หนี้สินของ Gen Y คือปัญหาใหญ่ของประเทศ
"...และเมื่อคุณหนู Y กับคุณชาย Y ผู้โลกสวยเลือกได้ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ Instagram ใช้ Social Media โชว์ภาพสวยๆ หล่อๆ ในชุดแบรนด์เนม นั่งรถราคาแพง ไปทานอาหารหรือท่องเที่ยวในสถานที่ชิคสุดๆ โดยเอาภาพถ่ายมาโชว์กันผ่าน Social Media กิเลสอยากทำตามมันก็เลยเกิดขึ้นมา อยากเด่น อยากดัง อยากแจ้งเกิดกะเขาบ้าง ทำให้คุณหนูกับคุณชาย Y หลายคนไปสร้างหนี้สินมาเสริมฐานะให้ดูดี ใช้บัตรเครดิตเต็มเหนี่ยวจนผ่อนชำระไม่ไหว กลายเป็นหนี้เสียไปในที่สุด..."
น่าตกใจทีเดียวเมื่อ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ว่า “วัยที่มีหนี้เสียมาก เป็นกำลังสำคัญของประเทศ”
เพราะถ้าวัยที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศกลายเป็นผู้อ่อนแอทางการเงิน เศรษฐกิจของประเทศก็จะอ่อนแอไปด้วย เพราะขาดกำลังซื้อ
“จากการศึกษาเชิงลึกพบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมากขึ้น อายุมากแต่หนี้ยังไม่ลด ที่สำคัญสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น คนที่มีหนี้อายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ซึ่งลองคิดดูว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะว่าวัยที่เป็นหนี้เสียเป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ วัยที่สร้างครอบครัว และเป็นวัยที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แม้ว่าภาพใหญ่ในเรื่องตัวเลขของระบบเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น รายได้ของประชาชนดีขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้เยอะมาก ซึ่งมีผลต่อการบริโภคภาพรวมของประเทศ”
ทำไมคนอายุ 29-30 ปีถึงมีหนี้เยอะ และเป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ตามที่ท่านผู้ว่าระบุ
คนอายุ 29-30 ปี เป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่ม Gen Y (Y คือพวกที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523–2540) ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมที่เป็นผลลัพธ์จากสิ่งแวดล้อมในแต่ละยุค ก็พบว่า Gen Y เขาโดนพ่อแม่ Spoil ในช่วงเวลาพัฒนาการวัยต้นๆ เพราะเศรษฐกิจกำลังเติบเฟื่องฟู ทำให้พ่อแม่ที่เป็น Baby Boomer ซึ่งถูกปลูกฝังให้ทำงานหนักจนมักจะประสบความสำเร็จในชีวิต ให้การดูแลเอาใจใส่ลูกๆ อย่างดี จนเรียกว่าโอ๋
เว็บไซต์ thaithinkpad.com ระบุว่า …..
“เด็กยุค Gen Y ถูกตามใจมาตั้งแต่เด็กๆ อยากได้อะไรก็ต้องได้ มีโอกาสทางการศึกษาที่ดี มีแนวคิดเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีความเป็นสากล เปิดรับวัฒนธรรมแบบ Teen Pop มีเทคโนโลยีพกพา อาทิ โทรศัพท์มือถือ MP3 ในการติดต่อสื่อสาร
ลักษณะพฤติกรรมของคน Gen Y ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเอง และต่อหน่วยงานอย่างไร? คาดหวังที่จะมีเงินเดือนสูงๆ คาดหวังคำชม แต่ไม่อดทนต่องานที่ทำ ชอบเปลี่ยนงานอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ คน Gen Y จะจัดสมดุลเวลาให้กับตัวเอง จะเห็นได้ว่าหลังเลิกงานคนรุ่นนี้มักจะไปทำกิจกรรมให้ความสุขกับตัวเอง อาทิ ไปเล่นฟิตเนส แฮงเอาท์พบปะเพื่อนฝูง …”
อ่านมาถึงตรงนี้ Baby Boomer กับ Gen X คงจะคิดว่าอย่างนี้ก็ได้ด้วยหรือ “คาดหวังที่จะมีเงินเดือนสูงๆ คาดหวังคำชม แต่ไม่อดทนต่องานที่ทำ” เพราะถ้าเป็นลูกจ้างในยุค Baby Boomer หรือ X ละก็ เจ้า Y จะต้องดับอนาถ โดนไล่ออกให้ไปหากิจการทำเองแน่นอน
และเมื่อคุณหนู Y กับคุณชาย Y ผู้โลกสวยเลือกได้ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ Instagram ใช้ Social Media โชว์ภาพสวยๆ หล่อๆ ในชุดแบรนด์เนม นั่งรถราคาแพง ไปทานอาหารหรือท่องเที่ยวในสถานที่ชิคสุดๆ โดยเอาภาพถ่ายมาโชว์กันผ่าน Social Media กิเลสอยากทำตามมันก็เลยเกิดขึ้นมา อยากเด่น อยากดัง อยากแจ้งเกิดกะเขาบ้าง ทำให้คุณหนูกับคุณชาย Y หลายคนไปสร้างหนี้สินมาเสริมฐานะให้ดูดี ใช้บัตรเครดิตเต็มเหนี่ยวจนผ่อนชำระไม่ไหว กลายเป็นหนี้เสียไปในที่สุด
แต่ที่น่ายินดีก็คือการที่ธนาคารแห่งประเทศมองเห็นจุดนี้ แล้วหาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม … ก็ต้องบอกว่า วิสัยทัศน์ของแบงค์ชาติยุคนี้ ไม่ธรรมดาเลย เพราะแทนที่จะดูแลแต่นโยบายการเงิน กับกำกับบรรดาแบงค์ทั้งหลาย ธปท.กลับนำข้อมูลหนี้เสียมาวิเคราะห์สาเหตุ แล้วหาทางแก้ไข ก่อนจะกลายเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้
ส่วนจะแก้ไขทันหรือไม่นั้น คุณหนูกับคุณชาย Y รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ ก็ต้องช่วยกันแก้ เพราะหากแก้ไขไม่ทัน ทุกคน ทุกองค์กร จะได้รับผลกระทบหนักจากความลั้ลลาของน้อง Y กันถ้วนหน้า
และที่เศรษฐกิจของเราขาดกำลังซื้อในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณหนูกับคุณชาย Y ไม่มีเงินแล้ว
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
8 พ.ค. 2562
อ่านประกอบ :
วิรไท สันติประภพ:วัยที่มี’หนี้เสีย’มาก เป็นกำลังสำคัญของประเทศ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ sanook.com