บทเรียน 15 ปีกรือเซะ "ความเป็นธรรมต้องนำการเมืองและการทหาร"
28 เมษายนปีนี้ บรรยากาศที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างเงียบเหงา
แม้จะเป็นวันครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์กรือเซะ หรือความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 แต่ก็ไม่มีการจัดกิจกรรมรำลึกใดๆ และดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ค่อยอยากให้ใครฟื้นฝอยหาตะเข็บมากนัก
เหตุการณ์กรือเซะเป็นเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 14 ปีไฟใต้ คือ 109 ราย แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี เพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพียงแต่ที่มัสยิดกรือเซะมีความสูญเสียมากที่สุด คือมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ราย แต่ในวันเดียวกันนั้นยังมีความสูญเสียในจุดอื่นๆ อีก 10 จุด รวมทั้งสิ้น 11 จุด
ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 28 เมษายน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์บุกโจมตีป้อมจุดตรวจของทหารและตำรวจ รวมที่มัสยิดกรือเซะด้วยเป็น 11 จุดใน 3 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา
หนึ่งในนั้นคือ "จุดตรวจบ้านกรือเซะ" ต.ตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี มีการยิงต่อสู้กัน ทำให้กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ที่บุกโจมตีวิ่งหลบหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งน่าจะมีประชาชนปฏิบัติศาสนกิจด้านในอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ได้นำกำลังปิดล้อมมัสยิดเอาไว้ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ก่อนตัดสินใจใช้อาวุธหนักยิงถล่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย ส่วนจุดอื่นๆ ก็มีผู้เสียชีวิตทุกจุด รวมแล้ว 109 คน
ปลายปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จ่ายเงินเยียวยาในอัตราใหม่ให้กับครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะทั้งหมด 109 ราย ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 นาย รวมจ่ายเงินเยียวยาทั้งสิ้น 302 ล้านบาท
และบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญกับการผลักดันนโยบายจ่ายเยียวยาย้อนหลังอัตราใหม่ให้ "เหยื่อกรือเซะ" ก็คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ในขณะนั้น
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมาอีก 7 ปี พ.ต.อ.ทวี ลงเล่นการเมือง เป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ และนำพาพรรคการเมืองหน้าใหม่คว้าชัยชนะจากสนามเลือกตั้งชายแดนใต้มากถึง 6 เขตจาก 11 เขต
ในวาระครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์กรือเซะ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะที่เคยทำงานทั้งงานราชการและงานการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊คเพื่อสรุปบทเรียน...
"วันที่ 28 เมษายนในแต่ละปีภายหลังจาก พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา จะเป็นวันที่ประชาคมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเรียกวันนี้ว่า วันเกิดเหตุการณ์กรือเซะ
จากเหตุการณ์ วันที่ 28 เมษายน 2547 มีผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือแซะและบริเวณมัสยิด จำนวน 34 ชีวิต แยกเป็นประชาชน จำนวน 33 ชีวิต เจ้าหน้าที่ 1 ชีวิต และไม่รวมถึงการสูญเสียในพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน
เหตุการณ์กรือเซะ จึงเป็นอดีตที่เป็นบาดแผลและละเอียดอ่อนในการจะกล่าวถึง แต่เราต้องยอมรับว่า ประวัติศาสตร์หรืออดีตเป็นสมบัติของมนุษยชาติทุกคนที่เราไม่สามารถย้อนกลับได้
อดีตจึงเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าที่ทันสมัยอยู่เสมอ อดีตเราแก้ไขไม่ได้ ส่วนปัจจุบันและอนาคตเราทำให้ดีได้โดย 'อดีตที่เป็นความผิดพลาดจะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำกับเราอีก และถ้าจะให้ดียิ่งกว่า ความผิดพลาดในอดีตที่เกิดกับผู้อื่น ก็จะต้องไม่เกิดขึ้นกับเราเช่นกัน'
ซึ่งหัวใจของการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการปกครอง คือความเป็นธรรม หรือ 'ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร' ในส่วนของประชาชน การให้ความเป็นธรรม การมีศักดิ์ศรี การยอมรับในอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ความยุติธรรมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ และต้องเสริมด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างครอบคลุม มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านจิตใจ ทรัพย์สินอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง"
ถือเป็นการสรุปบทเรียนที่เป็นดั่งนโยบาย และหมุดหมายที่รัฐควรไปให้ถึง...
---------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
14 ปีกรือเซะ 14 ปีไฟใต้...กับชีวิตของแม่ที่นับวันรอลูกชายกลับบ้าน
ย้อนรอยกรือเซะ...ปะทะ11จุด-109ศพ-เยียวยา302ล้าน!
11 ปีกรือเซะ...แผลในใจที่ยังไม่เลือนหาย กับบทเรียนที่รัฐ (ไม่) จดจำ
"กรือเซะ"ผ่าน 10 ปี...วันนี้เริ่มมีรอยยิ้ม
กรือเซะในวันเหงา...เรื่องราวคนเล็กคนน้อยผู้รับผลทางอ้อมจากความรุนแรง
เปิดปาก "พยานปากเอก" ไขปมศพเกลื่อนที่กรือเซะ "ขบวนการหลอกชาวบ้าน แล้วทหารถูกใครหลอก?"
ชำแหละคดีกรือเซะ-28 เมษาฯ กับปัญหากระบวนการ "ไต่สวนการตาย"