"ธีระ" แจงพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ไม่บังคับ-ให้ อปท.เร่งทำความเข้าใจชาวบ้าน
รมว.เกษตรฯ มั่นใจพื้้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่เพียงพอ แจงไม่บังคับแต่ให้ อปท.ทำความเข้าใจชาวบ้าน ชี้ผลดีสร้างเขื่อนแม่วงก์-แก่งเสือเต้น ส่วนรายละเอียดแผนจัดการน้ำปัดให้ถาม "ปลอดประสพ" รู้่ดีทุกเรื่อง
วันที่ 11 ก.ค. 55 นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับมือสถานการณ์อุทกภัยปี 55 ว่า ขณะนี้เขื่อนมีปริมาณน้ำ 3,000 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ซึ่งน้อยกว่าปี 54 ในช่วงเดียวกันถึงร้อยละ 6 ฉะนั้นมั่นใจว่าเขื่อนจะมีพื้นที่รองรับน้ำเพียงพอ ส่วนการจัดเขตพื้นที่ 2.1 ล้านไร่ สำหรับรับน้ำนองกว่า 5,000 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะไม่มีการประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติหากเกิดน้ำท่วมหนักขึ้นอีก
ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่นั้นต้องรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้การสร้างประตูระบายน้ำบางกรวยถาวรเสร็จแล้ว ส่วนประตูระบายน้ำบางบัวทองและพระอุดมไม่สามารถจัดสร้างถาวรได้ เพราะการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างล่าช้า จึงทำได้เพียงอนุมัติงบชั่วคราวจัดสร้างเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงค่าชดเชยและรายละเอียดของแผนการบริหารจัดการน้ำ รมว.กษ. ปฏิเสธการตอบคำถาม ก่อนบอกว่าให้ไปถามดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย
ส่วนประเทศไทยจำเป็นหรือไม่ที่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์และแก่งเสือเต้น นายธีระกล่าวตอบว่า การสร้างเขื่อนมีความจำเป็นกับเกษตรกรรมไทย เพราะต้องกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง และผลักดันน้ำเค็มที่ไหลย้อนเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ แต่จะสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนนั้นขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม ซึ่งมีบุคคลได้เสียผลประโยชน์แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามภาครัฐจะพยายามคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างให้มากที่สุด
นอกจากนี้รมว.กษ. ยังกล่าวถึงการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างไทยกับเกาหลี โดยเมื่อ 10 ก.ค. 55 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเดินทางเยือนเกาหลีของนายกรัฐมนตรี
สำหรับรูปแบบความร่วมมือของบันทึกความเข้าใจฯ แบบทวิภาคี มีดังนี้ 1.การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและเดินทางไปศึกษาดูงานทางวิชาการ 2.การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับการอบรม 3.การจัดประชุมและสัมมนาร่วมกัน 4.การวิจัยร่วมกันและการให้คำปรึกษาด้านวิชาการในไทย และ5.การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ข้อมูล และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการแม่น้ำหลักสี่สายของเกาหลีกับโครงการศึกษาลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไทย.