วุ่นวาย! ประธานศาลฎีกา ถามสังคมจะอยู่อย่างไร หากคนไทยไม่ยอมรับกติกา
"ชีพ จุลมนต์" ประธานศาลฎีกา เปิดความในใจบทบาทหน้าที่ศาล ชี้ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับใคร เป็นองค์กรตั้งรับ ไม่ได้ทำงานเชิงรุก ทำงานต่อเมื่อมีผู้นำคดีมาฟ้อง ระบุ ที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้แพ้คดี ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ความเป็นธรรม ยันไม่มีทางที่ศาลทำให้ชนะคดีทั้งสองฝ่ายได้
วันที่ 26 เม.ย. คณะผู้เข้ารับการอบรม ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 23 จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง "มองกัญชาให้รอบด้าน" ณ ห้อง อายัท อบาโลน คอนเวนชั่น ฮอลล์ ห้องบอลรูม 1 อาคารไทย ซี.ซี ชั้น 12 ถนนสาทรใต้
นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งถึงการดำเนินชีวิตในสังคมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับแพทย์และศาล โดยเฉพาะศาล ฝ่ายชนะคดีก็จะพึงพอใจได้รับความเป็นธรรม หากแพ้คดีก็จะบอกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือแม้แต่คนๆ เดียวกันเวลามาใช้บริการศาลชนะคดีก็ดีไป หากแพ้คดีก็จะพูดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้สังคมกังขาตลอด ซึ่งไม่ว่าศาลใดในโลก ความยุติธรรมคือความพึงพอใจ
"ศาลไม่ได้มีส่วนได้เสียกับใคร ศาลเป็นองค์กรตั้งรับเราไม่ได้ทำงานเชิงรุก ทำงานต่อเมื่อมีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาล เราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ความเป็นธรรม ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้แพ้คดี ดังนั้น เราไม่มีทางทำให้ชนะคดีทั้งสองฝ่ายไม่มีทางเป็นไปได้"
ประธานศาลฎีกา กล่าวทำความเข้าใจบทบาทของศาลต่อว่า ศาลโต้ตอบการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ต้องอดทน เพราะถึงพูดอย่างไรคนแพ้คดีก็ไม่มีทางเห็นด้วยกับเรา ฉะนั้นไม่มีประโยชน์ไปโต้ตอบหรือกลายเป็นคู่กรณี ศาลมีหน้าที่ชี้ขาดแพ้ชนะให้แก่คู่กรณีที่นำคดีขึ้นมาสู่ศาล
"ความเป็นผู้ใหญ่วัดกันที่ความอดทนเป็นสำคัญ จึงอยากให้แต่ละฝ่ายเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกันและกัน"
ช่วงท้าย นายชีพ กล่าวถึงปัญหาทุกวันนี้ คนไทยเราไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดการปกครองประเทศ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่องค์กรต่างๆ ไว้ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ศาล องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเขียนไว้ในกฎหมายหมด แต่คนไทย สังคมไทยเราไม่ยอมรับ องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เมื่อวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ถ้าไม่พอใจ คนไทยส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ ถามว่า สังคมเราจะอยู่ได้อย่างไร หากเราไม่ยอมรับ องค์กรที่มีหน้าที่ ตามที่กฎหมาบัญญัติไว้ ก็ต้องใช้กฎหมายเถื่อน ใช้ความป่าเถื่อน จะกลายเป็นใช้ความพึงพอใจส่วนตัว สังคมไม่สงบสุข ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวที่เป็น ทั่วโลกแม้ประเทศซึ่งอ้างว่า ศิวิไลซ์ ประเทศเจริญแล้ว หากไม่พอใจรัฐ ก็ออกมาก่อความวุ่นวายมากมาย
จึงอยากฝาก ถ้าเราไม่ยอมรับกติกา ไม่ว่ากติกาใดๆทั้งสิ้น ก็วุ่นวาย หากเราไม่เห็นด้วยกับกติกาก็ต้องแก้กติกาก่อน แต่เมื่อวินิจฉัยหรือตัดสินออกมาแล้ว ไม่มีทางพึงพอใจได้ทุกฝ่าย ยืนยันที่ไหนในโลกก็เป็นแบบนี้"
ที่มา:https://www.facebook.com/thaimedcouncil/videos/917597268571920/