มอง 'กัญชา' ให้รอบด้าน-ปิดประตูตายปลูกเสรีเพื่อส่งออก
ปลูกกัญชาเสรี ควรปลูกหรือไม่ หรือปลูกแล้วจะขายใคร เพราะการขายระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแจ้งต่อหน่วยงานสารเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งจำกัดปริมาณ ดังนั้นหากเราปลูกมากมายในประเทศ แล้วขายไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีคนในประเทศเอาไปสูบ
วันที่ 26 เม.ย. คณะผู้เข้ารับการอบรม ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 23 จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง "มองกัญชาให้รอบด้าน" ณ ห้อง อายัท อบาโลน คอนเวนชั่น ฮอลล์ ห้องบอลรูม 1 อาคารไทย ซี.ซี ชั้น 12 ถนนสาทรใต้
นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวถึงเรื่องของกัญชา สังคมไทยยอมรับได้เท่านี้ "กัญชาทางการแพทย์" วันนี้เราตั้งคำถามว่า วุฒิภาวะสังคมไทยพร้อมหรือยัง หากจะให้กัญชาไปไกลกว่านี้ ช่วงเปลี่ยนผ่าน ระยะเวลา 5 ปีแรก กฎหมายกำหนดให้รัฐกับเอกชนต้องร่วมมือกัน ไม่มีการผูกขาด และจะมีการประเมินทุก 6 เดือน ซึ่งบางประเทศให้รัฐทำทั้งหมดด้วยซ้ำไป แต่ก็มีปัญหา ส่วนประเทศไทยจะไปถึงกัญชาเพื่อสันทนาการ กัญชาเสรีหรือไม่ ยังมีคำถามเรื่องวุฒิภาวะของคนในสังคมอยู่
นายสมชาย กล่าวถึงช่วงผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เกือบไม่ได้ออกมา เพราะมีคนค้านไปยังต่างประเทศ อ้างขัดอนุสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงบริษัทที่อยากผูกขาด บริษัทขายยา พ่อค้ายาเสพติด แต่เราคิดอย่างเดียว ทำอย่างไรให้คนป่วยคนไทยอยู่ได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้รัฐเข้ามาดูแล
ส่วนเรื่องของกัญชาเสรีนั้น นายสมชาย อยากให้มองให้รอบด้านก่อน และค่อยเป็นค่อยไป เดินทีละก้าว อยากรีบพูดเรื่องที่ไกลไปกว่านั้น
ขณะที่รศ.วิเชียร กีรตินิจกาล ผอ.ศูนย์วิทยาการเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรแห่งชาติ ชี้ว่า กัญชาเป็นพืชอันดับต้นๆ ที่โตเร็ว ดูดธาตุอาหารเก่ง และสามารถดูดโลหะหนักได้ด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะปลูกกัญชาแล้วส่งออกไปต่างประเทศ
"ผมมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายประเทศห้ามนำเข้าและส่งออกกัญชา และการปลูกทุกครั้งต้องของยูเอ็น"
ผอ.ศูนย์วิทยาการเทคโนโลยีชีวภาพฯ มองว่า กัญชาถูกใส่ร้ายเป็นแพะรับบาปมานาน นโยบายกัญชาเสรีจริงๆ อยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโคโลราโด ที่พยายามปราบกัญชาใต้ดิน แต่กลับพบว่า วันนี้ก็ยังมีมากขึ้น และยังพบ เด็กอายุ 13-20 ปีใช้กัญชามีถึง 85% นี่คือเรื่องน่ากลัว หญิงตั้งครรภ์ก็ใช้ทั้งๆ ที่ห้ามใช้ รวมไปถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์มีมากขึ้น สถิติการเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินเกิดมากขึ้น
เมื่อถามถึงการปลูกกัญชาเสรี รศ.วิเชียร ตั้งเป็นคำถามให้ชวนคิด เกษตรกรไทยควรปลูกหรือไม่ หรือปลูกแล้วจะขายใคร เพราะการขายระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแจ้งต่อหน่วยงานสารเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board :INCB) ซึ่งจำกัดปริมาณ ดังนั้นหากเราปลูกมากมายในประเทศไทย แล้วต่อมาขายไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีคนในประเทศเอาไปสูบ
นอกจากนี้ สิ่งที่เราไม่รู้เลย ก็คือ มีการศึกษาที่แคนนาดาเป็นเวลา 4 ปี กับเด็ก 3,800 คน ใน 31 โรงเรียน พบเด็กสูบกัญชาบ่อยๆ ความคิด สติปัญญาเสื่อมอย่างถาวร นี่คือเหตุผลที่ทุกประเทศตกใจกลัว จึงกำหนดอายุ 21 ปีขึ้นถึงจะสูบกัญชาได้
"ผมอยากฝากไว้เลย บ้านเราหากจะมีนโยบายกัญชาเสรี ถามว่า เราจะปกป้องได้หรือไม่ อย่างไรก็ต้องมีการควบคุมการใช้ ผมดีใจที่ทุกคนอยากให้เกษตรกรมีรายได้ ผมคิดว่า เราต้องเอาผู้ป่วยเป็นหลัก และปกป้องเด็ก โดยมีการควบคุมกัญชาให้มีความปลอดภัย น้ำมันกัญชาไม่มีสารปนเปื้อน"
ด้านศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการแพทยสภา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ มีจุดยืนไม่สนับสนุนให้ใช้กัญชาเสรี ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางการแพทย์หวาดกลัวเรื่องของเด็กปัญญาอ่อน และทำให้เกิดโรคจิต และอาการวิปลาสชั่วขณะ
สำหรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข และอย. มีภาระกิจกฎหมายลูก 10 ฉบับนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) เผยถึงความคืบหน้า อย. มีภารกิจกฎหมายลูก 10 ออกไปแล้ว 3 ฉบับแรก เป็นเรื่องบทนิรโทษกรรม ฉะนั้น ขอมั่นใจได้ว่า ที่เราออกเพื่อเอื้อต่อระบบให้มากที่สุด โดยกฎหมายลูกเรื่องนิรโทษให้กับ 3 กลุ่ม คือ คนไข้ที่ใช้อยู่ ผู้ผลิต และวิจัย ส่วนกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับ เกี่ยวกับประกาศตำรับยา และประกาศที่เกี่ยวข้องกับแพทย์แผนไทย
นพ.ธเรศ กล่าวถึงบทเฉพาะกาลที่ให้แจ้งการครอบครองกัญชา หลัง 90 วันจะเป็นอย่างไรนั้น เรามีการเขียนเอื้อให้กับผู้ป่วย ส่วนของกลางที่หน่วยงานจะใช้เพื่อการวิจัย สามารถนำไปใช้ได้ ปัจจุบันมีการประสานมอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กรณีมีความจำเป็นต้องมียา ช่วงเปลี่ยนผ่าน นำของกลางที่ดีๆ มาผลิตได้
"สมมุติอีกไม่กี่ปีช่วยการวางระบบไว้ ต่อไปคนจำเป็นต้องใช้ยาที่มีกัญชา หากรัฐลงทุนจัดหาไว้ให้เพียงพอ หรือมีการนำเข้าเป็นระบบสวัสดิการ ทั้งรักษาทุกโรค ประกันสังุคม ในที่สุดไม่ต้องกังวลเรื่องการควบคุมการปลูกกัญชา" เลขาธิการอย. กล่าว และว่า ส่วนการมุ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อยากแนะนำให้ไปทำเรื่องของกัญชง มากกว่ากัญชา เพราะเป็นพืชที่ไม่เสพติด เป็นน้องๆ เสพติดน้อย โอกาสลูกหลานของเราติดน้อยกว่า นี่ถึงจะเป็นการมองรอบด้านเลือกทิศทางที่มีประโยชน์สุดเกิดผลกระทบข้างเคียงกับสังคมน้อยสุด
สุดท้ายนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกว่า การปลูกกัญชาปัจจุบันมีอยู่ทุกจังหวัด ทุกตำบล หลังจากสังคมไทยผ่อนปรนเรื่องนี้ จึงอยากวิงวอนทำความเข้าใจ เปิดใจเรื่องกัญชาว่ามี 2 ด้าน และอยากให้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศต่อไป
"ผมมีเพื่อนนักการเมืองอยู่ทุกพรรค สู้เรื่องกัญชามา ช่วยไม่ได้บางพรรคล้ำหน้ากว่าผมเยอะ ผมและสภาเกษตรกรไม่เห็นด้วยเรื่องกัญชาเสรี เห็นด้วยใช้กัญชาทางการแพทย์ หรือเสพเพื่อสันทนาการก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เรื่องกัญชาเชื่อว่า จะเปลี่ยนแปลงใหญ่มากหลังการจัดตั้งรัฐบาล "