อีก 17 วัน ครบนิรโทษกรรมกัญชา ‘นพ.ธีระวัฒน์’ จี้อำนวยความสะดวก ปชช. แจ้งครอบครอง
คณบดีเภสัช จุฬาฯ เผยวิจัย ‘กัญชา’ จากโมเดล อ.เดชา อยู่ระหว่างการพัฒนา มุ่งใช้จริง เป็นโอกาสรับข้อมูลชัดเจน ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ คาดหวังอีก 17 วัน ครบกำหนดนิรโทษกรรม ต้องทำให้ผู้ป่วยมาขึ้นทะเบียนมากที่สุด โดยไม่ถูกจับ-ปรับ อำนวยความสะดวก ปชช. เเจ้งครอบครอง
วันที่ 2 พ.ค. 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 เรื่อง กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ? ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการพัฒนางานวิจัยกัญชาจากโมเดลนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จะเข้าไปดูว่า สามารถนำไปใช้ในโรคและอาการอะไรบ้าง เมื่อนำไปใช้แล้ว ผลออกมามีประสิทธิภาพ อาการข้างเคียง และไม่พึงประสงค์อย่างไร ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ ซึ่งจะมีลักษณะจากการใช้จริง ถือเป็นโอกาสทำให้ได้รับข้อมูลชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักวิจัย ไม่เฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทในการปลูกกัญชาให้ใช้ในประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนการตรวจสอบสารปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง เชื้อรา หรือตัวทำละลายในการนำมาสกัด มีความปลอดภัยมกาน้อยเพียงใด และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ด้านศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วันที่ 19 พ.ค. 2562 จะครบกำหนดเวลานิรโทษกรรมกัญชา ดังนั้นขณะนี้เหลือเวลาเพียง 17 วัน จะต้องทำให้ผู้ป่วยทั่วประเทศมาขึ้นทะเบียน โดยไม่ถูกจับและปรับ และต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วประเทศมาขึ้นทะเบียนง่ายมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อ อย.อนุมัติเป็นผู้ขึ้นทะเบียนแล้ว หลังจากวันที่ 15 พ.ค. 2562 ออกไปอีก 3 เดือน ผู้ป่วย ผู้ผลิต/สกัด ยังคงครอบครองได้ต่อไป แต่หลังจากพ้นกำหนดทุกอย่างจะต้องอยู่ในระบบ เพื่อความปลอดภัยและสะอาดจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง
ขณะที่ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผอ.กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ จัดตั้งสำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว และทำงานเป็นสำนักเลขานุการในคณะกรรมการการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในเรื่องการผลิตยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ได้นำวัตถุดิบจากการทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ปลูกในระบบผิด และสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยผลิตยาเพื่อใช้และการวิจัย อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์แผนไทย มีข้อห่วงใย กัญชาอาจนำมาสูดหรือใช้เพื่อสันทนาการ ซึ่งเป็นข้อเสีย เพราะฉะนั้นการทำเครื่องยาแผนไทยมาใช้ในการผลิต ต้องบดและผสมกับยาบางตัวที่อยู่ในตำรับ
ภญ.ดร.อัญชลี ยังกล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังจัดอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์แผนไทย และวันที่ 29-30 เม.ย. 2562 จัดอบรมวิทยากรสำหรับไปเป็นครู โดยมีทีมงานของนายเดชา และมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าร่วมด้วย ส่วนการอบรมหมอพื้นบ้าน ปัจจุบันรับรองแล้ว 2,743 คน รวมนายเดชาอยู่ด้วย แต่ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี ในการเก็บประสบการณ์ในขอยื่นเพื่อรับไลเซ่นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/