วิรไท สันติประภพ:วัยที่มี’หนี้เสีย’มาก เป็นกำลังสำคัญของประเทศ
"...จากการศึกษาเชิงลึก พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมากขึ้น อายุมากแต่หนี้ยังไม่ลด ที่สำคัญสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น คนที่มีหนี้อายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ซึ่งลองคิดดูว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะว่าวัยที่เป็นหนี้เสียเป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ วัยที่สร้างครอบครัว และเป็นวัยที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แม้ว่าภาพใหญ่ในเรื่องตัวเลขของระบบเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น รายได้ของประชาชนดีขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้เยอะมาก ซึ่งมีผลต่อการบริโภคภาพรวมของประเทศ..."
วันนี้เป็นโอกาสที่สำคัญต่อระบบการเงินไทย เพราะโครงการคลินิกแก้หนี้ ขยายเป็นระยะที่ 2 โครงการคลินิกแก้หนี้เป็นโครงการที่สำคัญต่อระบบการเงินไทย ซึ่งในระยะที่ 1 เป็นช่วงทดลองที่ครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายจำนวนไม่มากหากเทียบกับระบบ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการทำงานของ SAM เพื่อให้ SAM สามารถให้บริการกับผู้ประกอบการ Non-bank ได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2562 ในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เราสามารถทำให้เกิดโครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ได้ ขอขอบคุณชมรมธุรกิจบัตรเครดิต ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และผู้บริหารของทุกบริษัทที่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ และเข้าร่วมโครงการ
โครงการคลินิกแก้หนี้มีความสำคัญ เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งไม่ได้รวมหนี้บางส่วน เช่น หนี้ กยศ. หนี้ที่สถาบันการเงินและ Non-bank ตัดหนี้สูญ (write-off) และหนี้นอกระบบ เป็นต้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับประเทศที่ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน โดยในระดับที่รายได้ใกล้เคียงกัน ประเทศเรามีสัดส่วนหนี้ที่สูงมาก
จากการศึกษาเชิงลึก พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมากขึ้น อายุมากแต่หนี้ยังไม่ลด ที่สำคัญสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น คนที่มีหนี้อายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ซึ่งลองคิดดูว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะว่าวัยที่เป็นหนี้เสียเป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ วัยที่สร้างครอบครัว และเป็นวัยที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แม้ว่าภาพใหญ่ในเรื่องตัวเลขของระบบเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น รายได้ของประชาชนดีขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้เยอะมาก ซึ่งมีผลต่อการบริโภคภาพรวมของประเทศ
ดังนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาไม่ได้มีสูตรสำเร็จเพียงแค่สูตรเดียว คือ
ในการแก้ไขปัญหาของ ธปท. จึงมี 3 มิติด้วยกัน มิติที่หนึ่ง คือ การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืน (Responsible Lending) จะเห็นว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การกำกับดูแล Personal Loan, Credit Card สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในเรื่อง LTV และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ช่วงต่อไป ธปท. ได้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และชมรมธุรกิจบัตรเครดิต โดยจะช่วยกันส่งเสริมการให้บริการสินเชื่อที่เป็น Responsible Lending ที่ผ่านมาสถาบันการเงินเร่งขยายสินเชื่อโดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งจะส่งผลให้ผลเสียในระยะยาว มิติที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการคลินิกแก้หนี้ ปัจจุบันลูกหนี้จำนวนมากมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีเจ้าหนี้หลายราย และไม่มีทางออก การปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้ทีละราย เป็นไปได้ยากที่จะไปเจรจาสำเร็จ ดังนั้น โครงการคลินิกแก้หนี้จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตและตั้งใจที่จะแก้ไขหนี้ และรักษาวินัยทางการเงิน ให้สามารถออกจากการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้
มิติที่สาม คือ การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการแก้ปัญหนี้ครัวเรือน จากผลการ survey พบว่า คนไทยเป็นจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่องการใช้บริการทางการเงิน และยุคนี้เป็นยุค Digital Finance และ Digital Banking ซึ่งจะทำให้คนตัดสินใจใช้บริการทางการเงินได้ง่าย ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ลูกหนี้ระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่ให้ใช้จ่ายเงินเกินตัว ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานร่วมกันให้ความรู้ทางการเงิน
สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นเสาหลักที่ 2 ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถออกจากกับดักหนี้ได้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 เป็นต้นมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM ร่วมมือกันจัดตั้งขึ้น โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็น One-stop service ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้หลายราย โดย SAM ซึ่งมีข้อตกลงด้านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการทุกราย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกัน ประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ และเรียกเก็บหนี้ ในทางปฏิบัติ เป็นไปได้ยากที่ลูกหนี้จะไปหาเจ้าหนี้ทุกรายและเจรจาหนี้ได้สำเร็จ ซึ่งเป็น Coordination failure คือการไม่สามารถประสานงานกันระหว่างแรงจูงใจและผลประโยชน์ของผู้ให้บริการและลูกหนี้ได้
โครงการคลินิกแก้หนี้ได้ดำเนินการมาประมาณ 2 ปี มีลูกหนี้ที่เข้ามาปรึกษา 37,000 ราย ลูกหนี้จำนวนมากยังไม่เป็น NPL จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ (Debt restructuring) ได้สำเร็จ 1,500 ราย ซึ่งมีเจ้าหนี้เฉลี่ย 3 ราย เงินต้นเฉลี่ย 300,000 บาท ทั้งนี้ เงื่อนไขของโครงการนี้จะช่วยให้ยอดผ่อนชำระและอัตราดอกเบี้ยลดลงมากไม่เกินร้อยละ 7 และระยะเวลาผ่อนยาวถึง 10 ปี กรณีที่ลูกหนี้มียอดหนี้ 100,000 บาท จะผ่อนชำระต่อเดือนเพียง 1,200 บาท เงื่อนไขสำคัญของโครงการ คือ ลูกหนี้ต้องแสดงเจตนารมณ์ว่าจะไม่ก่อหนี้เพิ่มเติม ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นโอกาสดีในการทดลองโครงการ ถึงแม้จะแก้ไขหนี้ให้ลูกหนี้ได้เพียง 1,500 รายเนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้ Non-bank รวมอยู่ด้วยจำนวนสูงพอสมควร จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ Non-bank เพื่อสามารถช่วยเหลือประชาชนได้กว้างขวางและเบ็ดเสร็จมากขึ้น ซึ่งลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียมีประมาณ 490,000 ราย ยอดหนี้เสียประมาณ 49,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ดังนั้น จึงต้องร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนและมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้
โอกาสนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ผู้ประกอบการ Non-bank 19 แห่ง ได้เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือประชาชน และเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ทั้งนี้ เมื่อรวมกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 16 แห่ง รวมเป็น 35 แห่ง จะสามารถครอบคลุมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้เกือบทั้งระบบ
ขอขอบคุณผู้บริหารของ Non-bank ทั้ง 19 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้ ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ ทีมงานของ ธปท. และ SAM ที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ ซึ่ง ธปท. เชื่อมั่นว่าโครงการคลินิกแก้หนี้
จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะอยู่กับระบบการเงินไทยต่อไป
หมายเหตุ-ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวเปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2
ห้องประชุมภัทรรวมใจ อาคาร 2 ชั้น 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย
วันที่ 7 พฤษภาคม 2562
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากโพสต์ทูเดย์