มีไฟลท์บิน...ไม่กลับ! ใช้รถตู้ส่ง-รับ "ไพร่หมื่นล้าน"
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นไฮไลท์มากที่สุดในช่วงนี้ จนกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ก็คือประเด็นการโอนหุ้นของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
เมื่อวันจันทร์ (22 เม.ย.) มีคำแถลงจากเลขาธิการพรรค อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ออกมาชี้แจงแทนหัวหน้า แต่ปรากฏว่า ยิ่งชี้แจงยิ่งเกิดคำถามใหม่ๆ ตามมาอีกมาก กระทั่งเมื่ออังคาร (23 เม.ย.) อาจารย์ปิยบุตรต้องนัดนักข่าวไปแถลงอีกรอบ
ถ้าย้อนกลับไปดูประเด็นที่สังคมยังตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากหลังคำชี้แจงของอาจารย์ปิยบุตรรอบแรก สรุปเป็นประเด็นง่ายๆ ดังนี้
1.ระยะเวลาเดินทางจาก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นายธนาธรไปหาเสียงและเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เมื่อวันที่ 8 ม.ค. แล้วอ้างว่าเดินทางโดยรถตู้กลับมาถึงด่านธัญบุรี บนทางพิเศษมอเตอร์เวย์ ใช้เวลาน้อยเกินไปหรือไม่
ประเด็นนี้ ถ้าฟังจากอาจารย์ปิยบุตรเมื่อวันจันทร์ บอกว่านายธนาธรร่วมเปิดตัวผู้สมัครและปราศรัยที่อำเภอสตึก จากนั้นก็กลับก่อนตอนบ่าย แล้วให้ตนเองเลี้ยงเวทีต่อ พอให้ข้อมูลแบบนี้ก็เลยเกิดคำถามว่า ทำไมขับรถได้เร็วเหลือเกิน ใช้คอปเตอร์ไม้ไผ่ หรือประตูไปไหนก็ได้ของโดเรม่อนหรือเปล่า เพราะถ้าเช็คกูเกิ้ลแม็พ ระยะทางจากอำเภอสตึก ถึงด่านธัญบุรี ราวๆ 402 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมงกว่าๆ ไม่ใช่ 2-3 ชั่วโมงตามที่มีการอ้างว่าออกจากบุรีรัมย์ก็ตอนบ่ายแล้ว
ต่อมาวันอังคาร อาจารย์ปิยบุตร จึงออกมาพูดใหม่ว่า ตนไม่ได้บอกแบบนั้น แต่บอกว่านายธนาธรน่ะกลับก่อน ส่วนตัวเองเลี้ยงเวทีจนถึงบ่าย ให้สื่อกลับไปฟังดีๆ อีกครั้ง (พอสื่อย้อนกลับไปฟัง ก็ชัดเจนว่าอาจารย์พูดว่าธนาธรกลับตอนบ่าย)
สำนักข่าวอิศราไปติดต่อสัมภาษณ์ผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ ของพรรคอนาคตใหม่ ได้รับคำยืนยันว่า นายธนาธรอยู่ที่เวทีถึง 10 โมงครึ่ง จากนั้นก็เดินทางกลับก่อน โดย อาจารย์ปิยบุตร ก็อยู่กับผู้สมัคร ทั้งกิจกรรมบนเวทีและขึ้นรถแห่ ผู้สมัครคนนี้บอกว่า อาจารย์ปิยบุตร อาจจะพูดสับสนเอง (อ่านประกอบ : ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ ยัน 8 ม.ค.'ธนาธร' เข้ากทม.10.30 น.- 'ปิยบุตร'แถลงใหม่กลับตอนสิบโมง)
ตรงนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายธนาธรและอาจารย์ปิยบุตรด้วยเหมือนกัน เพราะจากการสอบถามกับนักข่าวท้องถิ่นสังกัดอื่นที่บุรีรัมย์ ได้ความว่า วันนั้น (8 ม.ค.) ติดตามไปทำข่าวธนาธรที่อำเภอสตึก มีเปิดตัวผู้สมัครและมีเวที ธนาธรอยู่ด้วยในช่วงเช้า แต่พอราวๆ 11 โมง อาจารย์ปิยบุตรประกาศบนเวทีว่านายธนาธรขอกลับก่อน หลังจากนั้นก็ไม่เห็นนายธนาธรอีก จึงคาดว่านายธนาธร ออกจากอำเภอสตึก ช่วง 10.30 น. ถึง 11.00 น. ซึ่งหากเป็นแบบนี้ นับเวลาถึงด่านธัญบุรี ก็จะใช้เวลา 4 ชั่วโมงเศษ ก็ยังถือว่าเร็วอยู่ดี แต่ก็ยังพอมีความเป็นไปได้
แต่ข้อมูลใหม่ที่ผู้สมัครคนนี้พูดก็คือ พอหาเสียงเสร็จ อาจารย์ปิยบุตร ก็ขึ้นเครื่องกลับ (อ่านประกอบ : ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ ยัน 8 ม.ค.'ธนาธร' เข้ากทม.10.30 น.- 'ปิยบุตร'แถลงใหม่กลับตอนสิบโมง) ทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อกลับเครื่องบินได้ ทำไมนายธนาธรจึงเลือกกลับด้วยรถยนต์
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ไม่ได้ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง แต่ตั้งอยู่ที่อำเภอสตึก ห่างจากอำเภอเมือง 30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอำเภอที่นายธนาธร และอาจารย์ปิยบุตรไปหาเสียง จึงยิ่งน่าสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่กลับเครื่องบิน
เมื่อลองตรวจสอบตารางบินจากบุรีรัมย์ กลับกรุงเทพฯ คือสนามบินดอนเมือง พบว่า มีสายการบินที่ให้บริการ 2 สายการบิน คือ นกแอร์ กับแอร์เอเชีย มีเที่ยวบินบริการทั้งเช้าและบ่าย โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่คุณธนาธรเดินทางโดยรถยนต์ มีเที่ยวบินของแอร์เอเชีย ออกจากบุรีรัมย์ 13.50 น. ถึงกรุงเทพฯเวลา 14.45 น. ซึ่งน่าจะสะดวกสบายกว่าเดินทางโดยรถยนต์ และหากพลาดเที่ยวบินที่ว่านี้ ก็ยังมีเที่ยวบินช่วงเย็นและช่วงค่ำอีกด้วย
แต่เรื่องนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมเช่นกันว่า นายธนาธรและทีมงานอาจไม่ได้แพลนจองตั๋วไว้ก่อน หรืออาจมีอุปสรรคอย่างอื่น ทำให้ไม่ได้เดินทางโดยเครื่องบินเหมือนอาจารย์ปิยบุตร (แต่จะบอกว่ากลัวความสูง หรือกลัวเครื่องบินคงไม่ได้ เพราะวันถัดมานายธนาธรอ้างว่าขึ้นเครืองไปนครศรีธรรมราช) นี่คือข้อสังเกตและคำถามข้อแรกจากสังคมเท่านั้น
ข้อ 2.บัตรอีซี่พาสที่ใช้จ่ายด่านมอเตอร์เวย์ ไม่ใช่ของนายธนาธร แต่ปิดชื่อไว้โดยไม่มีเหตุผลว่าปิดทำไม
และข้อ 3 คำชี้แจงที่ว่า แม่ของนายธนาธร ในฐานะผู้รับโอนหุ้นจากนายธนาธร โอนหุ้นต่อไปให้หลาน 2 คนเพื่อติดตามทวงหนี้สูญ 11 ล้านบาทนั้น จริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็นต้องโอนหุ้น เพราะการติดตามหนี้ ใช้เพียงพนักงานบริษัท หรือจ้างบริษัทรับงานทวงหนี้ไปทำก็ได้ และทำได้ทันที ที่สำคัญยิ่งไม่มีความจำเป็นต้องโอนหุ้นกลับให้แม่ของนายธนาธรเพื่อเตรียมปิดกิจการตามที่มีการกล่าวอ้าง
นอกจากนั้นยังสำนักข่าวอิศรายังได้สัมภาษณ์หลาน 1 ใน 2 คนที่รับโอนหุ้น กลับพูดไปคนละทาง กลายเป็นว่ารับหุ้นไปเพื่อจะนำไปประกอบกิจการต่อ แต่พอเห็นว่าต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 7 ล้านบาท จึงขอคืนหุ้น ซึ่งไม่ตรงกับเหตุผลที่อาจารย์ปิยบุตรนำมาชี้แจง
จะว่าไป ข้อสงสัยบางข้อที่สังคมเมาท์มอยกัน ก็เป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะสาระหลักจริงๆ คือ กกต.ลงมติแล้วว่าข้อมูลกล่าวหามีมูลว่านายธนาธรส่อขาดคุณสมบัติการรับสมัคร ส.ส. และสั่งให้เจ้าตัวชี้แจงภายใน 7 วัน!
จริงๆ แล้วประเด็นชี้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายธนาธร คือการตีความว่าการโอนหุ้นให้มีผลจริงๆ ในทางกฎหมาย ยึดเอาวันใดเป็นหลัก ซึ่งมี 2 ธงคำตอบให้เลือก คือ
1. ยึดถือวันที่มีการโอนกันจริงตามที่นายธนาธรอ้าง คือ วันที่ 8 ม.ค.2562 (ถ้าเชื่อว่ามีการโอนกันจริง ไม่มีทำเอกสารย้อนหลัง)
หรือ 2. ยึดวันที่บริษัทแจ้งต่อนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็คือวันที่ 21 มีนาคม 2562 หลังจากสมัครรับเลือกตั้งไปแล้ว
ประเด็นนี้ อาจารย์ปิยบุตร อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า การโอนหุ้นมีผลตามกฎหมายทันทีที่โอน ไม่ต้องรอแจ้งนายทะเบียน จึงถือว่าในวันที่ 8 ม.ค.62 นายธนาธรไม่ได้ถือหุ้นแล้ว ส่วนการลงรายละเอียดในเล่มทะเบียน ซึ่งต้องแจ้งต่อนายทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ เป็นเพียงขั้นตอนทางธุรการ
คำถามคือ กฎหมายเขียนไว้แบบนั้นจริงหรือไม่?
กฎหมายที่อาจารย์ปิยบุตรอ้างถึง และต้องถูกนำมาตีความในเรื่องนี้ก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 สรุปสาระสำคัญ 3 ข้อด้วยกันคือ
1.หุ้นนั้นโอนกันได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท (ยกเว้นมีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น)
2.การโอนหุ้น ให้ทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยาน 1 คนเป็นอย่างน้อย พร้อมระบุหมายเลขหุ้นที่โอนกันนั้นด้วย ทำแค่นี้ จ่ายเงินชำระค่าหุ้นกัน การโอนหุ้นก็สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
และ 3.ถือเป็นประเด็นสำคัญ มีการระบุในวรรค 3 ของกฎหมายว่า การโอนหุ้นแบบในข้อ 2 จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งหมายถึงสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่บริษัท และแจ้งต่อนายทะเบียน กระทรวงพาณิชย์
พูดง่ายๆ ก็คือ การโอนหุ้น แค่ทำเป็นหนังสือ ลงชื่อ มีพยาน ก็มีผลสมบูรณ์ แต่จะเอาไปยันกับคนภายนอกได้ ต้องแจ้งต่อนายทะเบียน
ปัญหาที่ต้องรอฟังคำวินิจฉัยก็คือ กกต.หรือศาล จะยึดเอาวันโอนหุ้น 8 ม.ค.62 ว่ามีผลแล้ว ถือว่านายธนาธรไม่ได้ถือหุ้นแล้วในเชิงพฤตินัย (ตามที่อาจารย์ปิยบุตรพยายามชี้แจงกับสังคม) หรือจะยึดเอาวันแจ้งนายทะเบียน เพราะงานนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติการลงสมัคร ส.ส. ถ้าไม่ยึดตามที่แจ้งนายทะเบียน กกต.จะทราบได้อย่างไร และมีหลักฐานอะไรมายืนยัน
งานนี้ทั้งกองเชียร์ กองแช่ง คงต้องรอลุ้นผลไปพร้อมกัน!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : ปกรณ์ พึ่งเนตร
หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และคมชัดลึกด้วย
ขอบคุณ :
1 ภาพ ธนาธร จากคลิปที่โพสต์ในโซเชียลมีเดีย
2 ภาพสนามบินและตารางบิน จากเฟซบุ๊คท่าอากาศยานบุรีรัมย์