เเรงงานจี้รัฐปรับประกันสังคม ฐานรับบำนาญ เริ่ม 5 พัน- ขยายอายุ 15-70 ปี รองรับผู้สูงอายุ
กลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร พร้อมเครือข่าย ยื่น 10 ข้อเรียกร้อง วันเเรงงานฯ ปี 62 เร่งดันร่าง กม.เเรงงานสัมพันธ์ เข้าสภาด่วน ปรับฐานประกันสังคมรับเงินบำนาญ อัตราเริ่มต้น 5,000 บาท ขยายอายุผู้ประกันตน เป็น 15-70 ปี รองรับสังคมผู้สูงอายุ ด้านนายกฯ ยันมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือคุณภาพสูง ก้าวทันเปลี่ยนเเปลง โชว์ผลงาน รบ.ปรับขึ้นค่าเเรง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 1 พ.ค. 2562 กลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร และองค์กรสมาชิกเครือข่าย นำโดย นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานฯ ประธานคณะกรรมการการจัดงาน และนายอนุชิต แก้วต้น สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานฯ จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2562 โดยมีคำขวัญในวันแรงงานแห่งชาติปี 62 ว่า “แรงงานก้าวหน้า เศรษฐกิจก้าวไกล เทิดไท้องค์ราชัน” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ศูนย์เยาวชนฯ ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง (สนามกีฬาเวสน์ 2)
โดยคณะกรรมการการจัดงาน มีข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี2562 จำนวน 10 ข้อ คือ
1) ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องการเจรจาต่อรอง
2) ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านการประชาพิจารณ์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภา โดยเร่งด่วน
3) ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คือ กำหนดการเกษียณอายุงานของลูกจ้างที่ อายุ 60ปี กรณีลูกจ้างอายุ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจาการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาตให้ลาออกได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุงานทุกประการ ให้กระทรวงแรงงานหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าจ้างแรงงานปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 กรณีการจ้างแรงงานเหมาค่าแรงให้เป็นภาคบังคับและกาหนดบทลงโทษกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
4) ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้
4.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยกำหนดอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
4.2 กรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุงานและรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป และหรือผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพ ให้คงสิทธิไว้คงเดิม ใน 3 กรณี ได้แก่ กรณีการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ
4.3 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณค่าทดแทนต่างๆ ให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
4.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 เช่นเดียวกับ ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และมาตรา 39
4.5 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี เพื่อรองรับสังคมกลุ่มผู้สูงอายุ
4.6 ในกรณีผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน
5) ให้รัฐบาลรวมกองทุนเงินทดแทนกับกองความปลอดภัยแรงงานและยกระดับเป็น กรมความปลอดภัยแรงงาน
6) ให้รัฐบาลเร่งดาเนินการ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาใน รัฐสภา โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นกองทุนสำหรับลูกจ้าง และกำหนดมาตรการส่งเสริมการออมของลูกจ้างในรูปแบบ สหกรณ์ออมทรัพย์ในทุกสถานประกอบกิจการ
7) ให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้
8) ให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการ หรือกองทุนสวัสดิภาพของรัฐวิสาหกิจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่ยังมีสถานภาพเป็นพนักงาน และที่พ้นสภาพความเป็นพนักงาน ให้ได้รับไม่น้อยกว่าลูกจ้างภาคเอกชนที่ได้รับ ตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39
9) ให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ตามมาตรา 74 รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงาน สัมพันธ์ ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการดาเนินการ
10 ) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทางานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 62
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ว่างงานน้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก มีแรงงานประมาณ 38 ล้านคน เป็นผู้ว่างงานประมาณ 370,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.37 รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแรงงานของประเทศให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและมีความรู้ความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ขณะเดียวกันได้มอบหมายกระทรวงแรงงานกำหนดแนวทางส่งเสริมให้พี่น้องแรงงานได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งการคุ้มครองแรงงาน รายได้ การพัฒนาทักษะฝีมือ มีความปลอดภัยในการทำงาน และมีหลักประกันทางสังคม เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานด้านต่างๆ ทั้งค่าจ้างและการดำรงชีพ โดยมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 308 - 330 บาท บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 มีการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานอัตราขั้นต่ำสุด 340 บาท สูงสุด 825 บาท และกำหนดจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้สูงอายุอย่างน้อยชั่วโมงละ 45 บาท ระยะเวลาการทำงานไม่ควรเกินวันละ 7 ชั่วโมงและไม่เกินสัปดาห์ละ 6 วัน ด้านการส่งเสริมการมีงานทำ มีรายได้ ส่งเสริมการจ้างงานยุวแรงงาน ช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงระหว่างเรียน การพัฒนาทักษะฝีมือผู้ต้องขัง การส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ การส่งเสริมการมีงานทำเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมไปถึงการส่งเสริมศักยภาพแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผ่านระบบทวิภาคีตามแนวทางประชารัฐ ส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบหรือผู้อยู่ในวัยแรงงาน ทั้งทหารเกณฑ์ก่อนปลดประจำการ ผู้ต้องขัง คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย มีการอบรมทักษะฝีมือก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมง ขึ้นทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย เพิ่มสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตราย การสงเคราะห์บุตรจาก 400 บาท เป็น 600 บาทต่อเดือน ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ เพิ่มสิทธิประโยชน์ ปรับเพิ่มอัตราค่าทดแทนรายเดือนจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน
ส่วนข้อเรียกร้องของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้อเสนอของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน มีการปรับฐานเงินบำนาญในกรณีผู้ประกันพ้นสภาพ ออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ ตลอดจนสร้างความพร้อมในการแข่งขันในตลาดโลก โดยย้ำให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งหารือและพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติให้ครอบคลุม ในทุกมิติ เพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด สิ่งสำคัญที่สุด คือ การคุ้มครองคุณภาพชีวิตของแรงงานให้มีมาตรฐานตามหลักสากลและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เปรียบเสมือนทุนมนุษย์ที่สร้างคุณประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอื่นๆ เพราะแรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ สร้างความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคง มั่งคั่ง ให้แก่เศรษฐกิจและสังคมไทย
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ทำพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2562 พร้อมรับมอบข้อเรียกร้อง วันแรงงานแห่งชาติจากประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ และเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน สาธิตการอบรมอาชีพตัดผม การชงเครื่องดื่ม รวมไปถึงภาคเอกชนที่ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาลลาดพร้าว นายกรัฐมนตรีได้ร่วมจับรางวัลให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงานอีกด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/