บันทึกประวัติศาสตร์การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ กับม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
“โลกตะวันตกถือว่า ขั้นตอนพระมหากษัตริย์ทรงสวมพระมหามงกุฎนั้น เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด แต่โลกตะวันออก ถือว่า ขั้นตอนที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษก จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด”
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปวงชนชาวไทยได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสสัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มัคคุเทศก์ และประเพณีในราชสำนัก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ ในคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ถึงความสำคัญของพระราชพิธีนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักของประเทศ โดยเฉพาะราชอาณาจักรไทย ที่สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของอาณาประชาราษฎร์ พระราชพิธีดังกล่าวจึงถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศว่า เป็นพระราชาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ของประเทศนั้นโดยสมบูรณ์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ ให้ข้อมูลถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์องค์ใหม่ขึ้นเสวยราชสมบัติทุกประเภท ลักษณะของพิธีจะแตกต่างกันออกไป ความสำคัญของพระราชพิธีระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกก็แตกต่างกันด้วย
“โลกตะวันตกถือว่า ขั้นตอนพระมหากษัตริย์ทรงสวมพระมหามงกุฎนั้น เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด แต่โลกตะวันออก ถือว่า ขั้นตอนที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษก จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในส่วนของประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ ชี้ว่า มีการปรับมาเรื่อยๆ ให้เหมาะกับกาลสมัย โดยไม่ทำให้เนื้อหาหลักเปลี่ยนไป พระราชพิธีฯ ครั้งนี้ก็เช่นกันได้ใช้แบบแผนมาจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 เป็นหลัก
ส่วนรายละเอียดพระราชพิธีฯ ที่แตกต่าง อาทิ
- เพิ่มรายละเอียดจากที่ประกาศเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่พระอุโบสถ วัดพระแก้ว ได้เพิ่มการเสด็จฯ ไปปราสาทพระเทพบิดร แล้วจึงเสด็จฯ ไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
- การเสด็จฯ เลียบพระนครทางสถลมารค ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 9 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2493 ไม่มีเสด็จฯ เลียบพระนคร ทั้งทางบกและทางน้ำ มามีในภายหลัง หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เมื่อพระชนมายุครบ 3 รอบ วันที่ 7 ธันวาคม 2506
- รัชกาลก่อนๆ การเจริญพระพุทธมนต์ จะมีระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่รัชกาลที่ 9 เหลือวันเดียว ครั้งนี้ก็เช่นกัน
- การรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชา ซึ่งประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน โดยเฉพาะพระมหาพิชัยมงกุฎ เชื่อกันว่า รัชกาลที่ 1-3 อาจไม่ได้ทรงสวมมงกุฎ เพียงแต่ทรงรับไว้ ซึ่งก็ไม่มีหลักฐาน แต่รัชกาลที่ 4 ทรงประยุกต์พระราชประเพณีมาจากตะวันตกให้มีการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎด้วยเป็นครั้งแรก
- การเสด็จฯ เลียบพระนครทางสถลมารค แต่เดิมไปแค่ 2 วัด (วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม) พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งนี้ไป 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม
ภายหลังจากเสร็จพิธีถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แล้ว พระมหากษัตริย์มีพระปฐมบรมราชโองการ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่า รัชกาลที่ 1- 3 มีปฐมบรมราชโองการเหมือนกัน ใช้คำเดียวกัน
“พรรณพฤกษ์ ชลธี และสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรนั้น ถ้าไม่มีเจ้าของหวงแหนแล้ว ควรแต่สมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรจะปรารถนาเถิด”
รัชกาลที่ 4 มีการปรับปฐมบรมราชโองการเล็กน้อย และรัชกาลที่ 9 “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
สำหรับปวงชนชาวไทยขอให้รอฟังปฐมบรมราชโองการ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สุด นอกจากพิธีถวายน้ำอภิเษก ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 9 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก รัชกาลที่ 7 ขึ้นไป ให้ราชบัณฑิต ถวายน้ำอภิเษก
พระราชพิธีฯ ครั้งนี้ ผู้ถวายน้ำอภิเษกก็จะเป็นบุคคลสำคัญ
ฉะนั้น ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เรียกว่า วันบรมราชาภิเษก ปีหน้า หรือวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ถือเป็นวันฉัตรมงคล
ในช่วงค่ำของวันที่ 4 พฤษภาคม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ ระบุถึงพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ก็ได้มีการทำเต็มตามตำราทุกขั้นตอน ซึ่งก็คือการบรรทมค้างคืน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ที่กษัตริย์ทุกพระองค์ปฏิบัติสืบกันมาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ 1 คืนในวันบรมราชาภิเษก
ขณะที่การสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ประธานอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ ในคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปกติแล้ว “คำนำหน้าพระนาม” ของเจ้านายต้องสอดคล้องกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน เพื่อให้รู้ว่าเป็นพระญาติอย่างไร
จากนั้นช่วงเวลา 16.30 น.เสด็จฯ เลียบพระนครทางสถลมารค ไปยังวัดสำคัญๆ เพื่อให้ประชาชนชื่นชมพระบารมี
“การเสด็จเลียบพระนคร จุดประสงค์ คือการสักการะพระพุทธรูปสำคัญในวัดที่สำคัญ และพระราชสรีรังคารพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกันด้วย และอีกจุดประสงค์เพื่อให้ราษฎรเฝ้าละอองธุลีพระบาทสองข้างทาง เพื่อชื่นชมพระบารมี พระราชพิธีฯ ครั้งนี้จึงมีการพูดคุยกัน ขณะที่พระราชยานผ่านมาทำอย่างไรถึงเหมาะสม เมื่อพระองค์เสด็จฯ เข้ามาใกล้ให้ราษฎรกราบ และให้เงยหน้าขึ้นมาชื่นชมพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ได้ จากนั้นถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” ส่วนการถ่ายรูป ให้ถ่ายด้านตรงได้ แต่ห้ามเซลฟี่”
ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ ยังได้แนะนำแนวทางปฏิบัติ สำหรับบ้านเรือนร้านค้า สามารถตั้งโต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ธูปเทียนแพร โดยไม่ต้องตั้งมีพระบรมฉายาลักษณ์ เพราะพระองค์จริงเสด็จฯ มาแล้ว แต่หากบ้านเรือนไหนไม่ได้อยู่เส้นแนวเสด็จพระราชดำเนินต้องให้เพิ่มพระบรมฉายาลักษณ์เข้าไปด้วย
ช่วงวันที่ 6 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล โดยนายกรัฐมนตรีกราบบังคลทูลถวายพระพรชัยมงคล ในนามประชาชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตและกุงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ ยังให้คำแนะนำถึงการเอ่ยถึงพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ปกติแล้ว พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันจะไม่ออกพระนาม ถ้าจะออกพระนาม ใช้สำหรับพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ผ่านมาแล้ว เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งธรรมเนียมคนไทยโบราณจะไม่ออกพระนามพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่จำเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่เข้าใจกัน
ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ ในคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ทุกประเทศมีประวัติศาสตร์ มีธรรมเนียมประเพณี ยิ่งประเทศที่เกิดมาอย่างยาวนานก็จะสะสมอารยของตัวเอง ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยืนยาวมาได้กว่า 700 -800 ปี แสดงว่า คนส่วนใหญ่ยอมรับ เห็นด้วย เราจึงควรสืบทอดต่อไป จะเห็นว่า ทุกอย่างมีการปรับเปลี่ยนมาโดยตลอดให้เหมาะสมกับกาลสมัย
นี่คือความมีเอกลักษณ์ของชาติไทยที่คนรุ่นหลังควรภูมิใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รู้ประวัติศาสตร์ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ผ่านหนังสือ 2 เล่ม