ผู้ตรวจฯยกคำร้องเลือกตั้งโมฆะ-เอกฉันท์ส่งศาล รธน.วินิจฉัยคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยกคำร้องให้เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 โมฆะ แต่เอกฉันท์ส่งเรื่องให้ศาล รธน. วินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหตุหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.-รธน. ขัดกันเอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติตีตกข้อร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายอดีตพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นโมฆะอย่างไรก็ดีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และมาตรา 91 (4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม และมาตรา 91 (4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 83 (2) หรือไม่นั้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และวินิจฉัยร่วมกันเห็นว่า ประเด็นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 91 วรรคสาม มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 91 (4) และกรณีมาตรา 91 (4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 83 (2) นั้น
พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 23 (1) บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คำว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หมายถึงกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ตาม ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. พ.ร.ก. ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลบังคับเทียบเท่ากับ พ.ร.บ. เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อพิจารณาคำร้องเรียนดังกล่าวแล้ว เป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันเอง จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงยุติเรื่องในประเด็นดังกล่าว
ประเด็นต่อมา ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณี พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 91 นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 91 วรรคแรก ได้วางหลักเกณฑ์การคำนวณหาสมาชิก ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองไว้ตาม (1) ถึง (5) โดยผลลัพธ์ของการคำนวณต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใด มี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้
แม้วรรคท้ายของมาตรา 91 จะบัญญัติให้การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ก็ตาม ก็ต้องคิดคำนวณอยู่ในกรอบมาตรา 91 วรรคแรกเท่านั้น แต่ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ได้เพิ่มหลักเกณฑ์การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 8 อนุมาตรา ซึ่งมากกว่าที่มาตรา 91 กำหนดไว้ โดยอนุมาตราที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ (4) (6) (7) ต่างไปจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และเพิ่มเนื้อหาต้อนท้ายของ (2) ระบุว่า … ให้ถือเป็นจำนวนสมาชิก ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ และยังเพิ่มเนื้อหาตอนท้ายของ (3) ระบุว่า … ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ ‘เบื้องต้น’
การเพิ่มอนุมาตราและเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 ดังนั้น บทบัญญัติ มาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ดังที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้าง อาศัยอำนาจตามมาตรา 23 (1) แห่ง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : ศาล รธน.ไม่รับคำร้องปมคำนวณสูตร ส.ส.เหตุยื่นผิดช่องทาง-ชี้เป็นอำนาจ กกต.อยู่แล้ว