9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
“…เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ บอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ฯดังกล่าว กับบริษัท Hopewell Holding Ltd. (HONG KONG) ตามสัญญาข้อที่ 27 และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามแผนรองรับเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาในทางเลือกต่าง ๆ รวม 5 ทางเลือก ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วยว่า ควรปรับลดขนาดของโครงการให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ควรมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ไขปัญหาจราจรเป็นหลัก…”
หลายคนคงทราบแล้วว่า ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับ ยกคำร้องกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผลให้ต้องชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญาแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินรวมราว 1.2 หมื่นล้านบาท จากกรณีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ (อ่านประกอบ : ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์)
ความคืบหน้าขณะนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 ที่ผ่ามา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเรียกผู้บริหารและฝ่ายอนาบาล (กฎหมาย) รฟท. รายงานข้อมูลเบื้องต้นจากกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเสนอแนวทางที่จะดำเนินการอย่างชัดเจน แต่อาจเจรจาขอจ่ายในรูปแบบผ่อนชำระ (อ้างอิงข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานให้ทราบแล้วว่า สถานะปัจจุบันของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนอยู่ 1.5 หมื่นล้านบาท รายได้ล่าสุดปี 2560 ขาดทุนสุทธิกว่า 44 ล้านบาท ปรากฎชื่อกรรมการ 4 ราย ได้แก่ นายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ นายเฮนรี่ โคลิน เวียร์ นายโยธิน บุญดีเจริญ และ น.ส.วิชชุดา ศรีรัตนประภาส
โดยในรายของนายอนุศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ถูกสื่อมวลชนหลายสำนักระบุตรงกันว่า เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยมีความสนิทสนมกับนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ส่วนตัวละครสำคัญอีก 2 ราย คือ นายมนตรี พงษ์พานิช ผู้บุกเบิกโครงการนี้ เมื่อครั้งเป็น รมว.คมนาคม ในปี 2532 ร่วมกับนายกอร์ดอน หวู่ เจ้าของเครือบริษัทโฮปเวลล์ จากฮ่องกง (อ่านประกอบ : เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?)
โครงการนี้ใช้วงเงินราว 80,000 ล้านบาท เริ่มต้นขึ้นในปี 2532 จบลงในปี 2541 เป็นเวลาราว 9 ปี ผ่านการทำหน้าที่ของ รมว.คมนาคม ถึง 6 คน ใน 6 รัฐบาล (5 รัฐบาลเลือกตั้ง 1 รัฐบาลรัฐประหาร) ก่อนที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2) มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น รมว.คมนาคม บอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค. 2541
เพื่อให้สาธารณชนทราบที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ริเริ่มโครงการ กระทั่งสิ้นสุดโครงการมานำเสนอ ดังนี้
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าว มีการระบุเป็นแค่ข้อความเอาไว้ ไม่ได้เผยแพร่เอกสารสาธารณะบนเว็บไซต์
@ช่วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย-นายมนตรี เป็น รมว.คมนาคม
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2532 คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม. ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยเน้นย้ำว่าให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแผนงาน และโครงการต่าง ๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับใน กทม. รวม 3 ตอน โดยให้กระทรวงคมนาคมไปดำเนินการให้มีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับโดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2533 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมรายงาน การเจรจาของบริษัท Hopewell Holding Ltd. จะทำการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ เป็นระยะทาง 63.3 กิโลเมตร โดยจะมีการบริการรถไฟชุมชนพิเศษ หัวลำโพง-ดอนเมือง ซึ่งในการนี้ การรถไฟจะจัดสรรที่ดิน 80 ไร่ บริเวณบางซื่อ และ 80 ไร่ บริเวณมักกะสัน และบริษัท Hopewell จะได้รับสิทธิในการจัดประโยชน์ที่ดินสถานีรถไฟและย่านหัวลำโพง ประมาณ 132 ไร่ และบริษัท Hopewell จะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม. โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ ตามผลการเจรจากับบริษัท Hopewell Holding Ltd. (HONG KONG) โดยให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจในการลงนามในสัญญาสัมปทานที่กรมอัยการตรวจแก้ไขแล้วแทนรัฐบาล และให้บริษัท Hopewell ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ และให้ยกเว้นการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมของเงินกู้ระยะยาวที่ บริษัท Hopewell จะต้องชำระให้แก่สถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาและประสานงานต่อไป
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่องการพิจารณาร่างสัญญาของกรมอัยการ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานของกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการก่อสร้างสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขต กทม. และการใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟท. ให้กรมอัยการปรับปรุงแก้ไขร่างสัญญากับบริษัท Hopewell Holding Ltd. (HONG KONG) แล้วกระทรวงการคลัง และ รฟท. จึงได้ลงนามในร่างสัญญาในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐบาล และบริษัท Hopewell ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายเอกชน
วันเดียวกับคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ รมว.คมนาคม ถอนเรื่องขอให้ยกเว้นการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมของเงินกู้ยืมที่บริษัท Hopewell จะต้องชำระให้สถาบันการเงินในต่างประเทศ (โครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ)
หลังจากนั้นเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในช่วงเดือน ก.พ. 2534
@คณะรัฐมนตรีนายอานันท์ ปันยารชุน-นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติว่า โดยที่ข้อเสนอของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงปรากฏขึ้นใหม่ จึงให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. เจรจากับบริษัทขอขยายเวลาวันที่สัญญามีผลบังคับออกไปจนถึงวันที่ 8 ธ.ค. 2534
ในระหว่างนี้ให้กระทรวงการคลัง พิจารณาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ ทั้งแง่นโยบายและกฎหมายของการเลื่อนเวลาการชำระภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศ โดยให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. พิจารณาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ทั้งในแงนโยบายและกฎหมายของการเลื่อนเวลาการชำระเงิน ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ รฟท. แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบภายในวันที่ 8 ธ.ค. 2534
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้กระทรวงการคลังรับเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้ยกเว้นการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมของเงินกู้ระยะยาวที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะต้องชำระให้แก่สถาบันการเงินในต่างประเทศไปพิจารณา ตามที่ รมว.คลัง เสนอ และให้กระทรวงคมนาคม ในฐานะคู่สัญญาแจ้งให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทราบความเห็นของ รฟท.
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2534 คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคม รับข้อสังเกตของ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายไพจิตร เอื้อทวีกุล) เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปพิจารณาให้รอบคอบและรัดกุม เพื่อให้โครงการดำเนินการไปด้วยดี โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุดตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
(ภาพนายมนตรี พงษ์พานิช กับนายกอร์ดอน หวู่ ในการเซ็นสัญญาลงนามก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์)
@รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (1)-พ.อ.วินัย สมพงษ์ เป็น รมว.คมนาคม
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2536 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเร่งดำเนินงานตามโครงการสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในเขต กทม. และการใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟท. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 256 พ.อ.วินัย รมว.คมนาคม ได้ตอบกระทู้ถามของนายวิชัย โถสุวรรณจินดา ส.ว. (ขณะนั้น) กรณีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับดังกล่าวกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย พ.อ.วินัย ตอบว่า โครงการนี้ควรจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 25354 และแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ธ.ค. 2542 อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจะต้องมีการสำรวจและออกแบบก่อนลงมือก่อสร้างซึ่งปกติโดยทั่วไป งานสำรวจและออกแบบสำหรับโครงการนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 18-24 เดือน และในเวลาประมาณ 14 เดือนที่ผ่านมานั้น บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้เตรียมการก่อสร้างไปส่วนหนึ่งแล้ว
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในเขต กทม. และการใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟท. ตามที่ รมว.คมนาคม เสนอ และตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอำนวย วีรวรรณ) เสนอเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการเจรจา พร้อมกับปัญหาและอุปสรรค เกี่ยวกับโครงการสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในเขต กทม. และการใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟท. โดยให้คงถือปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเดิมที่ลงนามไปแล้ว
@คณะรัฐมนตรีนายบรรหาร ศิลปอาชา-นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น รมว.คมนาคม
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2539 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการระบบขนส่งทางรถไฟ และทางยกระดับใน กทม. (โฮปเวลล์) ตามที่ รฟท. เสนอ และที่ รมว.กลาโหม (พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท) เสนอเพิ่มเติม โดยให้ รฟท. ตรวจสอบด้วยว่า การเจาะเสาเข็มฐานรากในโครงการก่อสร้างของบริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้ดำเนินการเป็นไปตามสัมปทานหรือไม่ และจำนวนเสาเข็มฐานรากที่ได้ก่อสร้างไปแล้ว มีความสามารถรับน้ำหนักได้ในระดับที่ให้ความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ แล้วรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบในการรายงานความก้าวหน้าโครงการครั้งต่อไปด้วย
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2539 คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ฯ ตามที่ รฟท. เสนอ โดยแจ้งให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ เร่งรัดดำเนินการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และเริ่มงานออกแบบก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าในโครงการ และเริ่มงานก่อสร้างระบบอุปกรณ์การยกเลื่อน แบบหล่อ และงานด้านระบบการผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างสำเร็จรูปที่ย่านบางซื่อ
ในกรณีที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างหรือจ้างเหมาช่วง ให้เสนอตัวสัญญาที่ลงนามแล้ว และเสนอแผนการเงิน รวมทั้งหลักฐานสัญญากู้เงินจากสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนโครงการ โดยให้เสนอตัวสัญญาที่ลงนามแล้ว มิใช่เพียง Letter o Intert หรือเอกสารร่างสัญญาที่ยังไม่ชัดเจนแน่นอน แล้วส่งมอบให้ รฟท. ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ หากพ้นกำหนดเวลา บริษัท โฮปเวลล์ฯ ไม่สามารถดำเนินการและส่งมอบเอกสารหลักฐานได้ครบถ้วน ก็ให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อสัญญาโดยเคร่งครัดต่อไป
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2539 (ครบ 90 วัน) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการดำเนินการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ฯ ตามที่ รฟท. เสนอ และเนื่องจากการดำเนินงานตามโครงการยังมีผลการดำเนินงานที่ช้ากว่าเป้าหมาย และไม่คืบหน้า จึงให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานเพื่อให้เป็นรูปธรรมแล้ว รายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบพร้อมเอกสารประกอบในอีก 90 วัน
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2539 (ครบ 90 วัน) คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ฯ ตามที่ รมว.คมนาคม และผู้ว่า รฟท. เสนอ และให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ แล้วรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมเอกสารประกอบในอีก 90 วัน
@รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ-นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.คมนาคม
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่นายสราวุธ ธรรมศิริ ผู้ว่า รฟท. ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับความก้าวหน้าโครงการโฮปเวลล์ฯ ซึ่งผลงานก่อสร้างทั้งระบบยังต่ำกว่าแผนงานมาก อย่างไรก็ตามบริษัท โฮปเวลล์ฯ ยืนยันว่า การก่อสร้างทางรถไฟยกระดับจากรังสิตถึงหัวหมาก จะแล้วเสร็จก่อนการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ในปี 2541 อย่างแน่นอน
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโครงการโฮปเวลล์ฯ ตามผลการเจรจาระหว่างคณะกรรมการประสานงานเพื่อกำกับ ดูแล และติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามข้อ 5.1 ของสัญญาสัมปทานกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ให้กระทรวงคมนาคมจัดทำร่างสัญญาส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจพิจารณาโดยด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ให้รายงานคณะรัฐมนตรีทราบด้วย กับให้กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินในสังกัดกระทรวงการคลังให้การสนับสนุนด้านเงินกู้สำหรับโครงการนี้ ในวงเงิน 2,500 ล้านบาท ในเชิงพาณิชย์ ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้โดยพิจารณากำหนดวิธีการที่เหมาะสม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือ และเร่งรัดดำเนินการต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ บอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ฯดังกล่าว กับบริษัท Hopewell Holding Ltd. (HONG KONG) ตามสัญญาข้อที่ 27 และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามแผนรองรับเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาในทางเลือกต่าง ๆ รวม 5 ทางเลือก ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วยว่า ควรปรับลดขนาดของโครงการให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ควรมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ไขปัญหาจราจรเป็นหลัก
(ภาพโครงการโฮปเวลล์ฯ เมื่อปี 2543 หลังยกเลิกสัมปทานไปแล้ว ภาพจาก บีบีซีไทย/GETTY IMAGE)
@รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2)-นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคม
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ฯ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สำหรับการก่อสร้างถนน (Local Roads) ตามแนวเส้นทางรถไฟจากรังสิต-หัวหมาก ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นโครงการเร่งด่วนตามแผนระยะสั้นของกระทรวงคมนาคม ให้สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก รับไปพิจารณา แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่งโดยด่วน
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 เรื่องโครงการโฮปเวลล์ฯ โดยเห็นชอบการบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2541 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการก่อสร้างถนน Local Roads ส่วนโครงการโฮปเวลล์ฯ เป็นโครงการข่ายหลักของแผ่นแม่บทระบบขนส่งมวลชนใน กทม. และปริมณฑล เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาสัมปทานแล้ว สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงต่อไป
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ฯ การก่อสร้างถนน Local Roads และแผนรองรับเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
วันเดียวกันได้เห็นชอบหลักการให้ทำการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรมของโครงการทางรถไฟยกระดับใน กทม. โดยให้กระทรวงการคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมกาจัดระบบการจราจรทางบก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของโครงการว่า สมควรจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ในสภาวะปัจจุบัน การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ และการให้บริษัทที่ปรึกษาอิสระซึ่งเป็นกลาง เป็นผู้ทำการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรมของโครงการ เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2542 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินการโครงการรถไฟยกระดับใน กทม. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการศึกษา ความเหมาะสมของโครงการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยที่กระทรวงคมนาคมควบคุมวงเงินค่าจ้างให้อยู่ภายในวงเงินที่ได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินให้เปล่าจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสถาบันสินเชื่อเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งเยอรมนี (KFW) ในวเงินไม่เกิน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 55 ล้านบาท) เพื่อช่วยลดภาระด้านงบประมาณให้แก่รัฐทางหนึ่ง แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ให้พิจารณาเจียดจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2542 โครงการชำระหนี้เงินกู้สำหรับก่อสร้างทางคู่ที่คาดว่าจะเหลือจ่ายมาดำเนินการ โดยให้ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป
นี่คือข้อมูลทั้งหมดในส่วนของคณะรัฐมนตรี และตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการสัมปทานรถไฟยกระดับ ที่รัฐบาลเซ็นสัญญากับบริษัทเครือโฮปเวลล์ในการก่อสร้าง นับตั้งแต่การริเริ่มโครงการเมื่อปี 2532 จนถึงบทสรุปยกเลิกสัมปทานช่วงปลายปี 2541 เป็นระยะเวลาราว 9 ปี
ท้ายที่สุดรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในการชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท คงต้องติดตามกันต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ศาล ปค.สูงสุดพิพากษากลับสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.คดีโฮปเวลล์
ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.