เสรีภาพบนความรับผิดชอบ สกัดกั้นข่าวปลอม หล่อหลอมความจริง
"...ผู้มีหน้าที่สื่อข่าวก็ดี หรือมีหน้าที่ประสานความเข้าใจระหว่างคนหลายชาติหลายชั้นก็ดี ควรสำนึกอยู่เสมอว่า งานของเขาเป็นงานสำคัญและมีเกียรติสูง เพราะหมายถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสร้างสันติสุขให้แก่โลก การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวัง หรือแม้แต่คำพูดง่าย ๆ เพียงนิดเดียว ก็สามารถจะทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายได้พยายามสร้างสรรค์ไว้ด้วยความยากลำบาก เป็นเวลาแรมปี...”
“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศ เพื่อให้สังคมทุกภาคส่วนตื่นตัว ตระหนักและให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานของการมี “เสรีภาพของสื่อมวลชน” คือ “เสรีภาพของประชาชน” หากสื่อมวลชน ไร้ซึ่งเสรีภาพในการตรวจสอบ นำเสนอ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านแล้ว ย่อมทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างรอบด้านก็จะถูกลิดรอนไปเช่นกัน
“สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ยังคงสนับสนุนหลักการดังกล่าว ที่ต้องการเห็นสื่อทุกประเภทในทุกช่องทางการนำเสนอ ตระหนักถึงคุณค่าของการได้มาซึ่ง “เสรีภาพ” ที่ต้องยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ภายใต้หลักการ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” ท่ามกลางความคาดหวังและการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งจากภาคส่วนต่าง ๆ ในยุคสังคมออนไลน์ จึงต้องมีความพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบด้วยวิธีการต่าง ๆ
เพื่อเป็นการย้ำเตือนกับวิชาชีพสื่อมวลชน “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ขอน้อมนำพระราชดำรัสของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2512 ความว่า…
"ผู้มีหน้าที่สื่อข่าวก็ดี หรือมีหน้าที่ประสานความเข้าใจระหว่างคนหลายชาติหลายชั้นก็ดี ควรสำนึกอยู่เสมอว่า งานของเขาเป็นงานสำคัญและมีเกียรติสูง เพราะหมายถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสร้างสันติสุขให้แก่โลก การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวัง หรือแม้แต่คำพูดง่าย ๆ เพียงนิดเดียว ก็สามารถจะทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายได้พยายามสร้างสรรค์ไว้ด้วยความยากลำบาก เป็นเวลาแรมปี”
ที่มา : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย