สำคัญกว่าใครตั้ง รบ.! 'ดร.ปริญญา' กระตุ้นพรรคดึง 'สภาผู้เเทนฯ-ปชต.' กลับคืน
หยุดเเบ่งขั้ว! เวทีถกฟังเสียง ปชช. จัดตั้งรบ. 'ดร.ปริญญา' กระตุ้นทุกพรรคช่วยกันดึง 'สภาผู้เเทนฯ-ระบอบปชต.' กลับคืนมา ชี้เป็นเรื่องหลักมากกว่า ใครเป็นรัฐบาล ด้านนายก ส.นักข่าว วอนทุกฝ่ายลดสร้างวาทกรรมเกลียดชัง ใช้นโยบายหาเสียงเป็นเงื่อนไข เเทนเก้าอี้รัฐมนตรี 'ลัดดาวัลย์' ไม่อยากเห็นวัฒนธรรม 'งูเห่า' ในการเมืองยุคใหม่
วันที่ 26 เม.ย. 2562 ศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 ไทยพีบีเอส ร่วมกับ 9 ภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “หยุดแบ่งขั้ว! ฟังเสียงประชาชนก่อนจัดตั้งรัฐบาล” ณ ห้องประชุม อิศราอมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) กล่าวว่า หลังเลือกตั้งทุกคนคาดหวังจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเพื่อนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาตามนโยบายที่ได้หาเสียงกันไว้ คิดว่า ในส่วนแต่ละพรรคการเมืองได้แสดงความมุ่งมั่น แสดงเจตนารมณ์ผ่านการหาเสียง การนำเสนอนโยบายต่าง ๆ โดยแต่ละพรรคการเมืองควรพยายามรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน ตั้งมั่นว่า สิ่งที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกมาเป็นสิ่งที่มีค่าต้องรักษาไว้
“อยากเห็นภาพพรรคการเมืองรักษาสัญญา โดยเฉพาะสมาชิกพรรคการเมือง อยากให้ช่วยกันตระหนักว่า การที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองมา ซึ่งเลือกท่านเข้ามาเพราะพรรคการเมือง ควรจะรักษาคำมั่นสัญญาว่า อย่างน้อย 1.อยู่ที่พรรคใดต้องรักษาคำมั่นสัญญา ต้องเข้าไปทำหน้าที่ตามหน้าที่ของสมาชิกพรรคนั้น ไม่อยากเห็นภาพ ‘งูเห่า’ หรือวัฒนธรรม ‘งูเห่า’ ควรยกเลิกไปได้แล้วในยุคใหม่”
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต)
รองประธานพีเน็ต ระบุ อยากให้เราสร้างมิติใหม่ทางการเมือง ภาพใหม่ทางการเมืองว่า พรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างมิติใหม่ทางการเมืองนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง หากยังกลับไปสู่วงวัฎจักร วงเวียนเดิม ๆ ประชาชนก็จะไม่ได้ความหวังจากพรรคการเมืองที่ควรรักษาศักดิ์ศรีของตนเอง ระบบการเลือกตั้งใหม่เน้นพรรคการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองต้องรักษาสัญญา และสมาชิกพรรคต้องทำหน้าที่ของพรรคการเมืองและสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในด้านนโยบายต่าง ๆ
ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า วาทกรรมเป็นเรื่องปกติทางการเมืองต้องมีการประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อช่วงชิงการนำทางความคิด หรือประเด็น ถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือความเกลียดชังหรือการลืมไปว่าประเทศไทยต้องกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย และต้องมีสภาผู้แทนราษฎร ใครจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลว่ากันไปตามกติกา เพียงแต่ความยุ่งยากอยู่ที่สูตรคำนวณของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) ซึ่งเสนอให้ใช้วิธีการคำนวณในแบบฟังความให้มากและยุติอย่างมีหลักวิชาการที่สังคมยอมรับได้
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
“ปล่อยให้เป็นเรื่องของวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ แต่ใครเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต้องช่วยกันในการนำประเทศกลับสู่การมีสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่าการที่ใครจะเป็นรัฐบาล” รองอธิการบดี มธ. กล่าว และว่า ต้องช่วยกันนำศรัทธา ความเชื่อมั่น กลับคืนสู่สภาผู้แทนราษฎรให้ได้ว่าประชาชนสามารถเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นการกระทำทางหนึ่งทางใดนำมาของความเสื่อมศรัทธาอีก ดังเช่น ใช้เงินดึง ส.ส.ของพรรคอื่น หรืองูเห่า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในวิถีทางประชาธิปไตย
ผศ.ดร.ปริญญา ยังกล่าวว่า หากมีข่าวเกี่ยวกับงูเห่าออกมาจริง ประชาชนอยากทราบว่า ใคร และพรรคการเมืองใด เพื่อช่วยกันบอกว่า การตั้งรัฐบาลว่าไปตามวิถีทาง อย่าทำนอกวิถีทาง เพราะเรื่องหลักไม่ใช่การเป็นรัฐบาลโดยพรรคการเมืองใด แต่คือการมีสภาผู้แทนราษฎรเเละระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทุกพรรคการเมืองต้องช่วยกัน ส่วนใครเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล เป็นเรื่องที่จะตามมา
ขณะที่นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 ที่มีไทยพีบีเอสเป็นศูนย์กลาง ได้เชิญเครือข่ายเข้าร่วมประชุม ซึ่งสมาคมนักข่าวฯ เข้าไปรับฟังว่า จุดประสงค์ในการดำเนินการเพื่ออะไร เพราะถือหลักว่า ความเป็นนักข่าวต้องทำหน้าที่เป็นกลางบนความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นกรณีที่เข้าร่วมแล้วเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราจะตัดสินใจถอนตัว แต่เมื่อฟังจุดประสงค์และเจตนารมณ์ที่ศูนย์อำนวยการฯ ได้แจ้งให้ทราบว่า เป้าหมายการเลือกตั้งเพื่อให้เสียงของประชาชนไปไกลกว่าเฉพาะการหย่อนบัตรหรือการเลือกตั้ง ดังนั้นสื่อมวลชนถือว่า มีบทบาทในการร่วมกันผลักดันให้การเลือกตั้งมีความหมายมากกว่านั้น
โดยจะเห็นว่า เมื่อการเลือกตั้งออกมา พบสถานการณ์พัฒนาไปสู่สภาพการเมืองที่ทำท่าจะเป็นการแบ่งขั้ว ซึ่งการแบ่งขั้วแตกต่างจากการแบ่งฝ่าย คือ ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลเป็นปกติของระบบรัฐสภาในประชาธิปไตย แต่การแบ่งขั้ว คือ การตั้งแง่ สร้างวาทกรรม หรือสร้างคำพูดเกลียดชัง ฝ่ายเราเป็นคนดี อีกฝ่ายเป็นคนเลว สิ่งนี้มีความสุ่มเสี่ยงนำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นศูนย์อำนวยการฯ ต้องกลับมาพูดคุยอีกครั้งหนึ่ง
มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ มีประเด็นเรียกร้องให้การเปลี่ยนผ่านในช่วงระบอบอื่นมาเป็นประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งอยู่ในระบบและกติกาของรัฐสภาและเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย เดินหน้า คลี่คลายปัญหา ด้วยกลไกกติกาของประชาธิปไตย เพื่อพิสูจน์ว่าประชาธิปไตยสามารถคลี่คลายปัญหาได้จริง เเละให้ลดการใช้วาทกรรมเพื่อเหยียดหรือกดอีกฝ่ายให้กลายเป็นคนไม่ดี แล้วยกตัวเองเป็นคนดี และเรียกร้องให้สังคมระมัดระวังไม่ใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง
พร้อมกับให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปโดยกติกา บนพื้นฐานของสุภาพชนและทำให้ประชาธิปไตยมีความหมายที่ทรงคุณค่า ด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามคำนึงถึงเสียงของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งให้สามารถคลี่คลายลงตัว เช่น วุฒิสมาชิก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดกลไกมาเหมือนเป็นกันชนไม่ให้เกิดความขัดแย้งนั้น หรือกันชนไม่ให้เกิดการไม่ยอมรับกติกา เมื่อมาถึงจุดวุฒิสภาอาจสุ่มเสี่ยงเข้าไปก่อให้เกิดความขัดแย้งเอง ดังนั้นควรให้สภาผู้แทนราษฎรคลี่คลายปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน เพื่อไม่จุดประเด็นความขัดแย้ง
ส่วนประเด็น ‘งูเห่า’ นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการกาบัตร 1 เสียง เลือกได้ 3 อย่าง ดังนั้น ส.ส. แต่ละคนบอกได้ยากว่า เสียงที่ได้รับมาเพราะส่วนตัว พรรคการเมือง หรือนายกรัฐมนตรีของพรรค ดังนั้น การตัดสินใจใด ๆ จึงควรรับผิดชอบร่วมเป็นเอกภาพเดียวกันในการตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล
ขณะที่นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรนำมาเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล ไม่ใช่นำเก้าอี้รัฐมนตรีมาเป็นเครื่องต่อรอง ขณะเดียวกันยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ เสนอมา บางเรื่องเป็นประชานิยม บางเรื่องทำให้เกิดผลกระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่
พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า สิทธิของประชาชนในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เมื่อจบลง ปรากฎว่านักการเมืองแทบไม่ได้เห็นสิทธินั้น ในช่วงการเตรียมจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเลิกทลายขั้วทางการเมือง ฝั่งหนึ่งเป็นเผด็จการ ฝั่งหนึ่งเป็นประชาธิปไตย เพียงเพราะแยกกันตรงนี้ แล้วไม่คิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันเดินไปสู่จุดใด วันนี้เสียงปริ่มน้ำ บ้านเมืองจะไปไมได้ เพราะวาทกรรมสองคำนี้ ในขณะที่ศูนย์อำนวยการฯ ทำงานตลอดการหาเสียง พบว่า ประชาชนต้องการให้นักการเมืองทำมากกว่า เรียกร้องให้การเมืองใหม่คิดถึงนโยบาย ผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชนเป็นตัวตั้ง มากกว่าสูตรคำนวณเลขคณิตศาสตร์ หรือวาทกรรมทางการเมืองมาตั้งแง่กัน เพราะฉะนั้นหยุดที่จะใช้หลักคณิตศาสตร์สองข้างด้วยวาทกรรมสองด้าน แล้วทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ แต่อยากให้เข้าสู่ระบบรัฐสภาที่คำนึงถึงนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้งก่อน
แม้กระทั่งรายชื่อ ส.ว. 250 คน มีแนวคิดตรงกันว่า ควรเป็นอิสระ ในการตัดสินใจมากกว่าการเดินตามคำชี้นำของคนใดคนหนึ่ง ถ้าทั้งสภาบนและสภาล่างคิดถึงประโยชน์ของประชาชน ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้นเรียกร้องให้ยึดประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วจะไม่เกิดคำว่า ‘งูเห่า’ หรือแหกมติพรรคจนทำให้พรรคการเมืองเดินหน้าต่อไป สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ยึดระบบรัฐสภาไว้ในการแก้ไขปัญหา มากกว่ายึดผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและพรรคพวก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/