เอ็นจีโอจี้รัฐห้ามใช้สารอันตราย ผักขึ้นห้างสารพิษเพียบ
เอ็นจีโอจี้รัฐห้ามใช้สารเคมีอันตราย เผยผักขึ้นห้างสารพิษเพียบ ก.เกษตรฯ คลอดโลโก้คิวรับรองเกษตรอินทรีย์
วันที่ 11 ก.ค. 55 นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร แถลงผลการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด ตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผักจากห้างสรรพสินค้าชื่อดัง พร้อมยับยั้งการขึ้นทะเบียนสารเคมี “เมโททิล” ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า นิตยสารฉลาดซื้อคัดเลือกผัก 7 ชนิดที่วางขายในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาเก็ตมาวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา แบ่งออก 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผักที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเครื่องหมายคิวจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกหนึ่งกลุ่มเป็นผักที่ใช้ตราผลิตภัณฑ์ของห้าง โดยการวิเคราะห์นั้นจะดูการปนเปื้อนของสารเคมีออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต เทียบเคียงกับเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
โดยผลการวิเคราะห์พบว่า ผักกลุ่มมาตรฐานคิวประเภทถั่วฝักยาว ตราผักด๊อกเตอร์ ผลิตโดยบริษัทผักด๊อกเตอร์ จำกัด ซึ่งเก็บตัวอย่างจากท็อป ซุปเปอร์มาเกต สาขาเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ มีสารปนเปื้อนกลุ่มคาร์บาเมต 2 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน 0.07 มก./กก. กับเมโทมิล 0.08 มก./กก. ซึ่งตามมาตรฐานของมกอช. ถั่วฝักยาวสามารถมีสารคาร์โบฟูรานได้ไม่เกิน 0.1 มก./กก. และเมโทมิลไม่เกิน 1 มก./กก. แม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของไทย แต่กลับสูงกว่ามาตรฐานยุโรปอนุญาตให้มีสารเคมีตกค้างในถั่วฝักยาว 0.02 เท่านั้น
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า สำหรับผักกลุ่มตราห้าง พบว่า ผักชีตราห้างกูเม่ร์ มาร์เก็ต สยามพารากอน มีการปนเปื้อนของสารเคมีประเภทคลอร์ไพริฟอส 0.84 มก./กก. เมทิดาไทออน 0.06 มก./กก. อัลดิคาร์บ 0.01 มก./กก. และคาร์โบฟูราน 0.75 มก./กก. ขณะที่มาตรฐานสารเคมีตกค้างในผักชีของยุโรปพบคลอร์ไพริฟอสสูงสุดไม่เกิน 0.05 มก./กก. เมทิดาไทออน 0.02 มก./กก. อัลดิคาร์บ 0.02 มก./กก. และคาร์โบฟูราน 0.02 มก./กก. นอกจากนี้ยังมีพริกจินดาและผักชี ผลิตโดยไร่ฐิติวันต์ที่พบสารปนเปื้อน ยกเว้นกะหล่ำปลีตราโครงการหลวงเท่านั้นที่ไม่พบสารเคมีตกค้างเลย
“ฉลากรับรองมาตรฐานไม่การันตีว่าสินค้าไร้สารเคมีตกค้าง จึงต้องยกเลิกใช้สารเคมีอันตรายในไทย โดยเฉพาะเมโทมิล นอกจากนี้ยังมีคาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและมกอช.ต้องตรวจมาตรฐานสินค้าในตลาดสดและรถพุ่มพวง พร้อมปรับมาตรฐานเทียบเท่ายุโรปด้วย” น.ส.สารีกล่าว
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรป 27 ประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา ได้ยกเลิกการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดแล้ว แต่ไทยยังมีการขับเคลื่อนขึ้นทะเบียนเมโทมิล โดยนายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยและนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรร่วมผลักดัน ซึ่งมีบริษัทว่าจ้างประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของการใช้สารดังกล่าวแก่บริษัทดูปองท์ ผู้ผลิตและนำเข้าเมโทมิลรายใหญ่ของโลกอยู่เบื้องหลัง จึงจำเป็นต้องจับตาข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ บางคนที่ปกป้องผลประโยชน์กลุ่มทุนมากกว่าความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค ส่วนข้ออ้างหากไม่ขึ้นทะเบียนเมโทมิลจะส่งผลต่อการส่งออกมะม่วงไทยไปญี่ปุ่นนั้นไม่เป็นความจริง เพราะไทยมีสารเคมีและสารชีวภาพที่ทดแทนได้ เช่น การใช้บอระเพ็ด ขมิ้นชัน ทดแทน หรือกรณีเพลี้ยไฟ ด้วงปีกแข็งในมะม่วงใช้ยี่โถดอกเหลืองหรือดีปลีได้
ผอ.มูลนิธิชีววิถี ยังระบุว่า การที่บริษัทและเกษตรกรบางรายอ้างว่าเมโทมิลมีราคาแพงสองเท่า ตนตั้งข้อสังเกตว่า ไทยมีการนำเข้าเมโทมิลระหว่างม.ค.-ส.ค. 54 มากกว่า 2.4 ล้านกก. ซึ่งมากกว่าปี 53 ทั้งปี โดยนำเข้าเพียง 1.5 ล้านกก. จึงน่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดมากกว่า
“รมช.เกษตรฯ เคยรับปากกับเกษตรกรว่าจะไม่มีการขึ้นทะเบียนจนกว่าจะตรวจสอบ แต่ปัจจุบันยังไม่คืบหน้า ยิ่งในอนาคตไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีการผลักดันไทยเป็นครัวโลกและเป็นผู้นำกำหนดความปลอดภัยของอาหาร แต่มาตรฐานของไทยขณะนี้กลับย่ำแย่เสียเอง” นายวิฑูรย์กล่าว
ขณะที่นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามหลักการที่กระทรวงฯ เสนอเมื่อ 10 ก.ค. ผ่านมาเกี่ยวกับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตามร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานกับสินค้าเกษตร โดยมีลักษณะเป็นรูปวงกลมขอบสีดำ พื้นสีขาว ด้านล่างมีอักษร“ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” สีเขียวเข้ม ภายในมีรูปวงกลมสีเขียวอ่อน และมีอักษรภาษาอังกฤษ “Organic” สีเขียวเข้มเหนือภาษาอังกฤษ “Thailand” สีดำ ใต้อักษรภาษาอังกฤษมีลายเส้นสามเส้น สีแดง น้ำเงิน และสีแดง โดยเครื่องหมายรับรองจะมีขนาดเท่าไรก็ได้ แต่ต้องตรงตามสัดส่วนที่ระบุในท้ายกฎกระทรวง หรือจะใช้สีใดก็ได้ หากไม่สามารถใช้สีตามที่ระบุได้ โดยสีนั้นจะต้องชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การผลิตและแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย พบว่า ปี 54 มีการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ มูลค่า 1.4 พันล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอีก 5-10 % ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมีตราสัญลักษณ์ดังกล่าว แต่หากผู้ผลิตไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจะโดนยึดใบรับรองมาตรฐานทันที และมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท.