ลงความเห็นว่า ถูกกฎหมายขณะนี้มีเพียง 349 คน ยังรอเลือกตั้งใหม่อีก 1 เขต กกต.จึงใช้คะแนนเลือกตั้งรวมของ 349 เขตซึ่งเท่ากับ 35,441,929 คะแนนเป็นฐานในการคำนวณทั้งหมด และใช้วิธีการเทียบจากจำนวน ส.ส.เขตที่เลือกได้แล้ว 349 คนกับจำนวนที่กฎหมายกำหนดให้มี 350 คนในการคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีรวมได้ 498.5714 คน และเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ใช้ ส.ส.พึงมีที่เป็นจำนวนเต็ม ส.ส.พึงมีรวมจึงเป็น 498 คน เมื่อหักลบ ส.ส.เขต 349 คนแล้ว เหลือ ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีรวม 149 คน ที่จะต้องจัดสรรให้แก่พรรคต่างๆ
ขั้นต่อไป กกต.ใช้จำนวน ส.ส.พึงมีรวม 498 คนไปหารยอดคะแนนเลือกตั้งรวม 35,441,929 คะแนน ได้เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน เท่ากับ 71,168.5141 คะแนน
หลังจากนั้น กกต.นำคะแนนเฉลี่ยนี้ไปหาร ยอดรวมคะแนนเสียงของแต่ละพรรคที่ปรากฏในตารางที่แนบช่องที่ 2 ได้เป็นจำนวนสส.พึงมีรวมเบื้องต้นดังปรากฏในช่องที่ 3
ต่อจากนั้นกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้นำจำนวน ส.ส.เขตที่ได้รับเลือกแล้วดังที่ปรากฏในช่องที่ 4 มาหักออกจากจำนวน สส.พึงมีรวมเบื้องต้น (ในช่องที่ 3) ผลลัพธ์ก็คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีเบื้องต้น ดังที่ปรากฏในช่องที่ 5
สำหรับพรรคเพื่อไทยจำนวน ส.ส.เขตที่ได้รับเลือกสูงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีรวมเบื้องต้น ดังนั้นจำนวนสส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยจึงเป็น 0
ขั้นต่อไปเป็นขั้นตอนสำคัญ คือ ขั้นตอนที่จะจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้นของแต่ละพรรค ซึ่งจะต้องกำหนดเป็นจำนวนเต็มคนเพราะจำนวน ส.ส.ที่จะเข้าไปอยู่ในสภาจริงไม่มีการแบ่งเป็นเศษส่วนของคน คงเป็น 1,2,3,4,....จนถึง 149 คน
ในขณะเดียวกันเพื่อมิให้การปฏิบัติตามมาตรา 128 ของกฎหมายเลือกตั้งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ซึ่งห้ามมิให้กำหนดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับมากกว่าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีที่คำนวณได้ (ในช่องที่ 5) จึงจำเป็นที่ต้องใช้หลักของกฎหมายที่ให้ใช้เฉพาะจำนวนเต็ม (และไม่นับส่วนที่เป็นเศษ) เป็นจำนวนส.ส.ที่จะได้รับ
การกำหนดตามวิธีการนี้จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้นของแต่ละพรรคดังปรากฏในช่องที่ 6 ซึ่งไม่มีพรรคใดที่ได้รับจำนวนสส.บัญชีรายชื่อเกินจำนวนสส.บัญชีรายชื่อพึงมี(ตามช่องที่ 5 ) เลย เป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 91
แต่เนื่องจากจำนวน สส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้นที่จัดสรรโดยวิธีดังกล่าวรวมกันแล้ว มีถึง 151 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 149 คนไป 2 คน จึงมีความจำเป็นต้องปรับลดจำนวน สส.บัญชีรายชื่อ ที่จะได้รับลงให้เหลือยอดรวม 149 คน ด้วยการนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีเบื้องต้นที่มีตัวเลขถึงทศนิยม 4 ตำแหน่ง(ในช่องที่ 5) มาคูณด้วย 149 และหารด้วย 151 ได้เป็นตัวเลขจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีที่ปรับลดลงแล้ว ดังที่ปรากฏในช่องที่ 7
ต่อจากนั้นก็สามารถกำหนดจำนวน สส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับจริงของแต่ละพรรค ดังปรากฏในช่องที่ 8 ซึ่งรวมกันแล้วได้จำนวน 149 คนพอดี
ช่องที่ 9 ได้แสดงจำนวน สส.รวมของแต่ละพรรคที่นำจำนวน ส.ส.เขตในช่องที่ 4 และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับในช่องที่ 8 มารวมกัน ซึ่งมียอดรวมกันทั้งหมด 498 คนตามที่กำหนดเป็นเป้าหมายไว้พอดี
แนวทางการกำหนดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับ ดังที่ผมอธิบายข้างต้นเป็นแนวทางที่ กกต.น่าจะมองเห็นและทำได้ไม่ยาก ผมไม่เข้าใจว่าทำไม กกต.จึงเลือกทำแนวทางที่ผิดธรรมชาติ กล่าวคือไม่กำหนดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเป็นจำนวนเต็มคน แต่ยังกำหนดให้มีเศษตามที่คำนวณเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีเบื้องต้น(ในช่องที่5)
การกำหนดเช่นนี้มีผลให้ยอดรวมจำนวน สส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับ เพิ่มสูงขึ้นไปถึง 174 คน และเมื่อจำเป็นต้องลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับให้เหลือ 149 คน ก็ต้องนำจำนวน สส.พึงมี มาหารด้วย 174 และคูณด้วย 149 ตัวหารที่สูงถึง 174 ซึ่งสูงกว่า 149 มาก ก็มีผลทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่คำนวณได้มูลค่าเต็มตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปลดเหลือเพียง 129 คน จึงเป็นข้ออ้างที่จะใช้วิธีปัดเศษคะแนนที่ไม่เต็มให้เป็นคะแนนเต็มคนทั้งพรรคที่ได้เกิน 1 คนอยู่แล้ว และพรรคที่ได้ต่ำกว่า 1 คน จึงมีจำนวนพรรคเล็กๆ ที่เดิมเคยได้จำนวน ส.ส.พึงมีไม่ถึง 1 คนได้รับจัดสรร สส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 คนเพิ่มขึ้นถึง 11 พรรค
ผมไม่แน่ใจว่าการเลือกใช้แนวทางกำหนดจำนวน ส.ส.พึงมีที่จะได้รับเบื้องต้นที่ไม่เต็มคนอันเป็นการผิดธรรมชาติ จนมีผลให้เกิดข้ออ้างที่จะเติมเต็มให้พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.พึงมีน้อยกว่า 1 คน ให้ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน(ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ห้ามไว้) นี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และก็ไม่เข้าใจว่าทำไม กกต.จึงไม่เลือกวิธีกำหนด ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ตามจำนวนเต็ม ซึ่งสามารถได้ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจำนวน 149 โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เลย
เป็นไปได้ว่าที่ กกต. ต้องเสี่ยงที่จะทำการขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น เป็นพราะแรงกดดันจากผู้มีอำนาจซึ่งตั้งธงไว้แล้วว่า ต้องการให้เป็นไปอย่างไร กกต.จึงต้องค้นหาวิธีการที่จะทำให้ได้ตามธงนั้นอย่างแนบเนียน แต่ก็ไม่ควรคิดว่าประชาชนไม่รู้เท่าทัน จะหลอกกันอย่างไรก็ได้เช่นนี้