75 ชีวิต บนเส้นทาง ธปท.
"...หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเรื่องราวของผู้บริหารและพนักงานจำนวน 75 คน บนเส้นทางการทำงานในแบงก์ชาติ โดยได้ถ่ายทอดหลักการ แนวคิดในการทำงาน และความภาคภูมิใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ประวัติของแบงก์ชาติแบบสัมผัสได้ ราวกับว่าอยู่ในช่วงเหตุการณ์นั้นจริง ๆ พร้อมกับได้นึกคิดตามถึงสภาพแวดล้อมของการทำงานในแต่ละยุคสมัยและได้ตระหนักว่าองค์กรแห่งนี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าสูงสุด..."
สวัสดีครับ
“75 ชีวิต บนเส้นทาง ธปท.” เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2560 แตกต่างจากหนังสืออนุสรณ์ที่แบงก์ชาติเคยจัดพิมพ์ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ที่ได้รวบรวมบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในช่วงเวลา 75 ปี ตั้งแต่การก่อตั้งไว้อย่างครบถ้วน หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเรื่องราวของผู้บริหารและพนักงานจำนวน 75 คน บนเส้นทางการทำงานในแบงก์ชาติ โดยได้ถ่ายทอดหลักการ แนวคิดในการทำงาน และความภาคภูมิใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ประวัติของแบงก์ชาติแบบสัมผัสได้ ราวกับว่าอยู่ในช่วงเหตุการณ์นั้นจริง ๆ พร้อมกับได้นึกคิดตามถึงสภาพแวดล้อมของการทำงานในแต่ละยุคสมัยและได้ตระหนักว่าองค์กรแห่งนี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าสูงสุด
จุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในงานวันสงกรานต์แบงก์ชาติเมื่อปี 2560 ที่แบงก์ชาติได้เชิญอดีตพนักงานที่เกษียณอายุมาร่วมพิธีรดน้ำดำหัวและขอพรจากท่าน และผมมีโอกาสได้นั่งร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับท่านเหล่านั้น ซึ่งบางท่านอายุมากกว่า 90 ปี ถือเป็นพนักงานในยุคบุกเบิก ประกอบกับผมได้อ่านหนังสือ “ร้อยคน ร้อยเรื่องราว 100 ปี เอสซีจี” ที่เขียนโดยหนุ่ม เมืองจันท์ ที่ได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของเอสซีจีทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวน 100 คน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการ “คน”1/ ทำให้ผมคิดขึ้นได้ว่า แบงก์ชาติน่าจะจัดทำหนังสือในลักษณะนี้เช่นเดียวกันเพราะเราในฐานะพนักงานยุค “กลางวัย” ของแบงก์ชาติที่ยังรู้จักทั้งพี่ ๆ ที่เกษียณและที่ยังทำงานอยู่จะสามารถนำเรื่องราวจากคำบอกเล่าโดยตรงจากพี่ ๆ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกมาถ่ายทอดเรื่องราวสู่น้อง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ผมใช้เวลาไม่นานในการจัดตั้งทีมงานแนวร่วมที่เห็นประโยชน์ของการจัดทำหนังสือเล่มนี้ เราเริ่มต้นระดมความคิดกันตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 และสรุปได้ว่ารายชื่อ 75 ท่านที่จะนำมารวบรวมนั้น จะต้องมีความหลากหลาย ทั้งประสบการณ์การทำงาน ตำแหน่งงานและอายุงาน และแม้ว่าจะหนักใจบ้างว่ายังมีเรื่องราวของอีกหลายท่านที่อยากจะนำมาลงไว้ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถหาเรื่องราวของท่านได้ ในขณะที่บางท่านเราได้รับทราบประวัติกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงต้องทำใจและได้ข้อยุติรายชื่อของทั้ง 75 ท่าน
เรื่องราวของแต่ละท่าน บางส่วนรวบรวมมาจากบทสัมภาษณ์ที่ผมเคยเขียนใน Weekly Mail หรือที่ตีพิมพ์ในวารสารพระสยามในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ทีมงานโทรศัพท์ไปขออนุญาตนำบทความของแต่ละท่านมาลงตีพิมพ์ซึ่งบางท่านได้กรุณาปรับปรุงแก้ไขให้ ในขณะที่ บทความอีกส่วนหนึ่งบางท่านได้กรุณาเขียนให้ใหม่ และจากที่ทีมงานช่วยเขียนให้จากการบอกเล่าของแต่ละท่าน ซึ่งใช้เวลาจนถึงต้นปีที่ผ่านมาจึงรวบรวมแล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้เห็นคุณค่าของแต่ละบทความของแต่ละท่าน ทีมงานได้นำข้อคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือการใช้ชีวิตในแบงก์ชาติที่สำคัญขึ้นมาเป็นไฮไลท์ เช่น บทสัมภาษณ์เรื่องแรกของคุณย่ากรองทอง ชุติมา ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “แรก ๆ ยังไม่รู้ว่างานที่จะต้องทำคืออะไร หลังจากนั้น ตลอดมาในการทำงานที่แห่งนี้
มีแต่ความพอใจ มีอิสระอย่างมากในความคิดและเป็นอย่างฝันที่อยากทำงานที่เกี่ยวกับบ้านเมือง ยิ่งทำก็ยิ่งได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ ได้พบคนดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ” และเพื่อให้รู้จักท่านเหล่านั้นและทำให้น่าชวนอ่านจึงได้เลือกรูปภาพของแต่ละท่านในอิริยาบถต่าง ๆ ในแบบที่เป็นกันเองตามอัตตลักษณ์ของแต่ละท่านมาใส่ไว้ (มี 2 ท่านที่ขอนำรูปที่สอดรับกับบทความที่เขียนมาใส่ไว้แทน) รวมทั้งมีรูปภาพในอดีตและสถานที่ทำงานเป็น background ประกอบด้วย
สำหรับรูปภาพประกอบหน้าปกและปกหลังนั้น ได้นำรูปภาพของทั้ง 75 ท่านมาวางร้อยเรียงกันที่ปกด้านหน้าในขณะที่ปกด้านหลังเป็นภาพโถงทางเดินตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม เพื่อย้อนไปถึงในช่วงที่ตำหนักแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ทำงานของแบงก์ชาติ ซึ่งโถงทางเดินแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมกันของพนักงานบนเส้นทาง 75 ปีของแบงก์ชาติ
ที่ผ่านการเรียนรู้ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และสามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้จนถึงทุกวันนี้
ทีมงานใช้เวลาหารือกันพอสมควรว่าจะไล่เรียงบทความกันอย่างไร ตั้งแต่ตามตัวอักษร ตามปีที่เกษียณหรือตามอายุตัว แต่ในที่สุดก็ลงตัวด้วยการไล่เรียงตามวันเวลาเริ่มต้นบนเส้นทางการทำงานในแบงก์ชาติ และเห็นร่วมกันว่าจะไม่ใส่ชื่อตำแหน่งของแต่ละท่าน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหนังสือเล่มนี้ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าทุก ๆ คนต่างมีจุดยืนเดียวกันในการเป็น “นายธนาคารกลางที่ดี” สมกับที่ท่านผู้ว่าการป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวไว้ว่า “ต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดี”
ก่อนที่จะตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ทีมงานต้องอ่านทวนการสะกดคำ การเว้นวรรค อยู่หลายรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีคำสะกดผิดโดยเฉพาะชื่อ และแล้วหนังสือเล่มนี้ก็สามารถคลอดออกมาสู่สายตาผู้อ่านได้เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณพิมพ์วรีย์ กิตติสารกุล (น้องฝน) ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร หนึ่งในผู้จัดทำได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “เป็นหนังสือที่มีรายละเอียดเยอะมาก แต่ละท่านให้สัมภาษณ์และเขียนออกมาจากใจ เล่าเรื่องแบงก์ชาติจากมุมมองของคนในแบงก์ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ที่รู้กันไม่กี่คน ไปจนถึงเบื้องหลังเรื่องใหญ่บางเรื่อง แต่ก็ทำให้เห็นถึงการอยู่แบบพี่น้อง การทำงาน และวัฒนธรรมของที่นี่ได้เป็นอย่างดี ระหว่างอ่านก็อ่านเพลิดเพลิน และบางเรื่องถึงกับน้ำตาซึมได้เหมือนกัน”
คณะผู้จัดทำหวังว่าหนังสือ “75 ชีวิต บนเส้นทาง ธปท.” จะทำให้เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต สามารถนำมาเป็นบทเรียนในการปรับใช้ในการทำงานของตนเอง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ท่ามกลางความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและภาวะการเงินโลกในปัจจุบัน ดังคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ได้นานเท่าใด ก็จะทำให้เห็นตัวตนในปัจจุบัน และสะท้อนภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถเปิดอ่านหนังสือ “75 ชีวิต บนเส้นทาง ธปท.” ในรูป PDF file ผ่าน Website ที่ลิงค์ไว้ หรือสแกนที่ QR Code ด้านล่างนี้ครับ
รณดล นุ่มนนท์
29 เมษายน 2562
https://www.bot.or.th/broadcast/EBook/75BOT/75_lives_on_bot.pdf
แหล่งที่มา
1/ หนุ่ม เมืองจันท์ “ร้อยคน ร้อยเรื่องราว 100 ปี เอสซีจี” จัดทำโดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
พิมพ์ที่โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2556