วิษณุ เครืองาม:พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดิน
"...ความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ข้อที่หนึ่ง เป็นการดำเนินการตามโบราณราชประเพณี หรือพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามามีอิทธิพลในทวีปเอเชีย ผ่านทางลังกาเข้าพม่าลาว ไทย กัมพูชาพิธีบรมราชาภิเษก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Coronation นั้น เป็นพิธีที่มีในทุกประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน แม้แต่ประเทศในฝั่งยุโรปที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์ ทั้ง ในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในอดีต หรือสเปนในปัจจุบัน จะมีสังฆราชบาทหลวงมาทำพิธี และบางประเทศเป็นผู้สวมมงกุฎ ให้พระเจ้าแผ่นดิน ..."
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 คนไทยส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสได้เห็น หรือมีส่วนร่วมกับพิธีบรมราชาภิเษกที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่สำคัญพระราชพิธีนี้ไม่เพียงเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันวิจิตรงดงามและยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่ยังเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงถึงการเข้ารับตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนชาวไทยจะได้มีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาฉายภาพถึงที่มา ความสำคัญ และการสืบสานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลจวบจนปัจจุบัน
• ความสำคัญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
คำว่า“บรมราชาภิเษก” มาจากคำว่า“บรม” หรือ “ปะระมะ” แปลว่ายิ่งใหญ่ สมาสกับคำว่า“ราชะ” แปลว่าพระมหากษัตริย์ และสนธิกับคำว่า“อภิเษก” แปลว่ารดน้ำ เมื่อรวมกันก็คือ การรดน้ำถวายพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งในสมัยอยุธยาไม่เรียกว่า “บรมราชาภิเษก” เรียกว่า“ราชาภิเษก” เท่านั้น แล้วภายหลังมีการเพิ่มคำว่า“บรม” เข้ามา
ความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ข้อที่หนึ่ง เป็นการดำเนินการตามโบราณราชประเพณี หรือพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามามีอิทธิพลในทวีปเอเชีย ผ่านทางลังกาเข้าพม่าลาว ไทย กัมพูชาพิธีบรมราชาภิเษก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Coronation นั้น เป็นพิธีที่มีในทุกประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน แม้แต่ประเทศในฝั่งยุโรปที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์ ทั้ง ในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในอดีต หรือสเปนในปัจจุบัน จะมีสังฆราชบาทหลวงมาทำพิธี และบางประเทศเป็นผู้สวมมงกุฎ ให้พระเจ้าแผ่นดิน ความสำคัญข้อที่สอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเข้ารับตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ตามโบราณ ราชประเพณี ไม่ใช่สมบูรณ์ตามกฎหมาย การขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยที่ผ่านมาจะมีขั้นตอน 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่ง ขั้นตอนรับพระราชสมบัติ การที่พระองค์ทรงยอมรับพระราชสมบัติ และขึ้นครองราชย์ เพียงเท่านี้ก็สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ สมบูรณ์ทั้งพฤตินัยและนิตินัย สามารถลงพระนามในเอกสารทุกอย่าง มีพระราชสิทธิและพระราชอำนาจเต็ม ไม่มีลดหย่อนผ่อนอะไรเลย อย่างไรก็ดี ประเทศไทยรับคตินิยมมาจากศาสนาพราหมณ์ เราจึงมีพิธีในขั้นตอนที่สอง คือ การบรมราชาภิเษก เป็นขั้นตอนตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะมีหรือไม่ ก็ไม่กระทบกับการเป็นพระมหากษัตริย์ โดยสมบูรณ์ เพราะสมบูรณ์ในขั้นตอนที่หนึ่งอยู่แล้ว
• พระมหากษัตริย์ที่ไม่เคยผ่าน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รัชกาลที่ 8 แม้ไม่เคยผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ พระองค์ทรงรับราชสมบัติ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ในขณะที่ มีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษาทรงมีพระราชอำนาจเต็ม แต่เนื่องจากทรงพระเยาว์และยังประทับอยู่ต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการทำหน้าที่แทน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2488 ทรงเสด็จ นิวัติพระนคร แต่เนื่องจากสงครามเพิ่งจบ ภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดี รัฐบาลไม่มีความพร้อม และต้องกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงไม่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในคราวเสด็จกลับครั้งนั้น และในปีรุ่งขึ้น ก่อนเสด็จกลับก็เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 8 จึงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ครองราชย์ 12 ปี โดยไม่มีพิธีบรมราชาภิเษก แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะไปลดพระเกียรติยศลงได้
• พระมหากษัตริย์ที่ผ่าน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมากกว่า 1 ครั้ง
พระมหากษัตริย์พระองค์อื่นทรงมีโอกาสและมีเวลาจึงผ่าน ทั้ง 2 ขั้นตอน บางรัชกาลทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถึง 2 ครั้ง รัชกาลที่ 1 มีพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง เมื่อพระองค์ทรง ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2325 ซึ่งขณะนั้น บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย พระราชวังยังไม่สร้าง เครื่องใช้ไม้สอยก็มีไม่พอ แต่หลังจากพระองค์ทรงประกอบ พิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก นอกจากงานเตรียมพระราชวัง และเครื่องใช้ไม้สอยแล้ว พระองค์ได้สืบหาพราหมณ์และผู้รู้ ธรรมเนียมต่างๆ โดยบุคคลสำคัญที่ช่วยพระราชพิธีในครั้งนั้น คือ เจ้าฟ้าพินทวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศ ทรงมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดราชประเพณี ในราชสำนักฝ่ายในตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและทรงโปรดให้ เจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นผู้จดบันทึก จนกระทั่งทำเป็นตำราได้ หนึ่งเล่มชื่อ “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” ซึ่งได้ใช้เป็นแบบแผนสืบมาหนึ่งในเรื่องที่น่าอัศจรรย์คือ ในระหว่างรอพิธีบรมราชาภิเษกครั้งใหม่ ชาวบ้านไปทอดแหที่ทะเลสาบในประเทศเขมร (สมัยนั้นยังเป็นของไทย) ได้พระขรรค์ที่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กษัตริย์เขมรใช้ในพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อมีผู้นำมาถวาย รัชกาลที่ 1 ทรงโสมนัสยิ่ง และทรงนำพระขรรค์นี้มาใส่ฝักไม้หุ้มทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี และใช้พระขรรค์นี้ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2328
รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก พ.ศ. 2411 เมื่อพระชนมพรรษา 15 ปี หลังจากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตไม่กี่วัน พิธีครั้งนั้นจึงทำแค่พอประมาณ เพราะขณะนั้นอยู่ในช่วงทุกข์โศก และพระองค์ยังทรงมีพระชนมายุน้อย อีกทั้งในช่วงนั้นพระองค์ทรงประชวรหนัก หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2416 เมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษาทรงผนวชตามประเพณี ซึ่งถือว่าบรรลุนิติภาวะเป็นผู้ใหญ่แล้วจึงทรงจัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2
รัชกาลที่ 6 ในช่วงพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงสงคราม หลังจากนั้นหนึ่งปี พระองค์ทรงมีพระวินิจฉัยว่าควรจัดพิธีอีกครั้งให้ยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงศักดานุภาพให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่าไทยมีประเพณีอันเป็นอารยะ จึงทรงจัดพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ซึ่งเป็นพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 โดยทรงเชิญผู้นำจากนานาประเทศและมีแขกมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
• พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ในการดำเนินการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้มีคณะกรรมการใหญ่หนึ่งชุด ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ ประธานและ ที่ปรึกษาโดยมีคณะกรรมการอีก 5 คณะ โดยงานพระราชพิธีครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง พระราชพิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย พระราชพิธีเบื้องต้น เป็นขั้นตอนการตระเตรียมงาน
เริ่มวันแรกในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรี เป็นวันเตรียม น้ำที่จะนำมาใช้ในพระราชพิธี นับตั้งแต่สมัยอยุธยาน้ำจะมาจากหลายแหล่ง แหล่งแรก คือ “เบญจสุทธคงคา” แปลว่าแม่น้ำ บริสุทธิ์ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี แหล่งที่สอง คือ จากสระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระที่จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งขุดมาตั้งแต่โบราณ ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคาและสระยมนาแหล่งที่สาม คือ น้ำจากเมือง ต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 9 นำมาจากหัวเมือง 18 แห่ง แต่ในรัชกาลที่ 10 ทรงให้ทุกจังหวัดมีส่วนร่วม ซึ่งในบางจังหวัดมีแหล่งน้ำ 2 จุด บางจังหวัดมี 3 จุด สูงสุดคือ 6 จุด สำหรับกรุงเทพฯ จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังมาร่วมในพิธีด้วย รวมทั้งหมด 108 แห่ง นอกจากนี้ ก่อนตักน้ำจะมีพิธีพลีกรรม หรือพิธีบวงสรวง เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณหน้าแหล่งน้ำนั้น ๆ
วันที่ 8-9 เมษายน จะนำน้ำทั้งหมดไปประดิษฐานไว้ที่วัดศักดิ์สิทธิ์ โบราณในเมืองนั้น ๆ
วันที่ 18-19 เมษายน จะเชิญน้ำจากทุกแหล่งเข้ามาที่วัดสุทัศน เทพวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ 22-23 เมษายน เป็นพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยวิธีจารึกอาลักษณ์จะใช้เหล็กแหลมแกะพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่จะตั้งขึ้นใหม่ลงบนแผ่นทองคำ แผ่นดวงพระราชสมภพ (วันเกิด) และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งใช้เป็นดวงตราประทับกำกับพระปรมาภิไธย และเอกสารราชการแผ่นดิน
วันที่ 3 พฤษภาคม จะมีพิธีสำคัญคือ การประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นสมเด็จหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ เป็นผู้อ่านบทชุมนุมเทวดาและประกาศเรื่องการสถาปนากษัตริย์เพื่อให้เทพยดาฟ้าดินได้รับรู้ ซึ่งพิธีนี้ทำมาตั้งแต่ สมัยอยุธยา
พระราชพิธีเบื้องกลาง หรือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ในวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันสำคัญที่สุด เรียกวาวันบรมราชาภิเษก ตามพระฤกษ์ที่กำหนดไว้ ช่วงเช้ามีพิธีสำคัญ เป็นลำดับไป
• พิธีสรงมุรธาภิเษก
เริ่มจากพิธีสรงมุรธาภิเษก พระเจ้าแผ่นดินจะทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ที่เรียกว่า เศวตพัสตราภรณ์ (นุ่งขาวห่มขาว) เสด็จขึ้น ไปประทับที่มณฑปพระกระยาสนาน ต่อจากนั้นจะเข้าสู่การสรงมุรธาภิเษก “สรง” แปลว่าอาบน้ำ “มุรธา” แปลว่าศีรษะส่วนบนสุด “อภิเษก” แปลว่ารดน้ำ
รวมความ คือ รดน้ำจากหัวจรดเท้าโดยการไขพระสุหร่าย (ฝักบัว) ซึ่งทำแบบนี้มาแต่โบราณ เรียกว่า“สหัสธารา” แปลว่าน้ำพันสาย จากนั้นสมเด็จพระสังฆราชทรงสรงน้ำถวายเบื้องพระปฤษฎางค์และพระหัตถ์ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคติของพราหมณ์ในอินเดียโบราณที่ใช้น้ำเป็นสื่อแสดงการสถาปนาแต่งตั้งบุคคลสำคัญ โดยถือว่าการรดน้ำ หรือ สรงชำระร่างกาย แสดงถึงการ ก้าวย่างเข้าสู่ชีวิตใหม่ที่มีสถานะต่างไปจากเดิม พิธีการสถาปนากษัตริย์ด้วยการสรงน้ำ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากมนุษย์ธรรมดาไปเป็นสมมติเทพ
• พิธีถวายสิริราชสมบัติ
เมื่อสรงมุรธาภิเษกเสร็จแล้ว จะเสด็จออกจากมณฑปพระกระยาสนานไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน ซึ่งเป็นหอพระเก็บพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ หมายถึง เครื่องทรงเต็มยศพระเจ้าแผ่นดิน ขาดแต่พระมงกุฎ และเสด็จเข้าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประทับพระราชอาสน์ที่มีชื่อว่าพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ แปลว่า แท่นที่นั่งที่มีแปดมุม แปดเหลี่ยมทำจากไม้มะเดื่อ ซึ่งโบราณถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วแต่พระองค์จะเสด็จประทับมุมหนึ่งมุมใดหรือทิศใดทิศหนึ่ง โดยแต่ละทิศจะสะท้อนความศิริสวัสดิมงคลด้านต่าง ๆ และในแต่ละทิศจะมีผู้รอถวายน้ำอภิเษก แล้วทรงเวียนไปจนครบแปดทิศ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ขั้นตอนที่พระที่นั่งนี้สำคัญมากเพราะเมื่อ เสร็จจากขั้นตอนนี้พระองค์จะเปลี่ยนจาก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
เมื่อพระองค์เสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์จะเข้าไปถวายพระราชสมบัติ เริ่มจากถวายพระสุพรรณบัฏ ต่อมาคือ พระมหาสังวาลที่ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ตามด้วยการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
• ความหมายที่ลึกซึ้งของ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นสิ่งที่มีความหมายแยบคาย เพื่อให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ตระหนักถึงหน้าที่และ ความรับผิดชอบต่ออาณาประชาราษฎร์ กล่าวคือ พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งหนักถึง 7.3 กิโลกรัม เพื่อบอกให้รู้ว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นต้องทรงรับพระราชภาระที่หนักยิ่ง เสมือนหนึ่งต้องทรงพระมหามงกุฎไว้บนพระเศียร พระแสงขรรค์ชัยศรี เพื่อบอกว่าพระแสงขรรค์ตัดอะไร เป็นเส้นตรงหมด ไม่เคยคด จึงต้องทรงตัดสินคดีทั้งหลายอย่างเที่ยงธรรม ธารพระกร เพื่อบอกว่าคนเราจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องมีหลักยึด เสมือนหนึ่งมีไม้เท้าไม่เช่นนั้นจะซวนเซง่าย วาลวิชนี เพื่อบอกว่าพระเจ้าแผ่นดิน คือ ผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุข ขจัดปัดเป่าภยันตราย ความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เสมือนหนึ่งการใช้ แส้และพัดฉลองพระบาทเชิงงอน เพื่อบอกว่าถ้าพระองค์เสด็จไปทางใดไม่ใส่รองเท้าก็จะถูกหนามตำ ถ้ามีรองเท้าจะเดินสบายพสกนิกรทั้งหลายเปรียบเสมือนแผ่นดินและฉลองพระบาทไม่ให้มีภยันตรายใด ๆ จึงมีหน้าที่ ต้องรักษารองเท้าคู่นี้ให้ดี ต้องทะนุบำรุงรักษาประชาชน เพราะเป็นผู้รองรับพระองค์ไว้ ต่อจากนั้นจะถวายพระแสงราชศาสตราวุธ และพระแสงอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นของที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็ก เช่น พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงของ้าว เจ้าพระยาแสนพลพ่าย รวมกับพระแสงอื่นที่เป็นเครื่องใช้ของพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นสิริมงคล หลังจากถวายครบถือว่าพิธีถวายสิริราชสมบัติเสร็จสิ้น พราหมณ์จะพูดประโยคสำคัญ แปลเป็นไทยว่า“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม บัดนี้ พระองค์ ทรงรับราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยสมบูรณ์แล้ว ขอได้มีพระปฐม บรมราชโองการ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ” ประโยคที่พราหมณ์กล่าวมีความสำคัญ 3 ประการ คือ หนึ่ง เป็นครั้งแรกที่เราจะใช้คำว่า“ขอเดชะ” กับพระองค์ ทุกวันนี้ยังใช้ไม่ได้ สอง เราจะเริ่มเรียกพระองค์ว่า “พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว” นับแต่นาทีนั้นเป็นต้นไป สาม คำพูดของพระองค์จะเป็น “พระบรมราชโองการ” จากเดิมที่เป็นพระราชโองการ ซึ่งคำสามคำนี้สงวนไว้ใช้กับพระมหากษัตริย์ที่ผ่าน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เท่านั้น
• การเสด็จออกมหาสมาคม
จากนั้นตอนบ่าย เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และเสด็จประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ทรงรับการถวายพระพรจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี ข้าราชการผู้ใหญ่ และมีพระราช ดำรัสตอบ ถือเป็นการว่าราชการครั้งแรก ตอนเย็นเสด็จไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยขบวนราบใหญ่ ขึ้นบนเสลี่ยงคานหาม เพื่อไปนมัสการพระแก้วมรกต และปฏิญาณ พระองค์ต่อหน้าคณะสงฆ์ว่าจะทรงเป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกตามโบราณ ราชประเพณี เหมือนดังที่รัชกาลที่ 1 ทรงเคยตรัสไว้ว่า“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี”
• พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร
ช่วงค่ำ มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเปรียบเสมือนการขึ้นบ้านใหม่ การทำพิธีจะมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และในหลวงทรงเอนพระองค์ลงบรรทมเป็นปฐมฤกษ์เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้มาทุกรัชกาล เดิมพระเจ้าแผ่นดินจะประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานจนสิ้นรัชกาล แต่ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินจะประทับหนึ่งราตรี โดยรัชกาลที่ 9 ทรงประทับแรมอยู่คืนหนึ่งเป็นการจบพิธีของ วันที่ 4 พฤษภาคม และวันที่ 4 พฤษภาคมปีหน้าจะเป็น “วันฉัตรมงคล” แต่ปีนี้ยังไม่เรียกวันฉัตรมงคล เพราะ “ฉัตรมงคล” แปลว่าวันที่ระลึกคล้ายวันที่ทรงรับเศวตฉัตร
วันที่ 5 พฤษภาคม ตอนเช้า ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ ต่อจากนั้นเวลา 16.30 น. จะเป็นพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวน พยุหยาตราทางสถลมารค เรียกสั้น ๆ ว่า“เลียบพระนคร” เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ได้เฝ้าชมพระบารมี
• การเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารค
การเลียบพระนครครั้งนี้มีระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาในขบวนประมาณ 3 ชั่วโมง โดยประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จจากพระบรมมหาราชวังไปยังอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดละ 30 นาที รวมเป็น 4 ชั่วโมงครึ่ง จุดที่ขบวนไปหยุดหน้าวัดจะมีแท่น เรียกว่า“เกย” ซึ่งเมืองไทย จะมีอยู่ที่วัดบวรฯ วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ เพื่อนมัสการพระประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร ดังนั้น วัดที่มีเกย ก็คือ วัดที่พระมหากษัตริย์เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราบ่อย ๆ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 พระองค์ไม่ได้เสด็จ เลียบพระนครทันที เนื่องด้วยต้องเสด็จกลับต่างประเทศ พระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จเลียบพระนคร เมื่อครั้งมีพระราชพิธี รัชดาภิเษก เพื่อเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติ ครบ 25 ปี และ เสด็จวัดบวรฯ เพียงแห่งเดียว
• การเสด็จออกสีหบัญชร
วันที่ 6 พฤษภาคม วันสุดท้ายของพระราชพิธีเบื้องกลางจะมี พิธีสำคัญตอน 16.30 น. คือ การเสด็จ ณ สีหบัญชรขอ งพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวาย พระพรชัยมงคล จากนั้นจะเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุฑูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
• การเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค
พระราชพิธีเบื้องปลาย คือ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบ พระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ตุลาคม มีขบวนเรือทั้งหมด 52 ลำ เต็มยศสูงสุด เสด็จออกจาก ท่าวาสุกรี ไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อทรงบำเพ็ญ พระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
• น้อมใจภักดิ์ ราชสดุดี
สุดท้ายนี้ ดร.วิษณุ แนะนำว่าประชาชนสามารถรอเฝ้ารับเสด็จ ได้ตลอดสองข้างทางในวันที่ 5 พฤษภาคม ขณะเสด็จเลียบพระนคร และวันที่ 6 พฤษภาคม ขณะเสด็จออกสีหบัญชร เป็นธรรมเนียมเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าชมพระบารมี ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
ทั้งนี้ อยากเชิญชวนให้ประชาชนแต่งกายด้วยชุดสีเหลือง ตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนกรกฎาคมเป็นเวลา 4 เดือน และอยากชวนเชิญประชาชนติดเข็มสัญลักษณ์ตราพระราชพิธีไว้ที่อกเสื้อด้วย และนี่คือแง่มุมด้านประวัติศาสตร์ ของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีแห่งพระมหากษัตริย์ที่มี การสืบสานมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดิน และมีความสำคัญยิ่ง เพราะการประกอบพิธีแต่ละขั้นตอนแฝงด้วยความศักดิ์สิทธิ์และแสดงถึงการเทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์
ที่มา : นิตยสารพระสยามของธนาคารแห่งประเทศไทย version เป็น e-book https://www.bot.or.th/Thai/phrasiam/Documents/Phrasiam_2_2562/Phrasiam2_62.pdf