สื่อโซเชียล ในภาวะวิกฤติ
การบริหารจัดการสื่อโซเชียลในยามวิกฤติจึงเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวและท้าทาย และการบริหารจัดการสื่อโซเชียลโดยวิธีปิดกั้นแบบเบ็ดเสร็จ จึงน่าจะเป็นวิธีที่หยาบเกินไปและอาจส่งผลในทางลบมากกว่าในทางบวก
การระเบิดต่อเนื่องที่โบสถ์คริสต์สามแห่งในสามเมืองของศรีลังการะหว่างที่ประชาชนกำลังร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในเทศกาลอีสเตอร์ ตามมาด้วยการระเบิดโรงแรมที่มีชื่อเสียงในกรุงโคลัมโบอีกสี่แห่ง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งหลังจากประเทศกลับสู่ความสงบจากสงครามกลางเมืองที่ยาวนานเมื่อหลายปีก่อน
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีการสูญเสียชีวิตของผู้คนทั้งชาวศรีลังกาเองและชาวต่างชาติมากถึง 360 คนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนในคราวเดียวกัน ทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในช่วงระยะเวลาหนึ่งและได้จับกุมผู้ต้องสงสัยได้หลายสิบคน แม้ว่ากลุ่ม ISIS จะออกมาประกาศในภายหลังว่า การระเบิดครั้งนี้เป็นผลงานของตัวเอง แต่การสืบสวนผู้ต้องสงสัยของรัฐบาลยังไม่ได้ข้อยุติ
สิ่งที่รัฐบาลศรีลังกาได้กระทำในทันทีหลังเหตุระเบิดคือการตัดสินใจปิดสื่อสังคมออนไลน์ทุกประเภททั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เป็นต้นว่า Facebook WhatsApp YouTube Snapchat Instagram และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆอีกจำนวนหนึ่งเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ ตามรายงานแจ้งว่า สื่อโซเชียลในศรีลังกาจะถูกปิดจนกว่าการสืบสวนจะได้ผลสรุป
สื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกปิดหลังจากเกิดเหตุระเบิด
ครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลศรีลังกาตัดสินใจปิดสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อปีที่แล้ว Facebook และสื่อโซเชียลอื่นๆก็ถูกปิดไปชั่วคราวหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงจากเหตุประท้วงต่อต้านศาสนาจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นกัน ความไม่ลงรอยกันระหว่างสื่อโซเชียลกับรัฐบาลศรีลังกาจึงคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา
เหตุผลที่รัฐบาลศรีลังกาต้องปิดสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมดเพราะเกรงว่า ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องรวมทั้งข้อความที่แสดงความเกลียดชัง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จะเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์บานปลายยิ่งขึ้น และการปิดสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตบางแห่งในคราวนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกาแต่เพียงฝ่ายเดียว จะถือว่าเป็นการ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมก็ว่าได้ เพราะโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นสื่อทำให้โซเชียลถูกมองจากรัฐบาลว่า อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤติ ทั้งๆที่ยังไม่มีสัญญาณหรือสิ่งบอกเหตุบนสื่อโซเชียลว่าอาจจะเกิดความรุนแรงใดๆตามมาก็ตาม
นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลของประชาชนที่ผ่านมา รวมทั้งคุณสมบัติของสื่อโซเชียลเอง ทำให้คนในรัฐบาลบางคนเห็นว่า สื่อโซเชียลไม่ใช่เครื่องมือที่เป็นประโยชน์หรือเป็นแค่สื่อที่คนเลวใช้รังแกคนดีด้วยข้อความอีกต่อไป แต่มองว่าสื่อโซเชียลกลายเป็นอาวุธประเภทหนึ่งที่ต้องกำจัดออกไปจากมือของผู้ก่อการร้ายในทันที
มุมมองจากภาครัฐต่อสื่อโซเชียลทั้งของประเทศศรีลังกาเองและหลายประเทศในลักษณะที่ไม่เป็นมิตร สะท้อนให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือต่อสื่อโซเชียลอย่างน้อยที่สุดสองประการคือ
- ความไม่น่าเชื่อถือต่อข้อมูล ข่าว ภาพ ข้อความต่างๆที่เผยแพร่มาจากผู้ใช้ เนื่องจากสื่อโซเชียลเป็นสื่อที่ ขาดการกลั่นกรองโดยรอบคอบ เป็นสื่อที่มีทั้งความจริงและความเท็จปนเปกัน รวมทั้งเต็มไปด้วยข้อความใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งอาจสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
- ความไม่น่าเชื่อถือต่อผู้ให้บริการสื่อโซเชียลเอง เนื่องจากเท่าที่ผ่านมาผู้ให้บริการสื่อโซเชียลรายใหญ่ๆของโลกยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อัลกอริทึมที่ตัวเองมีอยู่นั้น สามารถสกัดกั้น ข้อความและภาพที่ไม่พึงประสงค์ออกไปได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังไม่สนใจต่อคำพูดโกหก หลอกลวงและการสร้างความเกลียดชังบนสื่อมากเท่าที่ควร จึงเชื่อได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ยังมีความเสี่ยงต่อการบิดเบือนข่าวและอาจนำไปสู่ความตึงเครียดจนอาจส่งผลไปถึงความรุนแรงในทางหนึ่งทางใดได้เมื่อยามคับขัน
เหตุวิกฤติครั้งนี้ รัฐบาลศรีลังกาได้บริหารจัดการสื่อโซเชียลโดยเลือกใช้แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดและดำเนินการได้เร็วที่สุด นั่นคือ
- ตัดสินใจปิดสื่อโซเชียลโดยใช้อำนาจของรัฐบาลศรีลังกาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยผู้ให้บริการสื่อโซเชียลไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ซึ่งอาจถูกมองได้ว่าใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ให้บริการสื่อโซเชียล รวมทั้งผู้ใช้สื่อโซเชียลและถือเป็นการริดรอนเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและการติดต่อระหว่างประชาชนด้วยกันเอง
- เลือกใช้วิธีปิดสื่อโซเชียลทั้งหมดแทนการเลือกปิดเฉพาะราย กรณีนี้แม้ว่าจะดูเหมือนจะไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างเนื่องจากผู้คนไม่สามารถติดต่อกับผู้บาดเจ็บหรือญาติผู้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
การตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกาในการปิดสื่อโซเชียล แม้ว่าจะเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยชอบด้วยเหตุผล แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ถึงความจำเป็นและถือเป็นการบริหารจัดการสื่อโซเชียลยามวิกฤติโดยใช้วิธีปิดกั้นซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและเป็นทางเลือกที่รัฐบาลเห็นว่าน่าจะดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่มีข้อจำกัดและต้องการความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา
ในทางกลับกันการปิดสื่อโซเชียลอาจเกิดผลกระทบในทางตรงข้ามได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะการปิดกั้นสื่อนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนทำให้ไม่สามารถติดต่อกันได้ในวงกว้างจนอาจทำให้สังคมเกิดความโกลาหลแล้ว การเกิดสุญญากาศของข้อมูลข่าวสารอาจเร่งให้ผู้คนกระหายต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้แน่ใจว่าญาติพี่น้องของตัวเองปลอดภัยจากเหตุระเบิด ยิ่งอาจทวีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นไปอีกและสามารถนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน การปิดสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะนี้จึงเป็นวิธีที่มักไม่ได้ผล แม้ว่าจะเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไปก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพลังของสื่อโซเชียลทั้งในทางเป็นคุณและเป็นโทษ สื่อโซเชียลเคยถูกมองว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้าง การรับรู้ สร้างความเข้าใจ และทำให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดมานั้น กำลังถูกมองว่า เป็นอาวุธชนิดใหม่ในโลกดิจิทัล แสดงให้เห็นว่า ระดับความน่าเชื่อสื่อของโซเชียลนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นที่น่าพอใจและส่อไปในทางที่เป็นภัยในมุมมองของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องทำหน้าที่รักษากฎหมายในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติ มักจะเพ่งเล็งสื่อโซเชียลในทางที่เป็นภัยก่อนเสมอ
แม้ว่าการปิดสื่อโซเชียลอาจเป็นวิธีที่รัฐบาลศรีลังกาเลือกใช้เพื่อลดการลุกลามของวิกฤติ แต่ผลการศึกษาบางการศึกษาพบว่า การปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์นั้นอาจเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายไปอีกก็เป็นได้ การบริหารจัดการสื่อโซเชียลในยามวิกฤติจึงเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวและท้าทาย และ การบริหารจัดการสื่อโซเชียลโดยวิธีปิดกั้นแบบเบ็ดเสร็จ จึงน่าจะเป็นวิธีที่หยาบเกินไปและอาจส่งผลในทางลบมากกว่าในทางบวก
นักคิดด้านเทคโนโลยีมักเตือนสติต่อผู้ใช้เทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงสื่อโซเชียลอยู่เสมอว่า “ เทคโนโลยีจะมีความเป็นกลางก็ต่อเมื่อมันไม่ถูกใช้งานเท่านั้นและเมื่อใดที่เทคโนโลยีถูกใช้งาน ความเป็นกลางของมันก็จะหมดไปทันที ” และพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือและอาวุธของผู้ไม่ประสงค์ดีได้ตลอดเวลา