การถือหุ้นสื่อ ของส.ส. เป็นความผิดที่เป็น Mala In Se หรือ Mala Prohibita ?
ความผิดตาม (3) นี้ผู้เขียนจึงเห็นว่า เป็นความผิดตามกาลเทศะ ตามเทศกาลของบ้านเมืองจึงเป็นความผิดที่เป็น Mala Prohibita คือเป็นความผิดเพราะมีกฎหมายพิเศษบัญญัติห้ามไว้ ไม่ใช่ความผิดในตัวเอง คือ Mala in se แต่ก็ไม่อาจอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวได้ทั้งสองความผิด
ก่อนที่จะพิจารณาวิเคราะห์ว่าความผิดในการถือหุ้นสื่อที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 98 และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ความว่า
“บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
จะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ตามทฤษฎีแบ่งแยกความผิดว่าเป็นความผิดที่เข้าลักษณะ Mala In Se หรือ de´lits naturels คือความผิดในตัวของมนุษย์นั้นเอง โดยทั่วไปเป็นความผิดที่ต้องมีเจตนา จึงเป็นความผิด ส่วนความผิดที่เป็น Mala Prohibita หรือ de´lits articiels ou de´temp et de´lieu คือความผิดที่มีกฎหมายห้ามโดยบัญญัติให้เป็นความผิดตามพฤติการณ์ของกาลเทศะ หรือตามเทศกาลของบ้านเมืองที่อาจแตกต่างกันไปตามยุคสมัยที่อาจแก้ตัวได้ว่า ไม่รู้กฎหมาย เช่นความผิดที่จะต้องขออนุญาตในการกระทำกิจการบางเรื่อง หรือความผิดตามกฏจราจร
ความผิดดังกล่าวนี้อาจเปรียบเทียบได้กับโทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบทในพระธรรมวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ คือศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ที่แต่ละข้อเรียกว่า “สิกขาบท” และมีโทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบทที่แตกต่างกัน คือถ้า “อาบัติหนัก” ได้แก่ปาราชิก ต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที มี 4 อย่าง คือ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ส่วนอาบัติเบา หรืออาบัติไม่ชั่วหยาบเยียวยาแก้ไขได้ ที่อาจจะพ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตนแก่สงฆ์หรือแก่ภิกษุอื่นเพื่อเปลื้องโทษทางวินัย คือการ “ปลงอาบัติ” สิกขาบท 227 ข้อนี้มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ที่เรียกว่า “พระสงฆ์ต้องทำอุโบสถ” เพื่อจะอ้างไม่ได้ว่าไม่รู้สิกขาบท 227 ข้อ
ส่วนความไม่รู้กฎหมายของบุคคลนั้น แม้เป็นความจริงในปัจจุบันมีบุคคลไม่รู้กฎหมายอยู่เป็นจำนวนมากที่เป็นกฎหมายเทคนิคใหม่ๆ บัญญัติเฉพาะเรื่องนั้นเป็นพิเศษ แต่โดยนโยบายของกฎหมาย ไม่ยอมให้ใครอ้างความไม่รู้กฎหมายเป็นข้อแก้ตัวไม่รับผิด เพราะกฎหมายจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงต้องถือว่าต้องรู้กฎหมาย ที่ตามข้อเท็จจริงประชาชนก็ไม่ได้มีโอกาสอ่านราชกิจจานุเบกษากันทุกคน
ย้อนกลับไปถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ที่บัญญัติว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ขอให้สังเกตที่รัฐธรรมนูญใช้คำว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น” จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กฎหมายห้ามถึงสถานะ หรือสถานะภาพสองประการ ที่เป็นการตัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความมาตรานี้อย่างเคร่งครัด คือ
1. การเป็นเจ้าของในลักษณะที่ต้องเป็นเจ้าของคือมี “กรรมสิทธิ์”จะทั้งหมดหรือบางส่วนในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือ
2. เป็นผู้ถือหุ้น คือการเป็นหุ้นส่วนที่ต้องมีสิ่งใดมาลงหุ้น กล่าวคือต้องมีการกระทำกิจการร่วมกันและมีสิทธิจะได้รับส่วนกำไรอันเกิดจากกิจการที่ทำนั้น จึงจะถือว่าเป็นผู้ถือหุ้น
เพราะบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆและโดยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงมีข้อห้ามการเป็นเจ้าของหรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือ ที่อาจมีการกระทำที่ไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกรัฐสภา ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ
ความผิดตาม (3) นี้ผู้เขียนจึงเห็นว่า เป็นความผิดตามกาลเทศะ ตามเทศกาลของบ้านเมืองจึงเป็นความผิดที่เป็น Mala Prohibita คือเป็นความผิดเพราะมีกฎหมายพิเศษบัญญัติห้ามไว้ ไม่ใช่ความผิดในตัวเอง คือ Mala in se แต่ก็ไม่อาจอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวได้ทั้งสองความผิด
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาที่สำคัญต่อไปมีว่า การต้องห้ามตาม (3) นี้จะถือเป็นความผิดจะสำเร็จเมื่อใด กล่าวคือ เป็นความผิดที่ต้องมีผลปรากฏ ( dèlits materiels) หรือความผิดไม่ต้องมีผลปรากฏ (dèlits formels ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
วิเคราะห์ได้ดังนี้ ความผิดใน (3) นี้สืบเนื่องมาจากในการจดทะเบียนบริษัท จำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จะต้องระบุวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธินั้น ผู้ขอจดทะเบียนมักใช้แบบฟอร์มตัวอย่างสำเร็จรูปของกระทรวงพาณิชย์ที่มีวัตถุประสงค์ไว้หลากหลาย และในข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับการ “ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์”
ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงๆผู้จดทะเบียนไม่ได้มีความประสงค์ประกอบกิจการหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับสื่อแต่ประการใดเลย แต่ได้มีการระบุไว้ในบริคณห์สนธิ แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินกิจการตามนี้ คือไม่ได้เป็นเจ้าของหรือ ผู้ถือหุ้นตามลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเป็นความผิดที่ต้องมีผลปรากฏแล้วหรือยัง ?
การพิจารณาประเด็นนี้นับว่า ยากแก่การวิเคราะห์วินิจฉัย จึงควรจะต้องนำไปเปรียบเทียบกับลักษณะต้องห้ามที่บัญญัติไว้ในมาตราเดียวกันนี้ในมาตรา 98 ที่ทั้งหมดถึง 18 ลักษณะต้องห้าม เช่น (1) ติดยาเสพติดให้โทษ (2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ (17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ (18) เคยพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม
จะเห็นได้ว่าในลักษณะต้องห้ามที่ได้หยิบยกมาเปรียบเทียบเข้าลักษณะความผิดที่ต้องมีผลหรือ “เคย” มีผลปรากฏมาแล้วทั้งสิ้น
ฉะนั้น ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3) จึงต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่า มีอยู่จริงหรือไม่ กล่าวคือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามความเป็นจริงมิใช่เพียงแค่พิจารณาจากข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิอย่างเดียว
สุดท้ายขอเสนอแนะวิธีปฏิบัติในเรื่องที่สงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน “กาลามสูตร 10 ประการ” คือ 1) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา 2) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆกันมา 3)อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ 4)อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ 5) อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรก 6)อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน 7) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล 8)อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฏีที่พินิจไว้แล้ว 9)อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ 10) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
ต่อเมื่อใด รู้ด้วยเข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้วจึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น