การตรวจสอบข่าวปลอม
"...ข่าวปลอมเป็นปัญหาร่วมกันของหลาย ๆ คน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะคนไทยแต่เป็นปัญหาร่วมกับคนทั้งโลก เพราะมีการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารได้เร็ว กลายเป็นปัญหาหลักของคนทั้งโลก และวิธีการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้มากที่สุดคือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของ การรู้เท่าทันสื่อ กับประชาชนทุกระดับตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ รวมถึงสื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเรื่องของการกรองข้อมูลที่นำเสนอแก่ผู้บริโภค..."
การพัฒนาเทคโนโลยีของโลกอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดสื่อสังคมออนไลน์ มีการสร้างข้อมูลข่าวสาร การรับรู้ การส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลเป็นไปอย่างง่าย สะดวกและรวดเร็ว มีทั้งรูปแบบของข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวีดีโอ หากข้อมูลเหล่านั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ข่าวปลอม” (Fake news) หรือ “ข่าวลวง” และมีการส่งต่อกันในวงกว้าง ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก จนสร้างผลกระทบต่อบุคคลในข่าวหรือผู้เกี่ยวข้อง ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาข่าวปลอมที่มีการเผยแพร่อย่างต่อเนื่องในโลกออนไลน์ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสื่อกระแสหลักที่ถูกเหมารวมไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคข่าวสารที่ต้องการความรวดเร็ว ประกอบกับมีการขยายตัวของสื่อภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังพบว่ามีการผลิตเนื้อหาข่าวที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม และมาตรฐานของสื่อมวลชน ทำให้เกิดการแชร์ข่าวปลอมผ่านช่องทางของโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม เป็นต้น
ข่าวปลอม หมายถึง ข่าวที่มีข้อมูลไม่เป็นจริง อาจปลอมบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น ข่าวที่ปลอมเนื้อหา รูปภาพ ทั้งนี้การเผยแพร่ของข่าวปลอม มี 2 รูปแบบ คือ การเผยแพร่ข่าวปลอมที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือส่งต่อข้อมูลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเผยแพร่ข่าวปลอมโดยมีผลประโยชน์ เช่น เพื่อสร้างรายได้จากการโฆษณา เพื่อต้องการสร้างความเสียหายให้กับคู่แข่ง ฝ่ายตรงข้ามทั้งด้านการเมืองหรือการแข่งขันด้านธุรกิจ
การเผยแพร่ข่าวปลอมพบเห็นในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาพบมีข่าวปลอมใน ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 เมื่อค้นหาข้อมูลการเลือกตั้งผ่าน Google ระบบนำผู้ใช้ไปที่เว็บไซต์ที่บอกว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งและได้เสียงมหาชน หรือ popular vote มากกว่า “นางฮิลลารี คลินตั้น” ซึ่งข้อเท็จจริง เป็นผลการชนะในส่วนของ electoral vote หรือเสียงคณะผู้เลือกตั้งที่เป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐอเมริกาเท่านั้น กรณีประเทศอินเดีย เดือนมิถุนายนในปี 2561 เกิดเหตุการณ์ที่คนในชุมชนเชื่อข่าวปลอมที่เผยแพร่บน “whatsapp” เกี่ยวกับนักค้ามนุษย์ที่ลักพาตัวเด็ก ระบุถึงชื่อ นิโลตพัส ดาส และอาพิจีต นาธ ทำให้คนในหมู่บ้านหลงเชื่อและมีการรวมตัวกันเป็นศาลเตี้ยเพื่อลงโทษผู้บริสุทธิ์ทั้งสอง กลายเป็นเกิดการก่อเหตุฆาตกรรมที่เกิดจากข่าวปลอม
ในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวปลอมในประเทศไทย และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก บางครั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความอ่อนไหวและไม่ใช่เรื่องจริง หรืออาจเป็นเรื่องจริงในวันพรุ่งนี้ ส่วนช่องทางการเผยแพร่ข่าวปลอมในไทยมักใช้เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ และไลน์ เป็นต้น มีรูปแบบตั้งแต่การสร้างเว็บไซต์ปลอมและการเลียนแบบเว็บไซต์สำนักข่าชื่อดัง รวมถึงการสร้างเพจเลียนแบบเพจของสำนักข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเผยแพร่ของข่าวปลอมได้สร้างผลกระทบต่อสังคมและองค์กรวิชาชีพ โดยเฉพาะกรณีสื่อมวลชนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวปลอมต่อโดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลก่อน เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหาย ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่ออย่างชัดเจน
กองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ จะต้องตรวจสอบข่าวปลอมทุกครั้ง โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้อันดับแรก จะต้องตรวจสอบที่มาของแหล่งข้อมูล เช่นตรวจสอบไปที่ไปบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นต้นตอของข่าว ตรวจสอบโดเมนของเว็บไซต์หรือลิงก์ข้อมูลที่เผยแพร่ข่าว รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานข่าวภายในองค์กร เช่น กองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ และกองบรรณาธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ที่อยู่สำนักเดียวกัน
ข้อสอง ตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน การตรวจสอบข้อมูลไปยังผู้เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นข่าวเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หรือตรวจสอบข้อมูลจากนักวิชาการ เพราะข้อมูลบางประเภทต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการอธิบายสาเหตุและผลของเรื่องนั้น ๆ เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลด้านวิศวกรรม เป็นต้น รวมถึงการมอนิเตอร์ข่าว เปรียบเทียบการเสนอข่าวจากสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อ
ข้อสาม การใช้เครื่องมือเข้ามาตรวจเช็คข้อมูล การสืบค้นข้อมูลจากระบบนิวเซนเตอร์ซึ่งเป็นบริการข่าวที่ครอบคลุมแหล่งข่าวและข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ครบทั้งสื่อสิงพิมพ์ สื่อออนไลน์และข้อมูลเสริมจากสถาบันชั้นนำ สามารถสืบค้นข้อมูลทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รองรับการสืบค้นข้อมูลย้อนหลัง พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ควรมีการตรวจเช็คภาพข่าว ซึ่งภาพมีความสำคัญและมีการปลอมแปลงได้ง่าย เช่นการสร้างข่าวปลอม โดยนำภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มาสร้างข่าวให้คนสนใจเพื่อให้คลิกเข้าไปอ่าน บางครั้งมีการภาพเก่ามาบรรยายใหม่ การตรวจเช็คข้อมูลภาพมีเครื่องมือให้ช่วยตรวจเช็คเปรียบเทียบ เช่น ระบบของ Google Image, Yendex Image และ Baidu Image เป็นต้น ซึ่งระบบเหล่านี้ รองรับการตรวจเช็คคลิปวีดีโอ เพียงแต่ต้องแปลงวีดีโอเป็นภาพนิ่งแล้วนำภาพส่วนที่มีความสำคัญ นำไปค้นในระบบดังกล่าวต้น หรือตรวจสอบที่มาของวีดีโอด้วย Invid ซึ่งเป็นระบบให้ใช้ฟรี
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาและการป้องกันการเผยแพร่ของข่าวปลอม ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรวิชาชีพสื่อ ต้องเพิ่มมาตรฐานตรวจเช็คข้อมูลข่าวและตรวจสอบข่าวทุกครั้งก่อนนำเสนอเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ ด้านหน่วยงานภาครัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนผู้บริโภคสื่อ
ปัจจุบันแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน มีการบรรจุวาระเกี่ยวกับ “การเรียนรู้เท่าทันสื่อ” ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษาระดับมัยธมศึกษาตอนปลายหรือเป็นวิชาพื้นฐานระดับอุดมศึกษา ในขณะที่ผู้บริโภคสื่อก็จะต้องวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลข่าวสาร ความน่าเชื่อถือของข้อมูล เรียนรู้เท่าทันสื่อ ก่อนที่จะมีการแชร์หรือส่ง เช่น โครงการชัวร์แล้วแชร์โดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และโครงการชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท.
นอกจากนี้ เจ้าของแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล ก็ได้ตระหนักถึงผลกระทบของการเผยแพร่ข่าวปลอมบนแพลตฟอร์ม จึงวางแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเช่น ปรับฟีเจอร์ให้ผู้ใช้รายงานว่าเนื้อหาบนเฟซบุ๊กชิ้นไหนเป็นข่าวปลอมและร่วมมือกับองค์กรที่มีชื่อเสียงด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่น Sonpes.com, Factcheck.org และ Politifact เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อหาไหนที่อาจเข้าข่ายเป็นข่าวปลอมส่วนกูเกิล Google ได้ปรับแก้ระบบค้นหาข้อมูลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายข่าวปลอมในโลกออนไลน์ และเขียนโปรแกรมเพื่อลดโอกาสที่ข่าวปลอมจะเผยแพร่ในวงกว้าง เพิ่มเครื่องมือที่ช่วยเรื่องสืบค้น “Autocomplete” ซึ่งระบบจะกำจัดการเติมข้อความที่จะนำไปสู่ผลการค้นหาข้อมูลในเชิงลบ
ข่าวปลอมเป็นปัญหาร่วมกันของหลาย ๆ คน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะคนไทยแต่เป็นปัญหาร่วมกับคนทั้งโลก เพราะมีการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารได้เร็ว กลายเป็นปัญหาหลักของคนทั้งโลก และวิธีการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้มากที่สุดคือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของ การรู้เท่าทันสื่อ กับประชาชนทุกระดับตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ รวมถึงสื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเรื่องของการกรองข้อมูลที่นำเสนอแก่ผู้บริโภค
คุณพิกุล จันทวิชญสุทธิ์
บรรณาธิการข่าวสังคม บ้านเมืองออนไลน์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://prachatai.com