สสส.จับมือตำบลธรรมามูล พลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างชุมชนต้นแบบสู้ภัยพิบัติ
สสส.ร่วม 33 พื้นที่ทำศูนย์แก้ภัยพิบัติภาค ปชช. ชูตำบลธรรมามูล ชัยนาท ต้นแบบชาวบ้านร่วมถอดบทเรียนพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างคลังอาหาร ปลูกพืชทนน้ำ อบรมแกนนำสู้ภัยพิบัติ
วันที่ 10 ก.ค.55 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ “เรียนรู้สู้อุทกภัย พึ่งตนเองได้ไม่รอถุงยังชีพ” โครงการศูนย์แก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชนตำบลธรรมามูล จ.ชัยนาท ว่าโครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบสำคัญในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย และมีการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น ตามโครงการฟื้นฟูสุขภาวะชุมชนที่ประสบอุทกภัยของ สสส.ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ มี.ค.55 เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ใน 33 พื้นที่ทุกภูมิภาค ครอบคลุมการจัดการภัยพิบัติทั้ง 3 ระยะ คือ
1. ก่อนเกิดภัย เน้นระบบการเรียนรู้ ป้องกันความเสี่ยง เตือนภัย 2.เมื่อเกิดภัย เน้นระบบปฏิบัติการพิเศษในภาวะฉุกเฉินเพื่อระงับภัย ช่วยชีวิต อพยพ ปฏิบัติการทางการแพทย์ และศูนย์พักพิง 3.ระยะหลังเกิดภัย เน้นระบบช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูชีวิต สิ่งแวดล้อม อาชีพ สังคมวัฒนธรรม สามารถรับมือสถานการณ์พิเศษต่างๆที่อาจเกิดขึ้นทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ ดินถล่ม แผ่นดินทรุดตัว
ทพ.กฤษดา กล่าวต่อว่าเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนชุมชนธรรมมามูล ว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข ซึ่ง สสส.จะน้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางสำคัญดำเนินงาน สสส.ยังร่วมกับ 1,234 ตำบลเครือข่าย และแกนนำระดับตำบลกว่า 30,000 คนทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นผ่านโครงการต่างๆ โดยเชื่อมั่นว่าแม้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นหลักที่มั่นคงให้ประเทศชาติฝ่าฟันและก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน
นายธวัชชัย เอี่ยมจิตร์ กำนันตำบลธรรมมามูล กล่าวว่าวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมาสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้น พื้นที่เกษตรกว่า 2 หมื่นไร่ ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ต้องรอถุงยังชีพจากภายนอก บางครั้งไม่ทันการณ์ ปีนี้จึงร่วมกับ สสส.ระดมความเห็นชาวบ้านถอดบทเรียนเพื่อให้ทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข ต่อยอดเป็น 2 โครงการ
ได้แก่ คลังอาหาร เปลี่ยนชีวิตการเกษตร เช่น คัดเลือกสายพันธุ์ที่ปลูกให้ทนทานต่อน้ำท่วมขัง หรือเก็บเกี่ยวได้ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก แปรรูปถนอมอาหารไว้กินนานๆ ปลูกผักสวนครัวในกระถางเพื่อสามารถย้ายขึ้นแพหากเกิดน้ำท่วม และโครงการศูนย์แก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชน จ.ชัยนาท อบรมแกนนำชุมชนในตำบล 10 หมู่บ้าน ให้เข้าใจพื้นที่ว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ใดปลอดภัย รวมถึงจัดทีมช่วยเหลือแบบบูรณาการ เช่น คนขับเรือ ทีมสาธารณสุข ทีมประสานงาน ป้องกันความสับสนซ้ำซ้อน ซึ่งถือเป็นการพลิกวิกฤติความสูญเสียเป็นโอกาสปรับตัวให้สามารถรับมือภัยพิบัติได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น